เมื่อกล้ามเนื้อ 2 ข้างไม่สมดุลย์ (Muscle imbalance)

เรื่องนี้ยาก เพราะว่าเกี่ยวพันธ์กันไปหมดอีรุงตุงนัง แต่จะเขียนให้เข้าใจง่ายนี่ยากกว่าค่ะ ที่ต้องการให้เข้าใจให้ลึกซึ้ง ก็เพราะว่าจะได้เอาไปใช้กันได้จริง คนทุกคนจะมีอาการของความไม่สมดุลย์ของกล้ามเนื้อทั้ง 2 ข้างซ้าย-ขวาอยู่ จะเป็นมากจนกระทบการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือไม่ แค่ไหนเท่านั้นเอง
.
เคยเขียนเรื่องนี้ไปครั้งนึงแล้ว มีท่าออกกำลังกายให้เสร็จ ลองไปอ่านดูก่อนนะคะ

https://www.facebook.com/Befiteatwell/posts/922516547860932

(ถ้ากดลิ้งค์ไม่ไป ลอง copy แล้ว paste ไปใน Google นะคะ) แล้วมาอ่านต่อข้างล่างนี้นะคะ

วันนี้มีข้อมูลที่ลึกซึ้งกว่านั้นมาเพิ่ม จากเดิมที่เคยเขียนไปว่า ทุกคนมีข้างที่ถนัดที่จะใช้ และการที่กล้ามเนื้อไม่เท่ากันนั้น เกิดจากสาเหตุที่ว่าเราถนัดข้างใดข้างหนึ่งมากกว่า หรือการที่เราเคยบาดเจ็บในอวัยวะข้างใดข้างหนึ่งจนเราพยายามเลี่ยงที่จะใช้อวัยวะข้างนั้น แล้วไปเอากล้ามเนื้ออีกข้างนึงมาทำงานแทนจนติด จนกล้ามที่ถูกใช้งานมากตึง ส่วนกล้ามข้างที่ใช้งานน้อยก็จะหย่อนและอ่อนแรงกว่า

จะสังเกตได้ชัดเวลาออกกำลังกาย เช่น เวลาเราใช้ดัมเบล แขนข้างนึงอาจจะสู้แรงอีกข้างไม่ได้ (แต่สิ่งเหล่านี้ เราจะไม่เห็นชัดถ้าเราออกกำลังกายโดยใช้บาร์เบล เพราะแขนข้างที่แข็งแรงจะเป็นข้างที่ออกแรงยกเวทขึ้นมา ทำงานหนักอยู่ฝ่ายเดียว)
.
Muscle imbalance นี้เกิดขึ้นได้กับอวัยวะทุกส่วน ตั้งแต่สะโพก 2 ข้างที่ไม่เท่ากันหรือเบี้ยว ขาข้างนึงไม่มีแรงเท่าอีกข้างนึง อาจพาลทำให้ขาข้างนึงสั้นกว่าอีกข้างนึงได้ หรือกล้ามข้างนึงเล็กกว่าอีกข้างนึง

ร่างกายเราจะมีกล้ามเนื้อที่เกาะอยู่กับข้อต่อ (joint) ทั้ง 2 ข้าง ทำงานร่วมกันเป็นคู่ๆเป็นควบคุมการทำงานหรือทิศทางการเคลื่อนไหวของข้อต่อ คล้ายๆกับมือจับ (handles) ของจักรยาน 2 ข้าง เราจะจับแค่ข้างเดียวก็ได้เวลาขี่จักรยาน แต่ตัวจักรยานก็จะส่ายไปมา ถ้าเราจับทั้ง 2 ข้าง แรงจาก 2 ข้างจะทำให้เราควบคุมทิศทางจักรยานได้ดีกว่า
.
ถ้ากล้ามเนื้อข้างใดแข็งแรงกว่า เราก็จะเกิดอาการของ muscle imbalance เพราะเราก็จะใช้แต่ข้างที่แข็งแรงกว่าเพราะสะดวกดี รู้งาน เป็นงาน ข้างนั้นก็จะแข็งแรงขึ้นๆ แต่ในขณะเดียวกันก็จะทำให้กล้ามเนื้อข้างนั้นสั้นขึ้น ตึงขึ้น ต่างกับอีกข้างนึงที่อ่อนแอกว่า ก็จะยืดหย่อนยาน
.
เมิ่อเกิดอย่างนี้ขึ้นจะมีการดึงกระดูกส่วนต่างๆของร่างกายให้เป็นไปตามรูปแบบของกล้ามเนื้อข้างนั้น ส่วนนั้น ในที่สุดกระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก ไหล่ คอ ขา ก็จะเปลี่ยนเบี้ยวไปตามลักษณะกล้ามเนื้อ
.
เหมือนจักรยานอีกนั่นแหละค่ะ ถ้ามือข้างนึงของเราสั้นกว่าอีกข้างนึง เราก็ต้องปรับท่าขี่ จะเอียงตัวจะอะไรก็ตามเพื่อที่ว่าเราจะได้จับ handles ได้ทั้งสองข้างและขี่จักรยานไปได้เป็นเส้นตรง ไม่เฉไปเฉมา ก็จะเมื่อย

เพราะว่า ร่างกายเราจะจัดหน้าที่ความสำคัญของร่างกายจาก การอยู่รอดเป็นสิ่งที่สำคัญสูงสุดลงไปไงคะ
.
การสร้างกล้ามนี้แทบจะเรียกว่าเป็นความสำคัญขั้นต่ำสุดเลย หัวเรานี่สำคัญสุด เพราะมีสมอง ตาไว้ดู หูฟัง ฟันไว้เคี้ยว จมูกไว้หายใจ ดังนั้นทุกอย่างที่ต่ำไปกว่าคอ จะค่อยๆปรับตัวตามทิศทางที่หัวเราเคลื่อนไป
.
สิ่งเหล่านี้เกิดมาก่อนพวกอาการ office syndrome ที่เราพูดถึงกันอีกค่ะ office syndrome นี่ทำให้เราอาการแย่หนักไปกว่าเดิมเท่านั้นเอง อะไรที่ไม่ดีอยู่แล้ว หรือปัญหาที่เคยเบลอๆ ก็จะชัดขึ้น เท่านั้นเอง
.
ยกตัวอย่างเช่น ตาเรา จะต้องรักษาระดับที่เรียกว่า horizontal gaze มองเห็นเป็นแนวราบ หรือ zero point of reference เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ใต้คอลงมา ต้องทำทุกอย่างให้ตาเรามองได้ในระดับนั้น ตั้งแต่เอียงไหล่ ยื่นคอ อะไรก็ได้ ถ้าหลังเรางอ เราก็ต้องยื่นคอตั้งออกไปเพื่อให้เรารักษาระดับ zero point นั้นเอาไว้ให้ได้

ไม่ว่าปัญหาจะมาจากหลัง จากหัว จากสะโพก หรืออะไรก็ตาม ตาเราต้องรักษาระดับการมองให้ได้ ดังนั้น postural หรือ muscle imbalance จึงเกิดขึ้น ได้ตั้งแต่เด็ก หรือช่วงไหนที่บาดเจ็บ เกิดกับใครก็ได้ ไม่ใช่เกิดจาก office syndrome อย่างเดียว .

หรืออาจจะเกิดจากระบบทางเดินหายใจที่ไม่ดี หูข้างนึงตึงกว่าอีกข้างนึง ทำให้เราต้องคอยเอียงไหล่ไปข้างหน้า 1 ข้างเพื่อที่จะให้ได้ยินชัดขึ้น พอทำบ่อยๆเข้าก็เกิดความไม่สมดุลย์ได้เหมือนกัน
.
ทุกอย่างนี้เราทำไปโดยอัตโนมัติเพื่อที่ให้ การมองเห็น ได้ยิน เคี้ยว หายใจ เป็นไปได้อย่างคล่องตัวที่สุด เพื่อความอยู่รอด

ความถนัดที่เกิดขึ้นทีละนิดจากเหตุผลของการอยู่รอด (survival) นี้ถ้าไม่แก้ที่สาเหตุก็จะสะสม จนเกิดเป็นนิสัย จนทำให้เกิดกล้ามเนื้อสองข้างไม่เท่ากัน ไม่ใช่แค่กล้ามเนื้อนะคะ แต่ความสมดุลย์ของร่างกายคลาดเคลื่อนไปหมดตั้งแต่ คอ ไหล่ เอว หลังล่าง สะโพก ต้นขา เข่า ข้อเท้า เท้า ข้อต่อทุกส่วนของเราเชื่อมโยงกันหมดค่ะ เป็นลูกโซ่ กล้ามเนื้อก็เหมือนกัน หรือแม้กระทั่งประสาทสั่งงานให้ข้างที่ชินทำงานโดยอัตโนมัติ เอาแรงจากข้างที่ไม่ใช้มาใช้ซะ

อธิบายก่อนแป๊บนึงคร่าวๆว่า สมองเราสั่งการ ลงมาตาม กระดูกสันหลัง ไปปลายประสาท ไปยังกล้ามเนื้อ และจากกล้ามเนื้อส่งสัญญาณความรู้สึกกลับขึ้นไปสู่สมอง ดังนั้นเราถึงได้กะถูกไงคะว่าจะยกของชิ้นนี้ เราต้องใช้แรงแค่ไหน ไม่ใช่ส่งแรงมั่วเต็มร้อยในการยกตั้งแต่ฟองน้ำจนถึงเก้าอี้ เป็นต้น นี่ยกตัวอย่างคร่าวๆให้พอเห็นภาพว่า เราส่งสัญญาณกลับไปกลับมา สื่อสารกับสมองตลอดเวลา ข้างไหนใช้แรงเยอะ สมองก็จะกระตุ้นให้กล้ามเนื้อข้างนั้นออกแรงได้เยอะกว่า ประสาทข้างนั้นก็จะถูกฝึกให้ทำงานได้กระฉับกระเฉงกว่า ส่วนอีกข้างก็จะช้าลง น้อยลง

กระดูกสันหลังตั้งแต่ข้อบนจนถึงข้อสุดท้ายจะสื่อสารกันตลอด กระดูก C1 ข้อแรก (ตามรูป) จะเป็นเหมือนประตูจากสมองมายังกระดูกสันหลังช่วงตัว ส่วน L5 เป็นประตูด้านล่างของกระดูกสันหลังที่รอรับส่งสัญญาณกับ C1 ว่าจะเอายังไง ให้รับใช้อย่างไรได้บ้าง เช่น ยืนบิดสะโพกเพื่อให้คอตั้งตรงเพราะว่า อย่างที่บอก ทุกอย่างที่อยู่ใต้คอ จะค่อยๆเคลื่อนตัวไปตามทิศทางที่หัวเราพาไป
.
นักวิทยาศาสตร์จะเรียกความสัมพันธ์ของกระดูกสันหลังส่วนบนกับส่วนล่างนี้ว่า “Lovett-Brother”
.
“Lovett-Brother” เป็นความสัมพันธ์ที่
ช่วยให้ตัวเรายืนหยัดอยู่ได้ สื่อสารกันเป็นคู่ๆไป ข้อบน กับข้อล่าง กระดูกสันหลังเราจะบิดเบี้ยวอย่างไรนั้น บางครั้งไม่ได้อยู่ที่ปัจจัยภายนอก แต่อาจจะอยู่ที่ปัจจัยภายใน หรืออวัยวะภายในที่ผิดปกติ ทำให้เราต้องเอียงตัว เอนตัว งอตัว เพื่อความอยู่รอด

ดังนั้น ถ้ามีปัญหากล้ามเนื้อไม่เท่ากันนี้ ลองมองให้ลึกขึ้น ตรวจสุขภาพภายในว่า เรามีปัญหาอะไรที่อะไรที่ซับซ้อนเกินไปกว่า ความถนัดหรือไม่ แล้วค่อยมาแก้ไขปัญหาภายนอกกัน แก้ได้ค่ะ ไม่ได้เกินความสามารถหรอก ตั้งจิตเตือนตัวเองให้หัดใช้งานในข้างที่ไม่เคยใช้บ้าง ออกกำลังกายแบบที่เคยเขียนไว้แล้ว ตามลิ้งค์ที่ให้ไว้ข้างบน
.
ว่าแล้วก็บังคับให้กลับไปอ่านเรื่องที่เคยเขียนไว้ ว่าจะบริหารจัดการอย่างไร ให้ข้างที่อ่อนแอ เข้มแข็งขึ้นมาได้เท่าเทียมกัน
.
คนอ่านเพจนี้เนี่ยรักการอ่านอยู่แล้วเนอะ ใช่ไม๊คะ

Ref: https://www.facebook.com/Befiteatwell/posts/922516547860932

LOVETT BROTHER RELATIONSHIP OF THE SPINE by Charles L. Blum.

Lovett R.W., ‘Lateral Curvature of the Spine and Round Shoulders’, P. Blakiston’s Son & Co.: Philadelphia, PA, 1913: 1-192.

Walther, D.S., ‘Applied Kinesiology: Volume I, Basic Procedures and Muscle Testing’, Systems DC, Pueblo, CO, 1981: 67.

DeJarnette, M.B., ‘Sacro Occipital Technique Convention Notes 1965 : Part Two’, Nebraska City, NB, 1965: 51-69

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *