นักกีฬาที่ดี

วันนี้เทรนนักวิ่งแนวหน้าคนหนึ่ง พอดีว่าช่วงนี้เป็นช่วง off season คือยังไม่ใช่ช่วงที่ต้องเข้าตารางซ้อม ก็เลยมีเวลาคุยกัน ลองเทคนิคการซ้อมใหม่

นักวิ่งคนนี้ไม่ได้สักแต่วิ่ง นักวิ่งคนนี้เข้าใจว่าช่วง off season เนี่ยไม่ใช่เป็นช่วงนอนตีพุงหายตัวไปเที่ยว แต่เป็นช่วงที่ใช้แก้ไขปรับปรุง เพิ่มความแข็งแกร่งในส่วนที่อ่อนแอ

ถูกสอนมาว่า ความเป็นโค้ชไม่ได้จบลงเมื่อนักกีฬาชนะหรือเข้าเส้นชัยแล้ว มีค่ะคนที่เห็นความสำคัญของโค้ชว่ามีเท่านั้น แต่นักกีฬาที่มีความเป็นนักกีฬาอยู่ในเนื้อ จะให้ความสำคัญกับกีฬามากพอที่ใช้เวลาศึกษาและปรับปรุงตัว โค้ชไม่ว่าจะเป็นกีฬาประเภทใดก็ตาม จะมีหน้าที่ใช้ความรู้เชิงทฤษฎีช่วยนักกีฬาให้มีพัฒนาการขึ้นไปเรื่อยๆ

โค้ชที่ดีจะช่วยให้นักกีฬาสามารถไขว่คว้าเป้าหมายที่นักกีฬาไม่สามารถจะคิดทำได้ด้วยตัวเอง

คนทุกคนแหละค่ะ มองตัวเองไม่ค่อยออกหรอก มันใกล้ไป มันชัดไป ก็ต้องมีใครคนนึงที่มีความรู้ในการกีฬาคอยแนะนำ

เคยสงสัยกันบ้างรึเปล่าคะว่า ทำไมนักกีฬา (โดยเฉพาะพวกทีมชาติทั้งหลาย) ต้องมาฟังโค้ชที่ดูท่าทางไม่ได้มีอะไรดีเด่นเทียบเท่าได้เลย พวกนักกีฬาเหล่านั้นยังเหลืออะไรที่ต้องเรียนรู้อีกหรอ ทำไมนักวิ่งเร็วอย่าง Usain Bolt ต้องมีโค้ชด้วย ใครจะวิ่งเร็วไปกว่า Bolt อีก แล้วเค้าเอาอะไรมาเทรนคนที่วิ่งเร็วที่สุดในโลก

Bolt ซะอีกสิควรจะเป็นโค้ชซะเอง ไม่ใช่มาฟังคนอื่นเนอะ

เมื่อไม่นานมานี้ได้ฟัง Bolt กล่าวขอบคุณโค้ชของเค้า,Glen Mills, ว่า

‘Mills เป็นคนที่ตัดสินใจ เป็นคนที่ชี้ทางสว่างในอาชีพการวิ่งของผม เป็นคนที่ชี้ทางให้ผมพัฒนาตนเองทั้งในอาชีพนักกีฬา และความเป็นคนๆหนึ่งในโลก ผมเป็นเพียงขา ส่วน Millsคือสมองและพลังทั้งหมด’

คำพูดประโยคนี้บอกอะไรเราได้หลายอย่าง นอกเหนือจากบอกว่า Glen Mills เป็นโค้ชที่ดี และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับ Usain Bolt แล้ว

ประโยคนี้ยังบอกเราอีกว่า Usain Bolt เป็นนักกีฬาที่มีน้ำใจนักกีฬา เค้าเป็นนักวิ่งแนวหน้า ที่สุดแล้วของกีฬาการวิ่งยุคนี้ แต่เค้ามองเห็นถึงภาพรวม มองเห็นถึงความสำคัญของเครื่องจักรกล กลไกที่เอื้ออำนวยให้เค้าสามารถใช้พรสวรรค์ได้อย่างถูกช่องทางและได้ประโยชน์สูงสุด

แน่นอนว่านักกีฬาชั้นแนวหน้า ส่วนหนึ่งก็คงจะมีพรสวรรค์อยู่พอสมควร แต่โค้ชที่ดีคือผู้ทำหน้าที่เปรียบเสมือนกระจกสะท้อนตัวตนของนักกีฬาได้ ทำให้เกิดการตระหนักรู้ ค้นพบตนเอง และก้าวข้ามพ้นกับดักของตนเองไปได้

โค้ชที่ดีไม่จำเป็นต้องเป็นคนเก่งที่สุด มีความรู้มากที่สุด มีประสบการณ์มากที่สุด หรือรู้เรื่องนั้นๆดีที่สุด แต่โค้ชที่ดีคือ ผู้รู้จักวางความรู้ มองโจทย์ออก แก้โจทย์เป็น ที่สำคัญไปกว่านั้น ต้องมีความสนใจในตัวนักกีฬาคนนั้น ทั้งในเรื่องกีฬา และเรื่องนิสัย จิตใจและตัวตนที่แท้จริง ผ่านการถาม การฟัง การสังเกต

คนเราดูนิสัยได้จากการเทรนนะคะ ดูดีดี นิสัยเป็นคนยังไง ออกมาหมดแหละค่ะ

ตอนเรียนจำได้ครูฝรั่งเล่าว่า คุณจะรู้ว่าคุณประสพความสำเร็จในการโค้ชคนๆนึง ก็ต่อเมื่อคุณรู้จักร่างกายของคนคนนั้นมากกว่าตัวเค้าเอง

และจะทำอย่างนั้นได้ต้องรู้จักฟัง และฟังให้เป็น ที่สำคัญคือสามารถโน้มน้าว ให้กำลังใจนักกีฬาให้เชื่อมั่นในตัวเองพอที่จะทำตามตารางเทรนที่เราเห็นว่าเหมาะสมได้

พูดถึงตารางเทรนแล้วก็อยากจะเขียนเรื่องตารางที่เราหาได้ทางอินเตอร์เน็ต นั่นควรจะใช้เป็น guideline เป็นแค่แนวทางหลวมๆนะคะ บางคนทำตามแล้วทำไม่ได้ บางคนทำตามแล้วเจ็บ เพราะร่างกายเราต่างกัน เมื่อเจ็บเราก็ท้อ ก็ผิดหวัง

นี่คือความเสี่ยงในเวลาที่ใช้ตารางที่ไม่เหมาะกับตัวเอง ตารางเหล่านั้นไม่ได้มีการคำนวนค่าความฟิต ความพร้อม (ทั้งร่างกายและจิตใจ) ของนักกีฬาเข้าไปด้วย

กลับมาที่นักวิ่งที่เทรนอยู่คนนี้

เป็นนักวิ่งที่ว่าง่าย ไม่ดื้อ และใฝ่รู้ อยากรู้ว่าให้ทำอะไรไปเพื่ออะไร เมื่อไปลองเทรนตามที่บอกแล้วก็มาส่งการบ้าน และวิเคราะห์ด้วยกัน บอกว่าชอบอะไร ไม่ชอบอะไร คาดหวังในตัวเองแค่ไหนในปีนี้ มี goal ที่ชัดเจน

คนเราจะออกกำลังกายต้องมีgoal นะคะ เคยเขียนไปแล้วล่ะ เขียนยาวด้วย หาเอานะคะ goal เนี่ยควรจะมีทั้งgoal ระยะสั้น และgoal ระยะยาว เพราะไม่งั้นจะมีอาการเลื่อนลอย ไม่มีเป้าที่ชัดเจน พอไม่มีเป้าแล้วเนี่ย มีอุปสรรคนิดนึงก็เขวง่าย

นี่คือนักกีฬาที่ดี มีการศึกษา มีความคิด และใจกว้าง ต้องคุยกันได้กับโค้ชอย่างมีเหตุผล ไม่ใช่เถียงเพื่อเอาชนะ

ความเป็นนักกีฬาไม่ได้วัดกันแค่ในคอร์ท ในลู่ หรือได้ถ้วยนะคะ Michael Jordan เคยกล่าวไว้ว่า ‘Talent wins games, but teamwork and intelligence wins championships.’

นักกีฬากับโค้ชมีหน้าที่ต่างกันนะคะ แต่จะสำเร็จได้ต้องมีความเป็นทีมที่ลงตัว

ตารางวิ่งกับนักวิ่งก็เช่นกัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *