เวลาวัดตัว วัดหุ่น รู้หรือไม่ว่าวัดตรงไหน

เวลาเขียนแนะนำว่าถ้าจะดูความก้าวหน้าทางร่างกาย หรือหุ่นดีขึ้นรึเปล่า ให้วัดตัวและจดบันทึกไว้ แล้วทุกครั้งก็จะอดนึกเป็นห่วงไม่ได้ว่า จะวัดกันเป็นรึเปล่านะ วันนี้มีเวลา เลยจะมาเขียนให้อ่านนะคะ เวลาวัดจะได้วัดได้ถูกที่ค่ะ
.
เอาสายวัดมาเร็ว

รอบแขน

พับแขนเสื้อขึ้นนะคะ ยกแขนงอ 90° ตามแบบรูปเลยค่ะ

เราจะวัดแบบแนวตั้ง ในช่วงที่ใหญ่ที่สุดเวลาที่มองจากข้างหน้าตรงๆ ถ้าอยากเบ่งกล้าม วัดขนาดของกลเามก็ได้ แต่จดบันทึกไว้ ทุกครั้งที่วัด ก็จงเบ่งกล้ามให้เหมือนกันทุกครั้งค่ะ

หน้าอก
.
เริ่มจากหาตำแหน่งที่ถูกเป๊ะ จะได้วัดที่เดิมทุกครั้งนะคะ. จริงๆแล้วตำแหน่งนี้ไม่ได้วัดแค่อก แต่วัดความใหญ่ของหลังตอนต้นด้วยนะคะ ได้หน้าอย่าลืมหลัง!
.

เริ่มจากกางแขนออกตรงๆเลย ขึ้นมาระดับเดียวกับไหล่ เอาสายวัด วัดตรงตำแหน่งใต้รักแร้ แล้วลดแขนลงข้างตัวค่ะ ไม่ต้องกางแล้ว หายใจออก เราวัดแนวนอน (horizontal) ตอนหายใจออกนี่แหละ นะคะ

เอว
.
วัดตรงส่วนที่เล็กที่สุด พยายามเลิกเสื้อขึ้นนะคะ ไม่งั้นมองไม่เห็น
.
ถ้าเป็นคนไม่มีเอว (ไม่ได้ว่าอ้วนนะ ผอมก็ไม่ทีเอวได้) ให้วัดตรงกลางระหว่างกระดูกซีกโครงอันสุดท้าย กับตอนบนของกระดูกสะโพก (illiac crest)
.
อย่ารัดแน่นเกินไป อย่าให้หลวมไป และให้สายนาบไปกับเนื้อนะคะ และพยายามอย่าให้สายเอียงเกินไป เอาให้ตรงๆ หายใจปกติ

รอบสะโพก
.
พยายามใส่เสื้อผ้าให้น้อยที่สุดนะคะเวลาวัด วัดสายวัดรอบส่วนที่นูนที่สุดของก้น ยืนตรงๆ ขาแยกกว้างประมาณความกว่างของไหล่นะคะ ไม่ต้องเกร็งก้นนะ อย่าให้สายรัดหลวมหรือคับเกินไป

ต้นขา
.
การวัดต้นขานี่ก็เหมือนกับการวัดต้นแขน วัดในส่วนที่ใหญ่ที่สุด นี่คือเวลามองตรงๆจากข้างหน้านะคะ ไม่วัดทับขากางเกงนะ พับขากางเกงขึ้น อย่าลืม
.
เวลาวัดในส่วนนี้ สายวัดจะไม่ตรงเป็นแนวราบนะคะ แต่ควรจะเป็น 90° องศาของแนวต้น ดูรูปเอาง่ายกว่านะคะ

ไหนๆก็ไหนๆแล้ว เคยเขียนเรื่องสัดส่วนของเอวกับสะโพกไปนานแล้ว ว่าคนที่ผอม ก็อาจจะมี Visceral Fat ซึ่งก็คือไขมันในช่องท้องซึ่งเป็นไขมันที่อยู่ระหว่างกล้ามเนื้อท้อง กับ อวัยวะภายในและหากมีมากเกินไป มันก็จะไปสะสมอยู่ที่อวัยวะภายในของเราด้วยเช่นกัน
.
ไขมันในช่องท้องนี้สามารถทำให้ อวัยวะภายในต่างๆของเรา เกิดการอักเสบในระดับเซลล์ ซึ่งเป็นสาเหตุของ โรคเรื้อรังร้ายแรงต่างๆ ได้อย่างมากมาย เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดในสมองตีบ เส้นเลือดในสมองแตก คลอเรสเตอรอลสูงที่นี่นะคะ

https://www.facebook.com/Befiteatwell/posts/896928740419713:0
.

การที่เราควรจะตรวจสอบค่านี้เพิ่มเติมเพราะว่า หลายคนมีร่างกายที่ค่อนข้างสมส่วนและมีค่า BMI. ที่อยู่ระดับปกติ แต่ลงพุงก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ โรคเบาหวาน ได้เพราะไขมันรอบเอวเนี่ยแหละค่ะ
.
ง่ายๆเลย ถ้าไม่มีเวลาอ่านบทความในลิ้งค์ ก็คิดค่าสัดส่วน แบบนี้ค่ะ
.
ความยาวเส้นรอบเอว / ความยาวเส้นรอบสะโพก
.
ค่าที่ได้สำหรับผู้ชาย
.
ค่าที่ได้ ต่ำกว่า 0.85 : แสดงว่าคุณไม่มีความเสี่ยงทางด้านสุขภาพจากไขมัน
.
ถ้าสูงกว่า 0.95 : นั่นคือความเสี่ยงสูง อยู่ในภาวะลงพุง ควรเริ่มทำการเปลี่ยนแปลงตัวเองได้แล้ว
.
ค่าที่ได้สำหรับผู้หญิง
.
ค่าที่ได้ ต่ำกว่า 0.75 : แสดงว่าคุณไม่มีความเสี่ยงทางด้านสุขภาพจากไขมัน
.
ถ้าสูงกว่า 0.85 : นั่นคือความเสี่ยงสูง เข้าสูงภาวะลงพุง ควรเริ่มทำการเปลี่ยนแปลงตัวเองได้แล้ว
.
วัดกันนะคะ วัดกัน

กล้ามเยอะ-ไขมันเยอะ หรือกล้ามน้อย-ไขมันน้อย อะไรดีกว่ากัน

นี่พูดจากประสพการณ์ที่ได้ยินคนบ่นว่า ออกกำลังกายแล้วน้ำหนักขึ้น เล่นเวทแล้วน้ำหนักขึ้น หรือบางกลุ่มก็ใช้ค่าน้ำหนักเป็นที่ตัววัดเลยว่า ไม่อ้วนเพราะ น้ำหนักน้อย ผอมอยู่แล้ว ไม่ต้องสนใจกับการกินดีหรอก ยังใส่เสื้อผ้าสมัยเด็กได้อยู่เลย
.
เฮ้อ!
.
เข้าใจว่าฝรั่งก็คงได้ยินอะไรแบบนี้มาเยอะเหมือนกัน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้วมหาวิทยาลัย UCLA ได้ตัดสินใจฟันธง ทำการทดลอง ว่าการที่มีค่า BMI ต่ำหรืออยู่ในเกณฑ์ปกตินั้น ไม่ได้เป็นการวัดว่าเรามีความแข็งแรงมากกว่าใคร มีปัจจัยอื่นที่เราควรจะให้ความสนใจที่มีผลต่อสุขภาพโดยตรงนอกเหนือจากค่า BMI ที่อยู่ในเกณฑ์หรือต่ำ เช่นมวลกล้ามและมวลไขมันมากกว่า
.
การทดลองครั้งนี้ใช้ค่าจากที่ American Journal of Cardiology ได้วัดและเก็บข้อมูลจาก ผู้เข้าร่วมการทดลอง 6,451 คนในการทำ National Health and Nutrition Examination Survey มาตามเก็บข้อมูลผลอีกที
.
ข้อมูลที่ American Journal of Cardiology ได้เคยทำเอาไว้นั้น มีการวัดร่างกายของคนที่เป็นโรคหัวใจ และความหนาแน่นของกระดูก (BMD) โดยใช้เครื่อง dual energy x-ray absorptiometry (DXA) และการบันทึกประวัติ น้ําหนัก ส่วนสูง วัด BMD กระดูกส้นเท้าด้วยเครื่อง QUS และตรวจ BMD ของกระดูกสันหลังส่วนเอวด้วยเครื่อง DXA
.
ข้อมูลทั้งหมดนี้ก็ถูกนำมาประเมินในการหาค่าของมวลกล้ามเนื้อ และไขมัน และตามไปเก็บข้อมูลว่าคนกลุ่มใดที่เสียชีวิตจากโรคหัวใจหรือโรคที่เกี่ยวกับไขมันอุดตันในช่วงระยะเวลา 7 ปีจากวันที่เริ่มเก็บข้อมูล
.
มหาวิทยาลัย UCLA ก็นำวิธีการนี้มาใช้ ด้วยการเก็บข้อมูลแบบเดียวกันนี่แหละค่ะ และใช้ DXA ในการหาค่าของมวลไขมันรอบเอว และมวลกล้ามเนื้อที่แขนและขา แต่ครั้งนี้เพื่อดูว่าคนกลุ่มไหนแข็งแรงที่สุด
.
เพราะก็น่าสนเหมือนกันนะคะ ว่าเราจำเป็นต้องมีกล้ามด้วยหรือ
.
เค้าก็แบ่งกลุ่มคนที่สมัครเข้าทำการทดลองออกเป็น 4 กลุ่ม จากการวัดไขมันรอบเอว และวัดมวลกล้ามที่แขนและขา ก็ได้ออกมา 4 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มมวลกล้ามสูง ไขมันต่ำ

2. กลุ่มที่มวลกล้ามน้อย ไขมันต่ำ

3. กลุ่มมวลกล้ามสูง ไขมันสูง

4. กลุ่มกล้ามน้อย ไขมันสูง
.
และก็ติดตามวัดประเมินสุขภาพโดยละเอียด ตั้งแต่การวัดมวลกระดูกว่าใครจะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคกระดูกพรุน (ความเชื่อเดิมคือ ยกน้ำหนักจะเสี่ยงกับกระดูกมากกว่า) โรคหัวใจ (กลุ่มไขมันเยอะ) ใครฟิตที่สุด
.
ผลจากการ scan ได้ความว่า
.
กลุ่มที่มีมวลกล้ามเยอะทั้งสองกลุ่มนั้นมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจน้อยกว่ากลุ่มที่มีกล้ามน้อย ไม่ว่าจะไขมันต่ำหรือสูงแค่ไหนก็ตาม
.
แน่นอนว่า กลุ่มไขมันน้อยกล้ามเยอะมีสุขภาพโดยรวมดีที่สุดใน 4กลุ่ม ได้อัตราความเสี่ยงต่อการตายจากเป็นโรคหัวใจที่ 0.32 และ ตายจากการเป็นโรคอื่น 0.38 คน
.
ประมาณ 2ใน3ของคนในกลุ่มไขมันน้อย กล้ามเยอะ มีค่า BMI ที่สูงกว่าปกติ แต่กลับมี อัตราการรอดตัว (survival rate) สูงจากโรคกระดูก เบาหวาน หัวใจ กว่าคนกลุ่มอื่น เนื่องจากจากการวิจัยนี้พบว่า กล้ามเนื้อเป็นตัวหลักในการเคลียร์ 85% ของน้ำตาลในเลือดให้ออกจากระบบ ดังนั้นการมีมวลกล้ามสูงจึงทำให้เกิดความสมดุลย์ในการกินและระบบเผาผลาญ เนื่องจากระบบเผาผลาญได้ทำงานอย่างสม่ำเสมอ ไม่มีอาการระบบเผาผลาญทำงานผิดปกติเมื่อเทียบกันกับกลุ่มกล้ามน้อย
.
พวกหมูที่แข็งแรงมีเฮ งานนี้……เจ็บใจ!
—————-
แปลมาเลยตรงๆจาก บทความจากวารสารการทดลองของ UCLA

http://newsroom.ucla.edu/…/higher-muscle-mass-associated-wi…

บทความนี้ตีพิมพ์ใน American Journal of Cardiology เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2016

http://www.ajconline.org/…/S0002-9149%2816%2930155…/fulltext

—————-

นั่งยองๆไม่ได้ เป็นเรื่องใหญ่กว่าที่คิด

ขึ้นต้นก็ขู่เลย!
.
นั่งยองๆนี่หมายถึงแบบเต็มเท้าไม่ได้นะคะ
.
ปัจจุบันนี้ เราชินกับการนั่งเก้าอี้กัน ไม่อยากจะพูดถึงแค่เฉพาะมนุษย์ทำงาน เด็กๆก็เป็นกัน ตื่นขึ้นมาก็นั่งเก้าอี้ น้่งโซฟา ดูทีวี นั่งหลังขดหลังแข็ง ทำงานอยู่กับ laptop (แล้วก็วางบนตักพิมพ์กันจริงจังมาก วางคอมพิวเตอร์ระดับสายตาคือ อะไรไม่รู้จัก)
.
จะนั่งทำอะไรก็ตามแต่ พอนั่งกันทั้งวันทุกวันร่างกายก็ต้องปรับกล้ามเนื้อให้เหมาะสม เป็นรูปเก้าอี้ จะได้นั่งสะดวกๆ ไงคะ ไหนๆก็ไหนๆแล้ว รากจะงอกในไม่ช้าแน่นอน ถ้ายืนทำต่อไป

กล้ามเนื้อปรับอย่างไรบ้าง
.
กล้ามเนื้อที่หลังและหลังด้านล่างก็จะยืดยาว (overextended) มาจากการนั่งนานๆ มือวางบนคีย์บอร์ด หรือจากการเขียนหนังสือ
.
กล้ามเนื้อหน้าอก และกล้ามเนื้อ biceps ก็จะอยู่ในสภาวะหดสั้น (contracted) จากการนั่งเอามือไว้บนโต๊ะข้างหน้าตลอดเวลา
.
หลังล่างและไหล่จะห่อมาข้างหน้า และก็จะทำให้จะเกิดอาการปวดไหล่ ปวดหลังล่าง
.
hip flexors และกล้ามเนื้อหน้าขา (quadriceps) ก็จะหดตึงจากการที่โดนล็อคอยู่ในท่านั่งเก้าอี้ 90 องศามาทั้งวัน
.
เห็นภาพยังเนี่ยคะ
.
ทั้งหมดนี่ ทำให้เกิด trigger point หรือ ปม (knots) ในกลุ่มกล้ามเนื้อที่กล่าวมาข้างต้น เช่นกล้ามอก (pectoralis) ไหล่หน้า (anterior deltoid) และ hip flexors เป็นต้น พวกกล้ามที่หดต้วทั้งหลาย เพราะมันเกร็งไงคะ

ภัยแบบของการนั่งเก้าอี้มากๆ ก็จะมาจาก

1. การที่กล้ามเนื้อ กระดูก เอ็น ข้อต่อ ไม่มีการรองรับน้ำหนักตัวเองอย่างที่ธรรมชาติสร้างมาแล้ว
.
2. การนั่งก็คือการปิดกั้น ปิดสวิตซ์กล้ามเนื้อก้น ให้อยู่นิ่ง นั่งมากๆเข้า ก็ชินกับการที่กล้ามเนื้อก้นไม่ทำงาน (activate) เพราะว่านั่งมานาน จะเดิน วิ่ง ยืน ก้าวกระโดดแทนที่แรงจะมาจากกล้ามเนื้อก้น ก็กลายเป็นกล้าทเนื้อชิ้นอื่น เข้ามาทำงานแทน
.
3. กล้ามเนื้อหน้าท้องก็จะเหลวเป๋ว กล้ามเนื้อหน้าท้องเนี่ยจะช่วยยึดลำตัวให้ตัวตรงขึ้นนะคะ แต่การนั่งที่ผิดวิธีเนี่ย (อาจจะเริ่มนั่งแบบตัวตรงก่อน แต่พอต่อๆไป เราจะค่อยๆไหลนิดๆไปเรื่อยๆ เป็นธรรมดาที่เวลาเรานั่งนานๆ) กล้ามเนื้อหน้าท้องก็จะห่อตัว อ่อนตัวลงคุดคู้ไปตามกระดูกสันหลังที่โค้งแน่ๆ ก็จะค่อยๆ deactivate ไป คือไม่ทำงาน นานๆเข้า อย่าว่าแต่ six pack เลยค่ะ กล้ามเนื้อกระชับยังยากเลย

4. กล้ามเนื้อที่เกร็งหดตัวทำงานทั้งวันที่เกินกว่าความรับผิดชอบของตัว (คือช่วยกล้ามอื่นทำงานไปด้วย) ก็จะเกิดปม trigger point ขึ้นมาเรื่อยๆ ที่คือที่มาจากเรื่องที่เคยเขียนเกี่ยวกับ office syndrome ทั้งหลายว่าทำไมเป็นไมเกรนถึงต้องนวด trigger point ที่ไหล่อย่างเรื่องนี้
.
https://www.facebook.com/Befiteatwell/posts/893814684064452:0
.
หรือ ปวดหลัง(ล่าง)ไม่ได้แก้ที่หลังอย่างเดียว
https://www.facebook.com/Befiteatwell/posts/892680114177909
.
หรือเรื่องอาการคอยื่น (forward head syndrome) ปวดคอ
.
https://www.facebook.com/Befiteatwell/posts/914790115300242:0
.
พอกล้ามเนื้อเกิดเป็นปม เป็นknot ขึ้น ก็จะไปจำกัดพิกัดการเคลื่อนไหว (range of motion) ของข้อต่อและกล้ามเนื้อ และก็ไปกั้นทางเดินของเลือด (decreases circulation)

5. เข่าเจ็บ อันนี้เกิดขึ้นเพราะกล้ามเนื้อ Tensor fasciae latae ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อทางด้านข้างของสะโพก (เกาะอยู่ที่ส่วนหน้าของกระดูกเชิงกรานทำหน้าที่กางและหมุนขาเข้าด้านใน) ทำงานมากเกินไปในขณะที่เรานั่ง ก็จะถูกเกร็งหดตัวเอาไว้ด้านหน้าเพื่อให้เรานั่งเกาะเก้าอี้ไว้ได้

ในขณะที่กล้ามเนื้อ vastus medialis (ต้นขาด้านหน้า) ที่ปกติทำหน้าที่ เกาะตัวให้กระดูกสะบ้าเข่าวางตัวอย่างเสถียรได้ ให้มั่นคงระหว่างการออกกำลังกาย ก็ deactivate ไประหว่างนั่งนานๆ พอกล้ามเนื้อชิ้นนี้ไม่เสถียร เกาะยึดเข่าไม่มั่นคง เวลานั่งยองๆก็จะเจ็บเข้าได้ค่ะอันนี้ไม่เกี่ยวกับการที่เรานั่งลงส้นเท้าไม่ได้หรอกค่ะ แต่จะเกี่ยวกับอาการเจ็บเข่าเวลาเราจะนั่งยองๆมากกว่า

ทางแก้
.
เอาที่เคยใช้มาแล้วได้ผลนะคะ พวกท้ายืดน่องปกตินี่เราหาได้ทางอินเตอร์เน็ตนะคะ เช่น ยืนที่ปลายเท้าตรงขั้นบันไดให้ส้นโผล่ออกมา แฃ้วกดส้นลงให้เรารู้สึกว่ายืดน่องอยู่ ประมาณนั้นนะคะ
.
วันนี้ขอแนะนำวิธีนั่งยองๆแบบวางส้นเท้า (resting squat) ที่ดุเดือดและเป็น functional กว่านั้น คือ

ขั้นตอนแรกเลย
.
นอนหงายลงบนพื้น แล้วงอขาขึ้น ทำท่าเหมือนเรานั่งยองๆโดยที่เท้ากระดกขึ้นให้มากที่สุด (คนที่เอ็นร้อยหวายตึงนี่กระดกได้ไม่มากหรอกค่ะ) เสมือนกับว่าเรานั่งยองๆอยู่เพียงแต่หลังติดพื้นเท่านั้นเอง ดูกระจกไว้ จะความรู้สึก แล้วก็เหยียดขาออก วางขาลงกับพื้น ง่ายๆสั้นๆ ทำไป 10-12 reps 3-4 sets เอาให้เป็นการยืดเบื้องต้นก่อน ช่วงนี้เราตั้งใจฝึกว่า ถ้าเราจะงอขาขึ้นเมื่อไหร่ เท้าเราจะกระดกตั้งฉากกับพื้นทุกครั้งนะ ฝึกประสาท ฝึกความเคยชิน และเป็นการยืดเบื้องต้น
.
ถ้าเอ็นเรายึดไม่มาก ความยืดหยุ่นของสะโพกด้านหน้า (hip flexor) ต้นขาด้านหน้าหลังเราไม่ตึงจนเกินไปนัก เราก็จะมาทำขั้นที่ 2 ได้เร็วขึ้นค่ะ

2. เราเริ่มทำการยืดแบบ 3 ท่าติดกันในท่านั่งนะคะหาเบาะเอาไว้เกาะด้วยค่ะ ตามรูปเลย
.
เริ่มจาก cossack squat โดยทีขาอีกข้างที่ไม่ได้ยืดออกไปนั้นตั้งวางไว้กับพื้นนะคะ ส้นเท้าติดพื้น เหมือนนั่งยองๆข้างเดียว ท่านี้ถ้าเกิดจาก กล้ามเนื้อด้านในของต้นขาตึงก็จะนั่งแล้วล้ม เหมือนกับเวลาเรานั่งยองๆ เห็นยังคะว่า เราใช้กล้ามเนื้อเยอะมากในการแค่นั่งยองๆ ตั่งแต่กล้ามเนื้อต้นขา น่อง เอ็นร้อยหวาย รวมไปถึงกล้ามเนื้อด้านในต้นขาด้วย
.
ถ้านั่งท่านี้แล้วล้ม ก็จับเก้าอี้ไว้นะคะ แช่ไว้นานเท่าที่จะทำได้ ทำบ่อยก็เห็นผลเร็ว

ท่ายืดที่ 2 ในเซ็ตนี้ ก็ทำต่อจากท่าside squat ไปเลย ทุกอย่างคงเดิม แต่วาดขาไปด้านหลังตรงๆ ท่านี้จะช่วย activate กล้ามเนื้อสะโพกด้านหน้า ไม่ใช่แค่นั้น แต่เป็นการยืด hip flexor ด้วยค่ะ บางคนทำท่านี้ได้สบายก็แสดงว่า ปัญหาไม่ได้มาจาก hip flexor แต่มาจากเอ็นร้อยหวายตึง

ท่าที่ 3 ในเซ็ตนี้คือ จากที่นั่งยองๆ 1 ข้าง ก็ให้เอาเข่าลง วางกับพื้น ส่วนขาที่เรายืดอยู่นั่นก็พับเข่ามาวางลงบนโต๊ะเตี้ยๆข้างหน้าเรา โต๊ะกาแฟเรานี่ควรจะสูงประมาณ 30-40ซมจากพื้นนะคะ ไม่เกินนั้น ไม่งั้นจะยาก หาเป็นเบาะหรือกล่องอะไรก็ได้นะคะ
.
ท่านี้จะยืดบริเวณ hamstring และก้น ต้นขาด้านข้างนอก อาจจะได้เลยขึ้นไปถึงหลังล่างด้วยซ้ำไปนะคะ
.
ทั้ง 3 ท่านี้ควรจะทำเป็นเซ็ตด้วยกันนะคะ และถ้ายาก ตอนแรกอาจจะหากล่องที่แน่นหนา หรือผ้าเช็ดตัวม้วนให้สูงหลายๆทบมาวางเข่าข้างที่ support ให้สูงขึ้นมาก่อนก็ได้ค่ะ จะง่ายขึ้น ค่อยลดความสูงของที่รองทีละนิดนะคะ

3. ขั้นตอนนี้คือการทำ wall squat
.
ณ.จุดนี้ ยังไม่ต้องพยายามใช้เวทหรืออะไร เอาให้เราสามารถที่จะนั่งยองๆลงไปแบบเท้าวางแบนบนพื้นได้ก่อนนะคะ
.
การนั่งยองๆ ให้เริ่มจากนั่งแบบขากว้างๆก่อน จะทำให้ลงไปได้ลึกและเป็นการนั่งยองๆที่ง่ายที่สุด เมื่อเราแข็งแรงขึ้นแล้ว เราจะสามารถนั่งยองๆแบบหุบขาเข้ามาชิดๆกันทีละนิดได้ค่
.
เรานั่งยองๆเกาะกำแพงหรือโต๊ะไปให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ อาจจะกำหนดเวลาเอาว่า วันนี้เริ่มต้นที่ 5 นาที พรุ่งนี้ 7นาที ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะนั่งได้นานขึ้นกล้ามเนื้อก้น activate อย่างถูกต้องมากขึ้น แล้วค่อยๆ กดลงไปให้ต่ำลงเรื่อยๆ

4. เป็นอีกวิธีนึงที่อาจจะเอามาใช้สลับกันกับวิธีที่แล้ว คือการนั่งยองๆแบบเต็มเท้าโดยเกาะโต๊ะหรือขอบประตู หรือ กำแพงเอาไว้ 2 มือโดยไม่ให้เราล้ม ตอนแรกที่ทำอาจจะมีอาการขาชาจากทำไปแล้วระยะนึง ก็พักเป็นเซ็ต จะบเวลาเอาไว้ แต่ขอให้พยายาทำต่อไป
.
ทำทุกวัน วันละ 30 นาที ปกติจะใช้เวลาประมาณ 4-6 อาทิตย์เพื่อที่จะเพิ่ม range of motion จัดกล้ามเนื้อให้ยืดเหยียดและทำงานได้อย่างถูกต้อง

 ทำไมการนั่งยองๆแบบเต็มเท้าหรือ resting squat สำคัญ
.
Arthur Thomson (1889) จากมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด คือนักวิชาการคนแรกๆ ที่ศึกษาเรื่องการนั่งยองๆ (resting squat) อย่างจริงจัง ซึ่งนอกจากจะพบความสัมพันธ์ระหว่าง squatting facet กับการนั่งยองแล้ว ยังพบความสัมพันธ์ระหว่างการนั่งยองกับความดั้งเดิม (primitive) ของคนก่อนเทคโนโลยีที่นำเอาการนั่งเก้าอี้เข้ามาใช้ การนั่งยองๆเป็นการนั่งที่เป็นธรรมชาติที่สุดแล้วของคน คล้ายๆกับการวิ่งเท้าเปล่าที่เป็นการบริหารกล้ามเนื้อและเอ็นเล็กๆในเท้าที่คนละเลยจนเกิดอาการบาดเจ็บ
.
การนั่งยองๆไม่ใช่ของใหม่ และไม่ใช่ของที่ผิดธรรมชาติแต่อย่างใด จริงๆแล้วกลับเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญมากกว่าที่เราคิด
ปัจจุบันนี้จึงมีการหันมาส่งเสริมการออกกำลังกายแบบ passive ที่เรียกว่า resting squat กันใหม่ หลังจากที่ปัญหาการปวดหลังล่างเริ่มมากขึ้นทุกที เพราะว่า เวลาเรานั่งยองๆ กระดูกสันหลังล่าง (lumbar spine) และกล้ามเนื้อบริเวณนี้ก็จะถูกยืดออก (extends) หลังจากที่โดนกดทับจากการนั่งมานาน แรงในการรักษาการทรงตัว(stabilisation)ก็จะกระจายระหว่าง กล้ามเนื้อขา สะโพก และช่วงลำตัว (core)
การที่เรานั่งยองๆไม่ได้ส่วนใหญ่ ไม่อยากจะปักใจอย่างที่คนทั่วไปคิดว่ามาจาก เอ็นร้อยหวายสั้น หรือผิดปกติมาแต่เกิด ส่วนใหญ่พอซักประวัติไปมา ก็กลายเป็นว่า เกิดจากนิสัยที่แก้ไม่หายมาแต่เด็ก เช่น ชอบเดินเขย่งเท้า การนั่ง น่องตึงมากๆจากสาเหตุใดก็ตามไม่ว่าจะทำกิจกรรมทั่วไป จนถึงเล่นกีฬา(อย่าได้คิดว่าเกิดจากการเล่นกีฬาอย่างเดียว ประเภทชั้นไม่ได้เล่นกีฬา ชั้นไม่ต้องยืดน่อง ถึงแม้ว่าการงานเราอาจจะเกี่ยวข้องโดนตรงกับการใช้น่อง) นี่รวมถึงคนที่เคยบาดเจ็บจากเอ็นร้อยหวาย หรือเป็นพังผืดหลังจากถูกจำกัดการเคลื่อนไหวด้วยการใส่เฝือกหรืออะไรก็ตามมาเป็นเวลานานด้วยนะคะ
.
เมื่อนั่งยองๆไม่ได้ ก็ต้องมาเริ่มออกกำลังกายกันใหม่เพื่อความยืดหยุ่น (flexibility) วิธีการนี้ก็ใช้ได้ค่ะ เพราะอย่าลืมว่า ร่างกายเราติดต่อกันเป็นแบบ kinetic chain ตั้งแต่ข้อเท้า น่อง เข่า สะโพก หลัง อย่างที่เคยเขียนไปแล้ว

https://www.facebook.com/Befiteatwell/posts/939286082850645

ดังนั้น เมื่อ chain ใดขาดความยืดหยุ่นในการเคลื่อนไหว ก็จะส่งผลไปยังchain อื่นต่อไปเรื่อยๆ
.
อย่าให้การนั่งยองๆไม่ได้เป็นอุปสรรค และอย่าแก้ปัญหาการsquat ได้ไม่เต็มที่ด้วยการหาอะไรรองส้นค่ะ นั่นไม่ใช่การแก้ปัญหาระยะยาว

Ref: Hewes GW: The anthropology of posture Scientific American, 196: 122-132 (1957)
.
Jelenc KE and Raichlen DA Resting postures in human evolution: squatting, sitting, and the biomechanics of low back pain The 84th Annual Meeting of the American Association of Physical Anthropologists (2015) School of Anthropology, University of Arizona March 27, 2015

มันหวาน คาร์บที่กินแทนข้าว

เป็นคนไทย โตมากินข้าวกับกับ เหมือนทุกคนนั่นแหละค่ะ จะให้ลุกขึ้นมากินเนื้อแบบฝรั่งทุกมื้อ เพื่อสร้างกล้าม หรือ low carb diet นี่ก็ไม่ไหวนะ ขอคาร์บบ้าง เห็นใจกันหน่อย
.
ทุกวันนี้ เจอแล้วค่ะ ตัวแทนที่แสนดี คือ มันหวาน (sweet potato) นั่นเอง

ทำไมถึงดี เรียนมา เรียนมา จะบอกให้!
.
เริ่มแรกเลย อุดมไปด้วยวิตามิน เอ และ beta-carotene (ช่วยชะลอความแก่ คือให้ผลในการลดความเสื่อมของเซลล์จากอนุมุลอิสระ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดกระบวนการแก่ และบำรุงสายตาด้วยค่ะ) และยังเป็น คาร์โบไฮเดรตแบบเชิงซ้อน (ย่อยสลายอย่างช้าๆ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในสภาวะควบคุม และให้พลังงานแคลอรี่ต่ำ ช่วยให้ไม่อ้วน)
.
อีกอย่างนึงคือมีค่า GI (glycemic index) ต่ำมากด้วยค่ะ แปลง่ายๆว่าอิ่มนาน

ค่า GI หรือ Glycemic Index คืออะไร
.
คือหน่วยวัดผลของคาร์โบไฮเดรตต่อระดับน้ำตาลในเลือด คาร์โบไฮเดรตที่แตกตัวอย่างรวดเร็วในระหว่างการย่อยอาหาร ให้กลูโคสเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิตอย่างรวดเร็ว เรียกว่ามีค่า GI สูง เอาไว้กินก่อนหรือระหว่างเล่นกีฬา จะเวิร์คมาก)
.
ส่วนอีกแบบนึงคือ คาร์โบไฮเดรตที่แตกตัวอย่างช้าๆ ค่อยๆให้กลูโคสเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิตอย่างสม่ำเสมอ เรียกว่ามีค่า GI ต่ำ อิ่มนานๆ มันหวานนี่คือแบบนี้

ค่า GI ของมันหวานเป็นอย่างไรบ้าง
.
จะบอกว่าดีเฉยๆไม่ได้ ต้องบอกว่าดีอย่างไร
.
จริงๆแล้ว วิธีการทำมันหวานให้สุกนี่ เปลี่ยนค่า GI ของตัวมันได้นะคะ ไม่ใช่สักแต่ว่า เค้าว่าว่า GI ต่ำ กินแล้วดี อิ่มช้าก็กินไป
.
สมมติว่า ถ้าซื้อมันหวานขนาด 150 กรัมมาต้ม 30 นาที ค่า GI จะอยู่ที่ 46 แต่ในขณะเดียวกันถ้าเอามาอบ 45 นาที ค่าGI จะขึ้นมาสูงอยู่ที่ 94
.
ที่เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างแตกต่างขึ้นก็เพราะโครงสร้างเม็ดแป้งที่ถูกทำให้สุกโดยการนึ่ง หรือต้ม ยังไม่ถูกทําาลายท้ังหมด
.
ความร้อนท่ีใช้ทำอาหารให้สุกนี่มีผลต่อโครงสร้างระดับโมเลกุลของเม็ดแป้ง และมีผลต่อองค์ประกอบทางเคมีของตัวแป้งด้วยค่ะ

มาดูคำนิยามกันก่อน
.
การย่อยได้ของแป้ง คือความสามารถในการย่อยแป้งที่อยู่ในอาหารโดยเอนไซม์ ที่ลำไส้เล็ก
.
ส่วนค่า GI เป็นค่าท่ีใช้ในการประเมินระดับน้ำตาลลกลูโคสในเลือดหลังจากที่เรากินอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตดข้าไปแล้ว
.
อาหารที่มีค่าดัชนี GI สูง จะทําให้มีการเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดอย่างรวดเร็ว อาหารที่มีค่า GI ต่ำ จะทำให้ระดับน้ําตาลในเลือดเพิ่มขึ้นช้าๆ เราก็จะอิ่มนาน
.
ความร้อนที่สูงเกินไปจากการปิ้ง ย่าง อบในเตาอบ จะทำให้ความหนืดของแป้งน้อยลง ความเป็นเจลน้อยลง
.
อาหารอะไรก็ตามที่มีลักษณะเป็นเหมือนเจล ก็จะทำให้การดูดซึมในระบบการย่อยอาหารนั้นย่อยสลายได้ช้า พอความเป็นเจลน้อยลง ก็ย่อยง่ายลง อิ่มไม่นานเท่าเดิม
.
สรุปต้มดีกว่าปิ้งย่าง ถ้าจะรักษาค่า GI ได้ดีกว่าแต่ถ้าจะให้ความร้อนน้อยกว่านั้น นี่คือสำหรับคนที่เป็นเบาหวานเลยนะคะ ฝานและผัดกับน้ำมันน้อยๆทั้งเปลือกเลยดีที่สุดค่ะ เพราะความร้อนน้อยสุด

เคล็ดลับการเลือกมันหวาน
.
ตกลงว่านี่คือบทความแม่บ้านสมองไวหรืออะไรเนี่ย
.
เลือกเอามันหวานที่มีสีส้ม ยิ่งเข้มยิ่งดี แสดงว่ามี beta-carotene เยอะเท่านั้น และเวลากินก็แย่าแกะเปลือกออกนะคะ วิตามินมันอยู่ตรงนั้น
.
คนที่เป็นเบาหวานก็กินได้นะคะ เพราะมีใยอาหารสูง มีค่า GI ต่ำ อิ่มนาน รักษาระดับค่าน้ำตาลในเลือดให้คงที่ได้นานค่ะ คุมน้ำตาลได้สบายมาก
.
มันหวานญี่ปุ่น พันธุ์ Caiapo
.
พันธุ์นี้นามรายงานวิจัยของ University of Vienna ตีพิมพ์ในวารสาร “Diabetes Care” มีการทดลองให้คนที่เป็นเบาหวาน type 2 กินมันหวานประเภทนี้ดู ก็สามารถคุมน้ำตาลได้มากค่ะ เรียกว่าลดระดับที่ลดค่าน้ำตาลลงมาอย่างน่าตกใจ
.
แต่พันธุ์นี่สีจะขาวๆหน่อยนะคะ ไม่ใช่สีส้มจัดเหมือนพันธุ์อื่น
.
ปัจจัยที่มีผลต่อค่า GI ทั้งกับมันหวาน และอาหารประเภทอื่น
.
มันหวานนี่ไฟเบอร์ หรือใยเยอะ จำไว้เลยว่าอาหารยิ่งมีใยอาหารสูงเท่าไร ค่า GI ยิ่งต่ำลงเท่านั้น และอาหารยิ่งมีไขมันสูงเท่าไร ค่า GI ยิ่งต่ำลงเท่านั้น
.
อาหารยิ่งผ่านกรรมวิธีการผลิตมากเท่าใดก็ยิ่งมีค่า GI สูงเท่านั้น พยายามเลือกอาหารที่ไม่ไก้ผ่านการแปรรูปมากนักจะดีกว่า
.
วิธีการเตรียมอาหาร มีผลต่อ GI อย่างที่บอกไป ความร้อนนี่ตัวดีเลยนะคะ
.
เวลาดูตารางค่า GI ก็อย่ายึดมั่นถือมั่น เถียงคอเป็นเอ็น ว่า ค่า GI เท่ากัน ชั้นกินได้ ใช้วิจารณญาณนิดนึง อย่า อาหารบางชนิด เช่น แครอท มีค่า GI สูง แต่มีวิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญ ในขณะที่ ไอศกรีมมีค่า GI ต่ำกว่า แต่มีน้ำตาลและไขมันอิ่มตัวสูง สารอาหารก็สู้ แครอทไม่ได้ ดังนั้นในการเลือกอาหารก็ต้องพิจารณาอย่างอื่นด้วย ไม่ใช่แค่ดูค่า GI เพียงอย่างเดียว
.
บอกระดับค่า GI ก่อนจะได้เอาไปใช้ได้ เวลาไปดูหาตารางตามอินเตอร์เน็ต
⭕️ค่า น้อยกว่า 55 = GI ต่ำ
⭕️ค่า 56-69 = GI ระดับกลาง
⭕️ค่า 70-100 = GI สูง
.
ไปซื้อมันหวานก่อนนะคะ เดี๋ยวขาดตลาด หุหุ

Ref: Miller, J. B., Pang, D., and Bramall, L. (1992). “Rice: a high or low glycemic index food”. Am J Clin Nutr, 56: 1034-1036.
Moongngarm, A. Daomukda, and Saowarose Khumpika. (2012).

Chemical compositions, Phytochemicals, and antioxidant capacity of rice bran, rice bran layer, and rice germ. APCBEE Procedia. 2: 73-79.

Sánchez-Pardo, M. E., Alicia, O., Rosalva, M., and Hugo, N. (2007). “In vitro starch digestibility and predicted glycemic index of microwaved and conventionally baked pound cake”. Plant Foods for Human Nutrition, 62, 99-105.

Shen, Y., Jin, L., Xiao, P., Lu, Y., and Bao, J. (2009). “Total phenolic avanoids, antioxidant capacity in rice grain and their relations to grain color, size and weight”. Journal of Cereal Science, 49, 106-111

เกิดอะไรขึ้นเมื่อน้ำหนักหยุดลด (weight-loss plateau)

อะไรว้า พอมาเริ่มลดน้ำหนัก เข้าตาราง เอาจริงเอาจัง อยู่ๆดีไม่ว่าดี จากที่เคยลดทุกอาทิตย์ กลายเป็นไม่ลดแล้ว น้ำหนักนิ่งสนิท ทั้งๆที่ทำทุกอย่างเหมือนเดิมหมดเลย กินเหมือนเดิม ออกกำลังกานเหมือนเดิมเด๊ะ
.
ทำไงดี ทำไงดี ทำไงดี
.
ไม่รู้หล่ะว่าที่เคยลดได้นั้นใช้วิธีไหน แต่จะบอกให้ว่าเกิดขึ้นกับทุกคนค่ะ แต่ที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุต่างกันออกไปนะคะ
.
มาดูแต่ละสาเหตุกัน

1. น้ำหนักน้ำในตัวลด


บางทีที่เราลดไป อาทิตย์ละ 4 กิโลอย่างที่เค้าโฆษณากันเนี่ย นั่นคือน้ำหนักของน้ำค่ะ
.
แต่แม้แต่กระบวนการลดน้ำหนักแบบธรรมดาก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน เพราะจากการการลดปริมาณคาร์โบไฮเดรตลงต่อวัน
.
คาร์โบไฮเดรตไม่ว่าจะในรูปของน้ำตาลหรือแป้ง ขนมต่างๆ จะถูกเก็บในร่างกายในรูปของไกลโคเจน เวลาลดความอ้วนทเราก็ต้องปรับลดปริมาณคาร์โบไฮเดรตลง
.
ไกลโคเจนในร่างกายเรา 1 กรัม จะสะสมน้ำได้ถึง 3-4 กรัมของน้ำหนักน้ำ มันจะเก็บเป็นแพ็คเกจค่ะ
.
การลดน้ำหนักในระยะแรก จึงเกิดจากการสูญเสียน้ำมากกว่า พอปริมาณคาร์โบไฮเดรตหรือไกลโคเจนน้อยลง ปริมาณน้ำที่สะสมในร่างกายก็น้อยลงไปด้วย
.
แล้วที่น้ำหนักขึ้นๆลงๆทุกวัน ก็มาจากการกินคาร์โบไฮเดรตเข้าไปมากน้อยต่างกันในแต่ละวัน อาจจะต่างไม่เยอะ แต่ก็ไม่เป๊ะหรอกค่ะ น้ำที่สะสมอยู่ในร่างกายที่รวมอยู่กับไกลโคเจนก็จะมากขึ้นหรือน้อยลงตามไปด้วย

2. ถ้าเราลดหุ่นด้วยการทำคาร์ดิโออย่างเดียว ไม่ยกเวทสร้างกล้าม สิ่งที่ร่างกายเผาผลาญเอาพลังงานมาใช้อาจจะไม่ใช่ไขมันอย่างเดียว แต่สลายกล้ามไปด้วย (เรากินน้อยลง พลังงานน้อยไกลโคเจนน้อย) พอพลังงานจากไกลโคเจนหมดก็จะไปเอาพลังงานโปรตีนจากกล้ามเนื้อมาใช้
.
ก็เลยเป็นสาเหตุที่ว่า ลดน้ำหนักมาอย่างดีเลย อยู่ๆทุกอย่างหยุด เพราะว่ากล้ามเราน้อยลง ใครที่เล่นเวทจะรู้ดีว่า กล้ามจะช่วยเผาผลาญไขมันด้ว
.
พอกล้ามน้อย ระบบการเผาผลาญก็ช้าลง การเผาผลาญก็ต่ำลง น้ำหนักเราก็ไม่ลง หยุดนิ่ง
.
ดังนั้น นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่เวลาเราลดอาหารแบบฮวบฮาบหรืออดอาหารมากินน้อยจัด กลับกลายเป็นผลเสียไป เพราะกินน้อยพลังงานจากอาหารน้อย ก็ต้องไปสลายกล้ามมาใช้ กล้ามก็น้อย ระบบเผาผลาญก็ช้าลงไป น้ำหนักที่เคยลง ก็ไม่ลง
.
วิธีที่ดีคือควรกินโปรตีนเยอะๆ ให้อิ่มมากขึ้นนานขึ้น (เพราะโปรตีนย่อยยากกว่าคาร์โบไฮเดรต) แต่ควรจะกินอาหารที่เป็น macronutrients ทั้ง 3 กลุ่มหลัก คือ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน (ที่ดี) ให้ครบ ตามสัดส่วนที่เหมาะสม เคยเขียนไปแล้วว่าทำไม ลองไปอ่านดูนะคะ

https://www.facebook.com/Befiteatwell/posts/927108364068417:0

https://www.facebook.com/Befiteatwell/posts/925572207555366:0

3. พอน้ำหนักตัวน้อยลง เราก็เผาผลาญไขมันน้อยลง
.
ตัวเล็กลง ก็เบาลงเป็นธรรมดา ไม่เหมือนตอนตัวหนักต้องอาศัยแรงเยอะในการเคลื่อนไหว อย่าว่าแต่ออกกำลังกายเลยค่ะ แค่ขยับก็เหนื่อยหนักแล้ว
.
จะทำอย่างไรให้น้ำหนักลดต่อไป? ก็ต้องออกกำลังมากขึ้น เปลี่ยนรูปแบบการออกกำลังกายไม่ให้ร่างกายชิน พอเราชิน เราก็ปรับตัวได้ การออกกำลังกายนั้นก็จะง่ายขึ้น คล่องขึ้น เราก็เบิร์นน้อยลงเป็นธรรมด
.
หรืออีกวิธีนึง คือการกินให้น้อยลง คำนวณสัดส่วนการกินใหม่ทุกๆ 2-4 กิโลกรัมของน้ำหนักตัวที่ลดไป ทำตารางบันทึกอาหาร ดูว่าเรากินเท่าไหร่ กินอะไร เวลาไหน
.
nutrient timing นี้ก็สำคัญมากนะคะ กินอะไรตอนไหน เช่น คาร์บก่อนหรือหลังออกกำลังกาย หรือกินคาร์บแบบไหน ไม่ใช่ตั้งหน้าตั้งตาลดแคลอรี่อย่างเดียว อย่าลืมเรื่องการคำนวณค่า BMR
.
Basal Metabolic Rate (BMR)คือ อัตราการความต้องการเผาผลาญของร่างกายในชีวิตประจำวัน หรือจำนวนแคลอรี่ขั้นต่ำที่ต้องการใช้ในชีวิตแต่ละวัน เราไม่ควรที่จะกินต่ำกว่าค่านั้นในแต่ละวัน ลองคำนวณดูที่นี่นะคะ

http://kcal.memo8.com/bmr/
.
เวลาเราตัวเบาลง ก็จะต้องการพลังงานการเคลื่อนไหวน้อยลง แต่ไม่ควรที่จะต่ำกว่าค่า BMR (นี่พูดถึงกรณีที่ไม่สร้างกล้ามนะคะ ถ้าจะสร้างกล้ามก็อาจจะต้องเพิ่มโปรตีนอะไรไปเพื่อซ่อมแซมกล้ามหลังการออกกำลังกาย)
.
มี App. ที่แนะนำทุกครั้งที่พูดถึงเรื่องกิน จนเกือบได้รับเชิญไปถือหุ้นแล้วนี่ คือ app. ที่ชื่อ Myfitnesspal จดบันทึกรายการอาหารในนั้น ดีที่สุดเพราะเราตั้งค่าคำนวณตามสัดส่วนอาหารและปริมาณแคลอรี่ที่เราต้องการในแต่ละวันได้ค่ะ และดูได้ว่า เรากินอะไร เท่าไหร่ ต่อวัน

4. Hit plateau จากการออกกำลังกาย
.
ทุกคนมาถึงจุดนี้หมดถ้าไม่เปลี่ยนปรับเปลี่ยนโปรแกรมการออกกำลังกาย เราเปลี่ยนโปรแกรมได้หลายแบบค่ะ
.
การทำตารางหรือจดบันทึกนั้น ไม่ใช่ทำเฉพาะบันทึกอาหารเท่านั้น แต่ควรทำตารางออกกำลังกายด้วย
.
ตารางออกกำลังกายนั้น ควรจะระบุว่า
.
– ออกกำลังกายประเภทใด เช่น คาร์ดิโอแบบไหน วิ่ง ว่ายน้ำ หรือยกเวท ยกเวทส่วนไหน เป็นต้น
.
– ความหนักเท่าไหร่ เช่น ออกแบบความหนักเท่าไหร่ (กี่เปอร์เซ็นต์ของ 1 rep max) กี่ rep/lap of กี่เซ็ต หรือถ้าคาร์ดิโอ ก็ระบุว่า ความเร็วเท่าไหร่ tempo เท่าไหร่ heart rate โซนไหน พักระหว่าเซ็ต นานแค่ไหน
.
ถ้าออกกำลังกายอยู่แล้ว 1 ชั่วโมง ก็อาจจะปรับความหนักแทน ลดระยะเวลาพักระหว่างเซ็ตลง จนเหลือ 30 วินาที ปรับท่าจากที่นอนทำ เป็นมาใช้ Swiss ball ใช้ BOSU ball เข้ามา (เปลี่ยน stability) จากที่เคยออกกำลังกายอยู่ในยิมก็ลองออกมาออกข้างนอกบ้าง จากที่เคยวิ่งลู่ไฟฟ้า ก็ลองมาวิ่งในสนามวิ่งบ้าง วิ่งในป่าแบบเทรลบ้าง แบบ city run บ้าง
.
ปรับตารางการออกกำลังกาย สลับตารางไปมาบ้างก็จะช่วยให้กล้ามเนื้อ และ ร่างกายได้ท้าทายมากขึ้น ระบบประสาทไม่เคยชินจนทำให้หยุดการพัฒนา
5. สุดท้ายคือพักผ่อนให้พอ นอนให้พอ
.
การที่ร่างกายอยู่ในภาวะเครียดจากการขาดการพักผ่อน จากการงาน จากการเทรนทำให้ร่างกายตั้งตัวให้อยู่ในสภาวะฉุกเฉินเตรียมสู้ศึกตลอดเวลา ดังนั้น เรากินอะไรเข้าไป ร่างก่ยก็จะเก็บเอาไว้เป็นทุนหมด ไขมันก็จะไม่ลด กล้ามก็จะไม่ขึ้น
.
อย่าพึ่งตกใจไปค่ะ ถ้าทำทั้งหมดที่ว่านี้แล้ว ยังปก้ไม่ได้เพราะว่า ข่าวดีคือ เราอาจจะสร้างกล้ามขึ้นมาได้ใหญ่ขึ้น กล้ามหนักกว่าไขมันนะคะ อย่าลืม นี่คือนิมิตรหมายที่ดีค่ะ
.
โทนและลีนนี่รูปร้างในฝันของใครหลายคนเลยนะคะ

เมื่อกล้ามเนื้อ 2 ข้างไม่สมดุลย์ (Muscle imbalance)

เรื่องนี้ยาก เพราะว่าเกี่ยวพันธ์กันไปหมดอีรุงตุงนัง แต่จะเขียนให้เข้าใจง่ายนี่ยากกว่าค่ะ ที่ต้องการให้เข้าใจให้ลึกซึ้ง ก็เพราะว่าจะได้เอาไปใช้กันได้จริง คนทุกคนจะมีอาการของความไม่สมดุลย์ของกล้ามเนื้อทั้ง 2 ข้างซ้าย-ขวาอยู่ จะเป็นมากจนกระทบการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือไม่ แค่ไหนเท่านั้นเอง
.
เคยเขียนเรื่องนี้ไปครั้งนึงแล้ว มีท่าออกกำลังกายให้เสร็จ ลองไปอ่านดูก่อนนะคะ

https://www.facebook.com/Befiteatwell/posts/922516547860932

(ถ้ากดลิ้งค์ไม่ไป ลอง copy แล้ว paste ไปใน Google นะคะ) แล้วมาอ่านต่อข้างล่างนี้นะคะ

วันนี้มีข้อมูลที่ลึกซึ้งกว่านั้นมาเพิ่ม จากเดิมที่เคยเขียนไปว่า ทุกคนมีข้างที่ถนัดที่จะใช้ และการที่กล้ามเนื้อไม่เท่ากันนั้น เกิดจากสาเหตุที่ว่าเราถนัดข้างใดข้างหนึ่งมากกว่า หรือการที่เราเคยบาดเจ็บในอวัยวะข้างใดข้างหนึ่งจนเราพยายามเลี่ยงที่จะใช้อวัยวะข้างนั้น แล้วไปเอากล้ามเนื้ออีกข้างนึงมาทำงานแทนจนติด จนกล้ามที่ถูกใช้งานมากตึง ส่วนกล้ามข้างที่ใช้งานน้อยก็จะหย่อนและอ่อนแรงกว่า

จะสังเกตได้ชัดเวลาออกกำลังกาย เช่น เวลาเราใช้ดัมเบล แขนข้างนึงอาจจะสู้แรงอีกข้างไม่ได้ (แต่สิ่งเหล่านี้ เราจะไม่เห็นชัดถ้าเราออกกำลังกายโดยใช้บาร์เบล เพราะแขนข้างที่แข็งแรงจะเป็นข้างที่ออกแรงยกเวทขึ้นมา ทำงานหนักอยู่ฝ่ายเดียว)
.
Muscle imbalance นี้เกิดขึ้นได้กับอวัยวะทุกส่วน ตั้งแต่สะโพก 2 ข้างที่ไม่เท่ากันหรือเบี้ยว ขาข้างนึงไม่มีแรงเท่าอีกข้างนึง อาจพาลทำให้ขาข้างนึงสั้นกว่าอีกข้างนึงได้ หรือกล้ามข้างนึงเล็กกว่าอีกข้างนึง

ร่างกายเราจะมีกล้ามเนื้อที่เกาะอยู่กับข้อต่อ (joint) ทั้ง 2 ข้าง ทำงานร่วมกันเป็นคู่ๆเป็นควบคุมการทำงานหรือทิศทางการเคลื่อนไหวของข้อต่อ คล้ายๆกับมือจับ (handles) ของจักรยาน 2 ข้าง เราจะจับแค่ข้างเดียวก็ได้เวลาขี่จักรยาน แต่ตัวจักรยานก็จะส่ายไปมา ถ้าเราจับทั้ง 2 ข้าง แรงจาก 2 ข้างจะทำให้เราควบคุมทิศทางจักรยานได้ดีกว่า
.
ถ้ากล้ามเนื้อข้างใดแข็งแรงกว่า เราก็จะเกิดอาการของ muscle imbalance เพราะเราก็จะใช้แต่ข้างที่แข็งแรงกว่าเพราะสะดวกดี รู้งาน เป็นงาน ข้างนั้นก็จะแข็งแรงขึ้นๆ แต่ในขณะเดียวกันก็จะทำให้กล้ามเนื้อข้างนั้นสั้นขึ้น ตึงขึ้น ต่างกับอีกข้างนึงที่อ่อนแอกว่า ก็จะยืดหย่อนยาน
.
เมิ่อเกิดอย่างนี้ขึ้นจะมีการดึงกระดูกส่วนต่างๆของร่างกายให้เป็นไปตามรูปแบบของกล้ามเนื้อข้างนั้น ส่วนนั้น ในที่สุดกระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก ไหล่ คอ ขา ก็จะเปลี่ยนเบี้ยวไปตามลักษณะกล้ามเนื้อ
.
เหมือนจักรยานอีกนั่นแหละค่ะ ถ้ามือข้างนึงของเราสั้นกว่าอีกข้างนึง เราก็ต้องปรับท่าขี่ จะเอียงตัวจะอะไรก็ตามเพื่อที่ว่าเราจะได้จับ handles ได้ทั้งสองข้างและขี่จักรยานไปได้เป็นเส้นตรง ไม่เฉไปเฉมา ก็จะเมื่อย

เพราะว่า ร่างกายเราจะจัดหน้าที่ความสำคัญของร่างกายจาก การอยู่รอดเป็นสิ่งที่สำคัญสูงสุดลงไปไงคะ
.
การสร้างกล้ามนี้แทบจะเรียกว่าเป็นความสำคัญขั้นต่ำสุดเลย หัวเรานี่สำคัญสุด เพราะมีสมอง ตาไว้ดู หูฟัง ฟันไว้เคี้ยว จมูกไว้หายใจ ดังนั้นทุกอย่างที่ต่ำไปกว่าคอ จะค่อยๆปรับตัวตามทิศทางที่หัวเราเคลื่อนไป
.
สิ่งเหล่านี้เกิดมาก่อนพวกอาการ office syndrome ที่เราพูดถึงกันอีกค่ะ office syndrome นี่ทำให้เราอาการแย่หนักไปกว่าเดิมเท่านั้นเอง อะไรที่ไม่ดีอยู่แล้ว หรือปัญหาที่เคยเบลอๆ ก็จะชัดขึ้น เท่านั้นเอง
.
ยกตัวอย่างเช่น ตาเรา จะต้องรักษาระดับที่เรียกว่า horizontal gaze มองเห็นเป็นแนวราบ หรือ zero point of reference เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ใต้คอลงมา ต้องทำทุกอย่างให้ตาเรามองได้ในระดับนั้น ตั้งแต่เอียงไหล่ ยื่นคอ อะไรก็ได้ ถ้าหลังเรางอ เราก็ต้องยื่นคอตั้งออกไปเพื่อให้เรารักษาระดับ zero point นั้นเอาไว้ให้ได้

ไม่ว่าปัญหาจะมาจากหลัง จากหัว จากสะโพก หรืออะไรก็ตาม ตาเราต้องรักษาระดับการมองให้ได้ ดังนั้น postural หรือ muscle imbalance จึงเกิดขึ้น ได้ตั้งแต่เด็ก หรือช่วงไหนที่บาดเจ็บ เกิดกับใครก็ได้ ไม่ใช่เกิดจาก office syndrome อย่างเดียว .

หรืออาจจะเกิดจากระบบทางเดินหายใจที่ไม่ดี หูข้างนึงตึงกว่าอีกข้างนึง ทำให้เราต้องคอยเอียงไหล่ไปข้างหน้า 1 ข้างเพื่อที่จะให้ได้ยินชัดขึ้น พอทำบ่อยๆเข้าก็เกิดความไม่สมดุลย์ได้เหมือนกัน
.
ทุกอย่างนี้เราทำไปโดยอัตโนมัติเพื่อที่ให้ การมองเห็น ได้ยิน เคี้ยว หายใจ เป็นไปได้อย่างคล่องตัวที่สุด เพื่อความอยู่รอด

ความถนัดที่เกิดขึ้นทีละนิดจากเหตุผลของการอยู่รอด (survival) นี้ถ้าไม่แก้ที่สาเหตุก็จะสะสม จนเกิดเป็นนิสัย จนทำให้เกิดกล้ามเนื้อสองข้างไม่เท่ากัน ไม่ใช่แค่กล้ามเนื้อนะคะ แต่ความสมดุลย์ของร่างกายคลาดเคลื่อนไปหมดตั้งแต่ คอ ไหล่ เอว หลังล่าง สะโพก ต้นขา เข่า ข้อเท้า เท้า ข้อต่อทุกส่วนของเราเชื่อมโยงกันหมดค่ะ เป็นลูกโซ่ กล้ามเนื้อก็เหมือนกัน หรือแม้กระทั่งประสาทสั่งงานให้ข้างที่ชินทำงานโดยอัตโนมัติ เอาแรงจากข้างที่ไม่ใช้มาใช้ซะ

อธิบายก่อนแป๊บนึงคร่าวๆว่า สมองเราสั่งการ ลงมาตาม กระดูกสันหลัง ไปปลายประสาท ไปยังกล้ามเนื้อ และจากกล้ามเนื้อส่งสัญญาณความรู้สึกกลับขึ้นไปสู่สมอง ดังนั้นเราถึงได้กะถูกไงคะว่าจะยกของชิ้นนี้ เราต้องใช้แรงแค่ไหน ไม่ใช่ส่งแรงมั่วเต็มร้อยในการยกตั้งแต่ฟองน้ำจนถึงเก้าอี้ เป็นต้น นี่ยกตัวอย่างคร่าวๆให้พอเห็นภาพว่า เราส่งสัญญาณกลับไปกลับมา สื่อสารกับสมองตลอดเวลา ข้างไหนใช้แรงเยอะ สมองก็จะกระตุ้นให้กล้ามเนื้อข้างนั้นออกแรงได้เยอะกว่า ประสาทข้างนั้นก็จะถูกฝึกให้ทำงานได้กระฉับกระเฉงกว่า ส่วนอีกข้างก็จะช้าลง น้อยลง

กระดูกสันหลังตั้งแต่ข้อบนจนถึงข้อสุดท้ายจะสื่อสารกันตลอด กระดูก C1 ข้อแรก (ตามรูป) จะเป็นเหมือนประตูจากสมองมายังกระดูกสันหลังช่วงตัว ส่วน L5 เป็นประตูด้านล่างของกระดูกสันหลังที่รอรับส่งสัญญาณกับ C1 ว่าจะเอายังไง ให้รับใช้อย่างไรได้บ้าง เช่น ยืนบิดสะโพกเพื่อให้คอตั้งตรงเพราะว่า อย่างที่บอก ทุกอย่างที่อยู่ใต้คอ จะค่อยๆเคลื่อนตัวไปตามทิศทางที่หัวเราพาไป
.
นักวิทยาศาสตร์จะเรียกความสัมพันธ์ของกระดูกสันหลังส่วนบนกับส่วนล่างนี้ว่า “Lovett-Brother”
.
“Lovett-Brother” เป็นความสัมพันธ์ที่
ช่วยให้ตัวเรายืนหยัดอยู่ได้ สื่อสารกันเป็นคู่ๆไป ข้อบน กับข้อล่าง กระดูกสันหลังเราจะบิดเบี้ยวอย่างไรนั้น บางครั้งไม่ได้อยู่ที่ปัจจัยภายนอก แต่อาจจะอยู่ที่ปัจจัยภายใน หรืออวัยวะภายในที่ผิดปกติ ทำให้เราต้องเอียงตัว เอนตัว งอตัว เพื่อความอยู่รอด

ดังนั้น ถ้ามีปัญหากล้ามเนื้อไม่เท่ากันนี้ ลองมองให้ลึกขึ้น ตรวจสุขภาพภายในว่า เรามีปัญหาอะไรที่อะไรที่ซับซ้อนเกินไปกว่า ความถนัดหรือไม่ แล้วค่อยมาแก้ไขปัญหาภายนอกกัน แก้ได้ค่ะ ไม่ได้เกินความสามารถหรอก ตั้งจิตเตือนตัวเองให้หัดใช้งานในข้างที่ไม่เคยใช้บ้าง ออกกำลังกายแบบที่เคยเขียนไว้แล้ว ตามลิ้งค์ที่ให้ไว้ข้างบน
.
ว่าแล้วก็บังคับให้กลับไปอ่านเรื่องที่เคยเขียนไว้ ว่าจะบริหารจัดการอย่างไร ให้ข้างที่อ่อนแอ เข้มแข็งขึ้นมาได้เท่าเทียมกัน
.
คนอ่านเพจนี้เนี่ยรักการอ่านอยู่แล้วเนอะ ใช่ไม๊คะ

Ref: https://www.facebook.com/Befiteatwell/posts/922516547860932

LOVETT BROTHER RELATIONSHIP OF THE SPINE by Charles L. Blum.

Lovett R.W., ‘Lateral Curvature of the Spine and Round Shoulders’, P. Blakiston’s Son & Co.: Philadelphia, PA, 1913: 1-192.

Walther, D.S., ‘Applied Kinesiology: Volume I, Basic Procedures and Muscle Testing’, Systems DC, Pueblo, CO, 1981: 67.

DeJarnette, M.B., ‘Sacro Occipital Technique Convention Notes 1965 : Part Two’, Nebraska City, NB, 1965: 51-69

ข้อผิดพลาดที่ทำให้นักวิ่งหน้าใหม่เหนื่อยง่าย (นอกจากเหตุผลที่ว่าไม่ฟิตแล้ว)

เขียนเรื่องหนักๆมาหลายวันเแล้ว วันนี้มาเขียนเรื่องการเริ่มต้นวิ่งสำหรับนักวิ่งหน้าใหม่ มีคนถามมาหลายทีแล้ว ก็ไม่มีโอกาสเขียนซักที ว่าเราตั้งข้อสังเกตอะไรไว้บ้าง ที่ทำให้คนที่พึ่งหัดวิ่งรู้สึกว่าการวิ่ง เป็นกีฬาที่เหนื่อยเหลือเกิน
.
ข้อสังเกตเหล่านี้อาจจะตรงกับบางคน แค่บางข้อ และอาจจะเป็นสิ่งที่นักวิ่งหน้าเก่าเห็นว่าเป็นเรื่องรายละเอียดที่เล็กน้อยมาก แต่สำหรับคนที่พึ่งเริ่มวิ่ง รายละเอียดเหล่านี้อาจจะช่วยทำให้การวิ่งเป็นเรื่องที่ไม่ยากเย็นแสนเข็นมากจนรู้สึกท้อถอยค่ะ

1. วิ่งมองลงต่ำ
.
มีนะคะ นักวิ่งหน้าใหม่บางคนที่ชอบวิ่งไปมองเท้าตัวเองไป หรือก้มมองพื้นแบบกลัวสะดุด เข้าใจว่าไม่คุ้นเคยนะคะ แต่ทีนี้เราควรจะเงยหน้าขึ้นมามองโลกบ้าง มองไปข้างหน้า ดูว่าอนาคตเราจะไปอยู่จุดไหนก็ได้ค่ะ จะได้มีกำลังใจ ไม่หรอก แค่มองพื้นข้างหน้าแบบไกลๆหน่อยก็พอ เพราะว่าเวลาคอเราพับ เราจะมีแนวโน้มที่จะไหล่ห่อ หลังค่อมตามมา
.
หลังค่อม ไหล่ห่อก็ทำให้ปอดเราแคบไงคะ สูดอากาศเข้าได้ไม่เยอะ เราก็เหนื่อยง่าย เหนื่อยเร็วกว่าชาวบ้านเค้า ทำให้วิ่งได้ไม่เยอะ

2. ใส่รองเท้าผิดเบอร์ ผิดแบบ
.
ไม่ใช่ว่านึกจะวิ่งแล้วก็ไปคว้าเอารองเท้าผ้าใบสมัยมอปลายมาใส่ อย่างงี้ไม่ได้นะคะ รองเท้าวิ่งก็คือรองเท้าวิ่ง เราต้องลองที่ร้านมาแล้ว ถ้าจะให้ดีกว่านั้น เราใส่และลองวิ่งที่ร้านมาแล้ว มีพนักงานผู้เชี่ยวชาญ (คนที่ไม่ได้ยืนแกะสิวเฉยๆอ่ะค่ะ) มาแนะนำให้
.
เพราะอะไร เพราะว่าต่อให้นักวิ่งหน้าเก่าก็เถอะ กิโลแรกเนี่ย จะเป็นจะตายกันให้ได้ ข้ออ้างในหัวสารพัด ดังนั้นถ้าเอาข้ออ้างที่ว่ารองเท้าเจ็บเข้ามาเพิ่มอีกเนี่ย อาจวิ่งได้แค่ 42.195เมตร เท่านั้น
.
รองเท้าวิ่งที่ดี ที่เหมาะ อาจมีขนาดที่ต่างจากขนาดรองเท้าที่เราใช้เดินกันอยู่ทุกวันนะคะ เราควรจะเผื่อช่องว่างให้กับเท้ามากกว่าเดิมหน่อยค่ะ ถึงจะใส่วิ่งแล้วไม่เจ็บ บางคนวิ่งไปแล้วเท้าพองขึ้นมาอีกนิดๆ ยิ่งวิ่งไประยะมากๆเท่าไหร่ ถ้าเผื่อพื้นที่เอาใว้ให้เท้าเราขยับขยายบ้าง เราก็จะได้ไม่รู้สึกเจ็บคับเกินไปค่ะ

3. ก้าวขายาวเกินเหตุ
.
แปลว่าเวลาที่เท้าเราก้าวลงไปที่พื้นข้างหน้า เท้าเราอยู่ไกลนำไปจากสะโพก ซึ่งแปลว่าจะส่งแรงกระตุกขึ้นมาที่ขาทีละก้าว ทุกๆก้าว
.
เข้าใจว่าในนักวิ่งหน้าใหม่เนี่ย เวลาเริ่มวิ่ง จะกดดันตัวเอง (บางคนนะคะ) ให้ฮึกเหิมก้าวไปไกลๆ จะได้เคลื่อนตัวไปเร็วๆๆๆตามเพื่อนให้ทัน หรือกลัวคนว่าว่าวิ่งช้า ก็เลยก้าวขายาวๆเข้าไว้ จะได้ดูกระฉับกระเฉง
.
อย่าไปสนใคร นี่คือกฏข้อแรก ข้อสองคือ เวลาวิ่งเนี่ย พลังแรงควรจะมาจากก้น และก็ตรง hip extensor (ซึ่งก็คือกล้ามเนื้อสะโพกกลุ่มที่พาดจากก้นมาที่ข้อต่อตรงสะโพกด้วย) สรุปคือพลังมาจะสะโพกและก้น
.
ลองก้าวขาให้สั้นลง แทงเข่าให้สูงขึ้น และพยายามให้เท้าแตะพื้นใต้ตัวเราหรือใกล้เคียงจะป้องกันการบาดเจ็บได้ค่ะ
4. แกว่งแขนข้ามตัว
.
ส่วนใหญ่การที่แขนแกว่งข้ามตัวไปมา เป็นเครื่องชี้ว่า ลำตัวเราไม่แข็งแรงพอ ไม่นิ่งพอ วิ่งไปตัวเราก็จะแกว่งไปด้วย ก็เหนื่อยขึ้นไปอีก
.
การที่เราออกกำลังกายเพื่อเพิ่ความแข็งแรงให้กับลำตัว (core strength) ทั้งกล้ามเนื้อด้านหน้า และด้านหลังจะช่วยสร้างความสมดุลย์ให้กับร่างกายเวลาวิ่งค่ะ
5. เริ่มต้นก็อยากจะวิ่ง 5K เลย
.
ถ้าเราไม่เคยวิ่ง ออกกำลังกายมาเลย เราจะลุกขึ้นมาวิ่งรวดเดียวไม่ได้ และไม่ควรด้วยค่ะ ลองวิ่ง 3 นาที เดิน 3 นาทีไป จนกว่าจะครบ 3 นาที แล้วค่อยๆเพิ่มเวลาวิ่ง แล้วลดเวลาเดินลง จนกระทั่งวิ่งได้ตลอดโดยไม่หยุด
.
อย่าตั้งเป้าหมายที่สูงเกินไปที่จะทำให้ตัวเองผิดหวังค่ะ เพราะจะทำให้เราล้มเลิกความตั้งใจที่จะวิ่งไปเลยได้
6. หายใจไม่เป็นจังหวะ
.
หายใจให้เป็นจังหวะตามจังหวะที่เราก้าวเท้า เช่น 2 ก้าว หายใจเข้า 2 ก้าว หายใจออก หรือจะเป็นจังหวะอะไรก็ได้ตามที่เราคิดว่าเข้ากับเรา เป็นการป้องกันการหายใจแบบกระหืดกระหอบ ไม่เป็นจังหวะ ซึ่งจะทำให้เราเหนื่อยง่ายค่ะ

เคยเขียนเรื่องการหายใจเอาไว้ ลองอ่านดูนะคะ

https://www.facebook.com/Befiteatwell/posts/873190209460233:0

7. มัวแต่นึกพะวงอยู่แต่ว่า ทำไมตัวหนัก ขาหนักอย่างนี้
.
ถ้ามัวแต่นึกว่าทำไมทุกย่างก้าวมันหนัก มันยากอย่างนี้ เราก็จะเหนื่อยง่ายกว่าค่ะ พยายามเบี่ยงเบนความสนใจไปเรื่องอื่นจะดีกว่า อย่างน้อยจนกว่าเราจะฟิตเข้าที่ จะเป็นฟังเพลง หาเพื่อนวิ่งคิดเรื่องอื่นไป หรืออะไรก็ตามแต่ค่ะ
8. วิ่งอย่างเดียวโดยไม่ออกกำลังกายแบบอื่นเลย
.
การวิ่งเป็นการออกกำลังกายที่ดีในตัวของมันเอง ถูกค่ะ แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่เราจะไม่ทำการออกกำลังกายเพื่อ ‘เสริม’การวิ่ง เช่น การทำ strength training การออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ ก้น และสะโพก เป็นอย่างน้อย (นอกเหนือจาก core แล้ว) เพื่อให้ฟอร์มการวิ่งของเราดีแล้ว การออกกำลังกายในกล้ามเนื้อ 2 ส่วนนี้จะช่วยสอนให้ร่างกายเรา ตื่นขึ้นมาใช้กล้ามเนื้อทั้งสองนี้ในการวิ่งให้ดีและป้องกันการบาดเจ็บอีกด้วยค่ะ
.
จริงๆแล้วมีกล้ามเนื้ออีกหลายกลุ่มที่นักวิ่งควรจะทำนะคะ เคยเขียนเอาไว้

https://www.facebook.com/Befiteatwell/posts/921108268001760

https://www.facebook.com/Befiteatwell/posts/916388488473738:0

ควรทำตั้งแต่ กล้ามเนื้อเท้า กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง (hamstrings) ต้นขาด้านหน้า (quadriceps) น่อง หลัง แม้กระทั่งแขน (ลองแกว่งไปซัก 5 กิโลแล้วจะรู้) แต่เริ่มต้น เอา 2 กลุ่มนี้ก่อนก็พอนะคะ พอดีหมดอารมณ์กัน

9. งอเอนตัวไปข้างหน้ามากเกินไปเพราะสะโพกติด
.
ติดก็เลยวิ่งไปแบบงอๆงั้นแหละค่ะ แรงที่ควรจะมาจากก้น ก็กลายเป็นมาจากส่วนอื่นแทน คนส่วนใหญ่ทำงานแบบนั่งโต๊ะกันทั้งวัน วันละหลายชั่วโมง วันนึงอยู่ๆตัดสินใจลุกขึ้นมาวิ่ง ก็มักจะมีปัญหากล้ามเนื้อสะโพกด้านหน้า (hip flexors) ตึง พอเริ่มวิ่ง สะโพกตึง ก็ทำให้เราเอนยื่นตัวไปด้านหน้ามากเกินไปค่ะ
.
ทางแก้ก็คือพยายามยืดกล้ามเนื้อสะโพก ตรง hip flexors ยืดกล้ามเนื้ออก หรือทำ dynamic warm up ก่อนวิ่งก็จะดีนักแลค่ะ ไม่เกี่ยวหรอกว่าจะวิ่งแค่กิโลเดียว สอง กิโล ทำให้เป็นนิสัย จะทำให้การวิ่งง่ายขึ้น คล่องขึ้นค่ะ

เคยเขียนเรื่องนี้ไว้ ว่าการทำ dynamic warm up ดีอย่างไร ลองอ่านดูค่ะ

https://www.facebook.com/Befiteatwell/posts/873381306107790:0

10. ไม่ยอมยืดแบบ dynamic stretching (warm up) ก่อนวิ่ง
.
อายเค้า ท่าแปลกๆ นักวิ่งหน้าใหม่ชอบคิดอย่างงี้ การยืดมี 2 แบบใหญ่ๆนะคะ คือ
.
⭕️ Dynamic stretching คือเป็นการยืดที่ใช้การเคลื่อนไหว (movement) มาช่วยในการทำให้กล้ามเนื้อยืดหยุ่นและตื่นตัว เตรียมพร้อมกล้ามเนื้อส่วนที่กำลังจะใช้ ให้ตื่นตัวเลือดหลั่งไปเลี้ยง ส่วนใหญ่ก็ควรจะทำในอวัยวะส่วนที่กำลังจะใช้ในกีฬานั้นๆนะคะ
.
⭕️Static stretching คือการยืดแบบที่ยืนอยู่กับที่ เป็นการคลายกล้ามเนื้อจากที่เกร็งและหด (contract) ซ้ำๆมาเป็นเวลานานๆให้ยืดออก คลายตัว ไม่งั้นก็จะเกิดความเครียดสะสม และในที่สุดก็จะเกิดอาการบาดเจ็บได้ง่ายค่ะ
.
ดีทั้งสองอย่างนะคะ แต่ก่อนเราต้องต้องยืดแบบเคลื่อนไหวค่ะ และการยืดแบบ Static stretching คงรจะทำหลังวิ่ง เพื่อให้กล้ามเนื้อไม่ตึงเกินไปจนเกิดการบาดเจ็บได้ถ้านานๆเข้า

วันนี้เอาท่า dynamic warmups กลับมาให้อ่านใหม่นะคะ ลองเซฟไปทำตามดูค่ะ

https://www.facebook.com/Befiteatwell/posts/862251040554150:0

11. วิ่งเข่าตีกัน
.
นี้เป็นนักวิ่งอีกกลุ่มที่เริ่มวิ่งแล้วไม่ยอมก้าวขาออกวิ่ง พอเวลาเท้าแตะพื้น เข่าก็จะบิดเข้าหากัน
.
จริงๆแล้ว นอกจากอายและไม่ชินแล้ว น่าจะเกิดจากการที่กล้ามเนื้อก้นไม่แข็งแรงค่ะ กล้ามเนื้อก้นไม่แข็งแรงนี่เป็นปัญหาของนักวิ่งส่วนใหญ่เลยนะคะ เป็นต้นเหตุของการบาดเจ็บของขาส่วนใหญ่
.
พอก้นไม่แข็งแรง ต้นขาก็บิด เวลาวิ่ง ส่วนใหญ่ก็จะบิดเข้าหากัน นานๆเข้าก็จะเกิดปัญหา IT band. หรือเข่าเจ็บ ค่ะ

12. พร่ำคิดบอกตัวเองว่า เราไม่ใช่’นักวิ่ง’
.
กำลังใจเต็มๆเลยนี่ พอเราคิดอย่างนี้แล้ว มีความเป็นไปได้สูงที่จะเลิกล้มกลางคันได้ค่ะคิดให้กำลังใจตัวเอง เอาเป้าหมายงานวิ่งที่สมเหตุผลมาเป็นเครื่องจูงใจก็ได้ค่ะ

13.ดื่มน้ำมากเกินไป
.
ถ้าร้อนนี่ไม่ว่านะคะ แต่น้ำนี่ไม่ได้แก้เหนื่อยนะคะ เคยเห็นบ่อยมากๆๆๆๆ วิ่งเช้า อากาศเย็นแค่ไหน ต้องแวะดื่มน้ำทุกกิโล เป็นอะไร!?
.
ถ้าเราดื่มมากเกิน หรือ overhydrate เราก็จะรู้สึกจุกได้ (แต่ไม่ดื่มให้เพียงพอก็จะมีปัญหาขาดน้ำหรือ dehydration) พยายามหาความสมดุลย์ค่ะ ถ้าวิ่งระยะใกล้ๆ 2-3-4 โล ตอนเช้าตรู่แดดยังไม่ออก หรือวิ่งในยิมเปิดแอร์ ไม่ต้องกินทุก 10 นาทีก็ได้ค่ะ ใช้วิจารณญาณเอา และพยายามอย่าใช้การแวะซื้อน้ำ ดื่มน้ำ เป็นข้ออ้างในการหยุด เรารู้ตัวเราดีแหละนะคะ หลอกใครก็หลอกได้
.
ถ้าจะเอาให้ชัวร์นะคะ ชั่งน้ำหนักก่อนวิ่ง และหลังวิ่งเลยว่าเราเสียน้ำไปเท่าไหร่ แล้วเราดื่ม/จิบปริมาณนั้นกลับคืนเลยค่ะ ใช้เป็นเกณฑ์ในการวิ่งครั้งต่อไป จะได้กะมาถูก เอาให้เป๊ะ
.
Enjoy running ค่ะ นักวิ่งทั้งหลาย

Kinetic Chain : การเคลื่อนไหวของร่างกายกับการหายใจ

ถ้าเรารู้จักกันมาพอสมควร จะรู้ว่าเทรนเนอร์คนนี้มีนายที่เป็นเทพเรื่อง Extreme Human Movement เวลาที่มีประชุมรายเดือนกันที ก็จะได้ไอเดียมาเขียนเรื่อง (ที่คิดว่าน่าสนใจ) ที
.
ต้องรีบบอกว่าเรื่องนี่น่าสนใจ เพราะหัวเรื่องอ่านแล้วชวนหลับ แต่อย่าพึ่งหลับนะคะ
.
เรื่องนี้ลึกซึ้งแต่สำคัญค่ะ
.
เมื่อ 2 วันก่อนมีประชุม ก็เลยได้เรื่องนี้มาเขียน
.
เคยต้องเริ่มการประชุมในท่าคลาน 4 ขานิ่งๆรึเปล่าคะ? อืม..พึ่งเคยเมื่อวันก่อนนี้เหมือนกันค่ะ ไม่ได้ทำท่าคลาน 4 ขาเฉยๆนะ แต่มีไม้พลองเบาๆ พาดแกนกลางหลังจากหัวไปหางเลยทีเดียว…เลี้ยงเอาไว้ให้ได้ ทำอยู่ 10 นาที
.
เราคุยกันเรื่อง Kinetic chain กันค่ะ

เบื้องหลังความคิดของ kinetic chain คือทุกส่วนของร่างกายเรา ตั้งแต่กล้ามเนื้อ ข้อต่อ เส้นประสาท จะต้องทำงานร่วมกันเพื่อสร้างให้เกิดความเคลื่อนไหว
.
ยกตัวอย่างการออกกำลังกาย การทำ bicep curls การเคลื่อนไหวของ kinetic chain ก็คือการทำงานของกล้ามเนื้อ ของประสาทสั่งงานที่แขนและไหล่ ที่จะต้องประสานงานกัน เพื่อที่จะให้เกิดการงอของข้อศอก เพื่อที่จะยกเวทขึ้นมา – ไม่ใช่สักแต่ยกหนักๆและเพ่งเล็งเฉพาะการทำงานของ กล้ามเนื้อ biceps เท่านั้น
.
จุดประสงค์ที่แบ่งการทำงานแจกแจงออกมาซะละเอียดขนาดนี้ ก็เพื่อให้เราตัดสินใจได้ว่า การออกกำลังกายแบบนี้ ท่านี้ เหมาะกับเราหรือกีฬาของเราหรือไม่ ไม่ใช่ว่า เราต้องการแขนใหญ่ แต่ไหล่เจ็บก็ฝืนๆทำไป กล้ามเนื้อที่เข้ามาทำงานแทนไหล่โดยอัตโนมัติก็จะพลอยบาดเจ็บไปด้วยเพราะทำงานเกินหน้าที่ หรือไม่ตรงหน้าที่

กินกาแฟก่อนไม๊คะ….ต่อนะต่อ…
.
Kinetic Chain Movement ถูกแบ่งออกเป็น 2 แบบตามลักษณะการเคลื่อนไหว
.
แบบแรกคือการเคลื่อนไหวจากแขนและขาเข้าสู่แกนกลางลำตัว (Closed Kinetic Chain) แบบที่สองคือการเคลื่อนไหวจากแกนกลางลำตัวไปสู่แขนและขา (Open Kinetic Chain)

⭕️Closed Kinetic Chain Exercises (CKC)
.
การออกกำลังกายแบบนี้ มือ เท้าเราต้องเกาะติดยึดอยู่ในที่เดียว (ส่วนใหญ่ก็จะเป็นพื้นนะคะ) เช่น Push ups
.
การออกกำลังกายแบบ closed chain นี้จะเป็นการออกแบบหลายข้อ (multiple joints) กล้ามเนื้อหลายกลุ่ม (multiple muscle groups) ในเวลาเดียวกัน เช่น การทำ squat ซึ่งก็จะใช้ เข่า สะโพก ข้อเท้า และกล้ามเนื้อ กลุ่มต้นขาด้านหน้า (quads) ต้นขาด้านหลัง (hamstrings) hipflexors น่อง (calves) ก้น (glutes)
.
การออกกำลังกายแบบ closed chain สามารถจะทำโดยใช้เวทหรือไม่ใช้เวทก็ได้ แต่เวลาที่ใช้เวท ส่วนใหญ่จะวางเวทใว้ที่บริเวณหลัง บ่า หรือด้านหน้าหน้าอก ซึ่งจะเป็นที่ที่ถือว่าปลอดภัยสำหรับการออกกำลังกายแบบนี้ มากกว่าการเอาเวทไปใว้ไกลจากตัวเหมือนการออกกำลังกายแบบ opened chain ตัวอย่างการออกกำลังกายแบบ closed chain ก็มี pushups, pull-ups, squats, and lunges
.
⭕️Open Kinetic Chain Exercises (OKC)
.
ง่ายๆเลยนะคะ แบบเปิดหรือopen เนี่ยคือแบบที่มือและ/หรือเท้าเรามีอิสระในการเคลื่อนไหว (นึกท่า chest press เข้าไว้ มือเท้าเราอิสระ มีเฉพาะหลังที่ติดเบาะ)
.
การเคลื่อนไหวแบบนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นการเคลื่อนไหวแบบ isolate คือ ใช้กล้ามเนื้อกลุ่มเดียวเป็นหลัก ใช้ข้อต่อ (joint) เดียวในการเคลื่อนไหว หรือเช่น การทำ leg extension ข้อต่อที่เคลื่อนไหวอยู่ข้อเดียวคือ เข่า และกลุ่มกล้ามเนื้อที่ข้อต่อนี้แยกออกมาออกกำลังแรง ก็คือกลุ่มกล้ามเนื้อด้านหน้าของต้นขา (quadriceps)
.
การออกกำลังกายแบบ Open chain นี้สามารถทำได้โดยใช้เวท หรือไม่ใช้เวท แต่เวลาที่ใช้เวท เราจะวางเวทในระยะที่ไกลไปจากช่วงตัว หรือเรียกอีกอย่างนึงคือ เอาเวทไปไว้ตามแขน ขา ไกลๆ เช่น ข้อเท้า หรือถือไว้ที่มือ
.
การออกกำลังกายประเภทนี้ก็มีพวก biceps curls, leg curls, leg extensions, chest press

แล้วทำไมถึงต้องรู้ด้วยว่า closed chain หรือ opened chain
.
เพราะการส่งแรงจากลำตัวสู่แขนขา หรือจากแขนขาเข้าสู่ลำตัวนั้น ความสำคัญของกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว (core) มีความสำคัญมากที่คนมักมองข้าม เปรียบเหมือนเครื่องยนต์รถที่มีแขนขาเป็นล้อหมุนไป ถ้ากล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวขาดความแข็งแรงโคลงเคลงก็จะทำให้การออกแรงไปสู่แขนและขานั้นลดลงไปด้วย ล้อพังอีก
.
เนื่องจากการออกแรงจากลำตัวส่งไปสู่แขนและขานั้น กล้ามเนื้อในส่วนแกนกลางลำตัวจะเป็นส่วนแรกที่ทำงาน โดยที่เราไม่รู้ตัวว่ามันได้ทำงานก่อนที่แขนและขาจะเคลื่อนไหวแล้ว
.
แค่นั้นไม่พอ เวลาเราออกกำลังกายยกน้ำหนัก หรือแม้แต่วิ่ง เราคงเคยรู้กันมาบ้างว่า เราต้องเกร็งส่วนหลัง หน้าท้อง และจัดกระดูกเชิงกราน (engage core) ก่อนที่จะส่งแรงยก หรือระหว่างวิ่ง เพื่อที่จะส่งแรงช่วยปกป้องกระดูกสันหลัง อวัยวะภายใน และเชิงกรานไม่ให้บาดเจ็บอีกด้วย
.
มีงานวิจัยศึกษาเรื่องการหดตัวของกล้ามเนื้อหน้าท้องที่มีผลต่อการเคลื่อนไหวของขา ผลจากการทดลองพบว่าปฏิกิริยาตอบสนองของกล้ามเนื้อหน้าท้องจะเกิดขึ้นก่อนการเคลื่อนไหวของขาในทุกๆการเคลื่อนไหว
จริงๆแล้วกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวมีหน้าที่สําคัญหลายอย่างนะคะ ตั้งแต่เป็นส่วนท่ีช่วยรับแรงกระแทก (ShockAbsorbers) เมื่อมีการกระโดดข้ึนลงหรือการเคลื่อนท่ี ด้วยการกระโดดหรือวิ่ง
.
ลำตัวเป็นส่วนที่ช่วยสร้างความมั่นคงและความสมดุลในการเคลื่อนไหวให้กับร่างกาย(Stabilise) และ เป็นส่วนท่ีเช่ือมต่อระหว่างแขนและขา ช่วยให้เกิดความสัมพันธ์และประสิทธิภาพในการเคลื่อนไหว
.
ดังนั้นการที่เรารู้จัก kinetic chain movement จะทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่า เราต้องแรงโฟกัสไปที่ใดให้ส่งแรง ไม่ใช่โฟกัสเฉพาะส่วนที่เคลื่อนไหวอย่างเดียวและทำไมการหายใจที่ถูกต้องโดยสำคัญต่อการออกกำลังกาย

 

กลับไปที่การประชุมที่นายให้ทุกคนลงคลานบนพื้นนิ่งๆ 4 ขา แล้ววางไม้พลองลงพาดตรงกลางจากหัวจนถึงก้น หายใจโดยที่ไม้ไม่กลิ้ง

.
ใช้ท้องหายใจโดยที่อกผาย กล้ามเนื้อหลังตอนบน (traps) ผายออก แต่ไหล่ไม่เกร็ง หลังล่างไม่แอ่น มือลอดผ่านใต้ไม้ไม่ได้เต็มมือ เข่าตรงกับข้อศอก มืออยู่บนพื้นตรงระยะที่ใต้ไหล่พอดี….แล้วหายใจเข้าออกลึกๆ โดยไม่ขยับหลัง แล้วเลี้ยงไม้พลอง กลมๆนี้ไว้ให้ได้
.
แค่นี้ก็เหงื่อแตกกันแล้วค่ะ เพราะเชื่อว่าไม่มีใครหายใจโดยไม่ควบคุมตัวเองแล้วได้เป๊ะทุกส่วนตามที่ร่ายมาข้างต้น
.
ดังนั้นการออกกำลังกายเราต้องควบคุมตั้งแต่การหายใจ กระดูกสันหลัง การเคลื่อนไหวของอวัยวะแต่ละส่วนจากกล้ามเนื้อและข้อต่อที่ถูกต้อง ชั่วโมงนึงของการออกกำลังกาย ถ้าทำได้ครบแบบนี้ ไม่ต้องทำหลายท่าก็เหนื่อยมากพอค่ะ
.
ยกแม่น้ำทั้ง 5 มาอธิบายและนอกเรื่องไปไกลมากก็เพื่อจะได้เห็นภาพมากขึ้นนะคะ อย่าได้เคืองกัน

มาต่อๆนะคะ
.
การออกกำลังกาย แบบ closed chain เป็นการเลียนแบบกิจกรรรมการใช้ชีวิตของเรา หรือ เป็น functional training นั่นเอง เป็นการฝึกการทำงานประสานกันของกล้ามเนื้อหลายๆส่วนอย่างเหมาะสม เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน หรือการเล่นกีฬา
.
การดำเนินชีวิตหรือการเล่นกีฬาจะใช้กล้ามเนื้อและข้อแบบหลายกลุ่ม หลายข้อพร้อมๆกัน (multiple joint and muscle movements) น้อยมากเลยที่ ในชีวิตประจำวันที่เราจะทำกิจกรรมอะไรแบบที่ใช้ข้อเดียว กล้ามเนื้อกลุ่มเดียว
.
การออกกำลังกายแบบ closed chain จะปลอดภัยกับข้อมากกว่าแบบ opened chain เพราะว่าแรงดัน (force) จะเป็นแบบที่เรียกว่า ‘compressive’ แปลว่าเป็นแรงดันนี้ช่วยในเรื่องเสถียรภาพของข้อต่อ (stabilised) ทำให้ข้อต่อแข็งแรงมากขึ้นอีกด้วยค่ะ
.
ถ้าเราทำฟอร์มได้ถูกต้อง เช่น การทำ lunges หรือ squats ที่คนกลัวกันนักหนานั้นว่าไม่ดีกับเข่า แต่กลับสำคัญยิ่งสำหรับนักวิ่ง หนังสือตำราวิ่งแทบทุกเล่มจะแนะนำให้ทำ เพราะว่า การทำ squat เป็นการ’สร้าง’ความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อที่ประคองเข่าเอาไว้ รวมถึงการรู้จักใช้ก้นในการออกแรงด้วย ไม่ใช่ทำให้เข่าเจ็บอย่างที่กลัวกัน
.
คล้ายๆกับที่คนลือกันว่า การวิ่งทำให้เข่าเจ็บ แต่สาเหตุมาจากกล้ามเนื้อรอบเข่า และก้นที่ไม่แข็งแรงอยู่แล้วส่วนใหญ่ ดังนั้น พอมาวิ่ง ก็เจ็บ แล้วก็โทษการวิ่ง ว่าทำให้เข่าเจ็บโดยที่ไม่ได้หาสาเหตุดั้งเดิมที่แท้จริง
.
ตราบใดที่เท้าเรา ‘fix’ บนพื้น ช่วงตัวเราแข็งแรงพอที่จะไม่ส่ายไปส่ายมาทำให้เข่าส่ายไปมา การทำ lunges ทำ squat ก็จะทำได้อย่างราบรื่น กลับมาที่ช่วงตัวที่แข็งแรงอยู่ดี
.
สรุป
.
ถ้าเราขาดการพัฒนาความแข็งแรงของกล้าม เน้ือแกนกลางลำตัว (core) ก็จะทำให้ระบบโครงสร้างและการส่งแรงมีปัญหา
.
สาระสำคัญของการออกกำลังกายนั้น ไม่ได้อยู่ที่ใครมีกล้ามเนื้อหน้าท้อง (six pack) มากกว่ากัน เพราะคนทุกคนมีกล้ามเนื้อหน้าท้อง ถ้าไขมันต่ำลงก็จะเห็นได้ชัดขึ้นอยู่แล้ว
.
ความสำคัญของการ ‘ออกกำลัง’กายน่าจะอยู่ที่การประสานงาน ของกล้ามเนื้อกลางลำตัวทุกกล้าม ตั้งแต่ หน้าท้อง หลังบนและล่าง กระบังลม และสะบ้า ที่ทำงานร่วมกันกับอวัยวะส่วนอื่นในการออกแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งแรงได้อย่างมีประสิทธิผล ทำให้เราเล่นกีฬาได้อย่างแข็งแรง และไม่บาดเจ็บด้วยค่ะ
.
ทุกอย่างนี้เริ่มต้นที่การหายใจ..

References: Closed Kinetic Chain Exercise: A Comprehensive Guide to Multiple Joint Exercises, (1st ed.). Champaign, Ill.: Human Kinetics, by Ellenbecker, T.S., and Davies, G.J. (2001)
.
“Physical Therapy”; Open Versus Closed Kinetic Chain Exercises After Knee Surgery’ G. Kelley Fitzgerald; December 1997
.
“Journal of Athletic Training”; A Kinetic Chain Approach to Shoulder Rehabilitation; John McMullen M.S., A.T.C., et al.; 2000
.
“Medicine and Science in Sports and Exercise”; Quadriceps Activation in Closed and in Open Kinetic Chain Exercise; Ann-Katrin Stensdotter, et al.; 2003
.
Kinesiology of the human body: Under normal and pathological conditions, Steindler A: Springfield, IL: Charles C Thomas 1955

การเลือกใช้กล้ามเนื้อให้ถูกงานในการวิ่ง

ร่างกายเรามีกล้ามเนื้อใหญ่ๆ อยู่ 2 ประเภท คือกล้ามเนื้อกระตุกเร็ว (fast-twitch fibers) และกล้ามเนื้อกระตุกช้า คนเราเกิดมามีสัดส่วนของกล้ามเนื้อ 2 ประเภทนี้ไม่เท่ากัน บางคนวิ่งเร็วเพราะมีกล้ามเนื้อกระตุกเร็วในสัดส่วนที่มากกว่า บางคนวิ่งทนเพราะว่ามีสัดส่วนของกล้ามเนื้อกระตุกช้ามากกว่า (slow-twitch fibers )
.
แต่อย่างไรก็ดี ร่างกายเราจะดึงกล้ามเนื้อแบบไหนมาใช้ ขึ้นอยู่กับแรงพลังที่เราต้องใส่เข้าไปเพื่อที่จะได้ความเร็วนั้นๆ
.
จริงๆแล้ว กล้ามเนื้อแบบกระตุกเร็วมีแบ่งออกไปอีกนะคะ จะไม่เขียนถึงเลยก็กระไรอยู่ เอาคร่าวๆนะคะว่า
.
กล้ามเนื้อแบบกระตุกเร็ว (fast twitch muscle) ก็จะแบ่งออกไปอีกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ตามความเร็วในการหดตัว:

– Type IIa คือเส้นใยกล้ามเนื้อที่กระตุกเร็วแบบปานกลาง ( intermediate fast twitch ) มีความคล้ายกับกล้ามเนื้อ slow twitch คือมีการหายใจแบบใช้ออกซิเจน มีไมโทคอนเดรียจำนวนมากและหลอดเลือดฝอย ทำให้มีสีแดง คนส่วนใหญ่ที่เดิมมีแต่กล้ามเนื้อกระตุกช้าหรือเป็นคนวิ่งช้า มาฝึกวิ่งคอร์ท (interval) มากๆเข้าก็จะมาอยู่ในโซนนี้ คือวิ่งเร็วขึ้น มีกล้ามเนื้อกระตุกเร็วมากขึ้น แต่จะให้เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ก็อาจจะไม่ fast twitch เต็มตัว 100% เท่าคนที่มีมาแต่เกิด

– Type IIb เป็นกล้ามเนื้อที่หดตัวเร็วที่สุด (the fastest muscle) ในร่างกายมนุษย์ สามารถหดตัวได้รวดเร็วกว่าและแรงมากกว่ากล้ามเนื้อที่หายใจแบบใช้ออกซิเจน (oxidative muscle) แต่หดตัวได้ไม่นาน มีการหายใจโดยไม่ใช้ออกซิเจนอย่างรวดเร็ว (anaerobic burst) ก่อนที่กล้ามเนื้อจะหดตัว ซึ่งทำให้เกิดความเมื่อยล้าจากการเกิดกรดแลกติก (lactic acid)

ถ้าจะเรียงตามลำดับการใช้งานก็จะมีรูปแบบเป็นแบบนี้ค่ะ
.
สมมติว่าเราเริ่มวิ่งจากตามลำดับจากเร็วน้อยไปมาก ร่างกายเราก็จะเริ่มด้วยการดึงกล้ามเนื้อกระตุกช้ามาใช้ก่อนอันกับแรก แล้วค่อยๆไต่ขึ้นไปเป็นกล้ามเนื้อแบบ IIa intermediate fibers เมื่อเราเพิ่มแรงดัน (force) มากขึ้น และในที่สุดเมื่อเราต้องการเร่งความเร็วมากขึ้นไปอีกร่างกายเราก็จะดึงกล้ามเนื้อแบบกระตุกเร็วแบบ IIb (fastest/ explosive) มาใช้
นั่นคือการเพิ่มความแรงตามลำดับความเร็ว

สำหรับใช้งานกล้ามเนื้อตามตามระยะทางบ้าง
.
ถ้าเราวิ่งยาวด้วยเพสความเร็วที่ช้าคงที่ไปเรื่อยๆเราก็จะใช้กล้ามเนื้อกระตุกช้าจนหมดพลัง ต่อมาร่างกายเราก็จะเริ่มไต่ไปใช้กล้ามเนื้อระหว่างกลางคือ intermediate fibers เพื่อที่จะคุมเพส ( ที่ช้าๆของเรานั่นแหละ) ให้คงที่ต่อไป กล้ามเนื้อขนาดกลางนี้จะไม่ทนทานเท่ากับกล้ามเนื้อแบบ slow twitch หรอกค่ะ พอเราเริ่มที่จะมาใช้กล้ามเนื้อแบบนี้แล้ว ก็อีกไม่นานหรอกที่เราจะเริ่มเหนื่อยล้าลงไปเรื่อยๆ เราถึงต้องมีการเติมไกลโคเจนกันเพื่อกันไม่ให้ร่างกายล้าลงไปเรื่อยๆจนถึงจุดที่วิ่งไม่ได้
.
ที่ต้องการให้เข้าใจในกล้ามเนื้อแต่ละแบบก็เพื่อที่จะเลือกใช้ได้ถูกต้องว่า เมื่อไหร่ ควรใช้กล้ามเนื้อแบบใด และเราจะได้จัดตารางการเทรนได้ดีขึ้น

การวิ่งยาว

ปัญหาที่เจอบ่อยครั้งคือ เวลาที่นักวิ่งต้องการเทรนแบบวิ่งยาว ไม่ยอมที่จะลดความเร็วลงมาให้ช้ากว่าที่เคยวิ่งเทมโป้ หรือมาราธอนเพส แล้วก็จะมีปัญหาวิ่งได้ไม่ครบระยะ
.
จุดประสงค์ของการวิ่งยาว คืการฝึกกล้ามเนื้อแบบกระตุกช้า (slow-twitch fibers) เพื่อที่จะฝึกประสิทธิภาพทางแอโรบิค เพื่อที่จะให้เราวิ่งได้อึดขึ้น ยาวนานขึ้นไปเรื่อยๆ
.
สาเหตุที่กล้ามเนื้อแบบกระตุกช้าดีต่อประสิทธิภาพทางแอโรบิคก็เพราะว่า นี้มีลักษณะการทำงานคือเอาออกซิเจนในอากาศมาแปลงเป็นพลังงานให้ร่างกาย กล้ามเนื้อแบบนี้จะมีหลอดเลือดฝอย (capillary) จำนวนมากจึงทำให้เป็นกล้ามเนื้อที่มีสีแดง ภายในเซลล์จะประกอบด้วย ไมโทคอนเดรีย(mitochondria) และไมโอโกลบิน (myoglobin) ก็เลยทำให้กล้ามเนื้อชนิดนี้สามารถขนส่งออกซิเจนได้มากและมีเมตาบอลิซึมแบบใช้ออกซิเจน (aerobic metabolism)
.
สร้างเส้นเลือดฝอยในกล้ามเนื้อเยอะ เราก็ขนส่งอาหารและออกซิเจนมาให้กล้ามเนื้อสร้างพลังงานได้เยอะระหว่างวิ่ง ก็จะทำให้เราวิ่งได้ทนขึ้นนั่นเอง ดีจะตายไป เราถึงควรจะวิ่งยาวอย่างน้อยอาทิตย์ละวัน เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อกระตุกช้าให้มีสัดส่วนมากขึ้น (ถ้าเราต้องการวิ่งระยะยาว หรือมาราธอนนะคะ ถ้าวิ่งเร็วระยะสั้นนี่อีกเรื่องนึง) หรือเพื่อที่จะเป็นการฟื้นฟู (recovery) จากการเทรนหนักแบบอื่น (ให้เลือดนำสารอาหารไปเลี้ยงกล้ามเนื้อ) และสร้างความคงทนทางแอโรบิคไปด้วย สร้างเส้นเลือดฝอยไปด้วย ไปประโยชน์หลายอย่าง ไม่ใช่ตั้งหน้าตาตั้งตาทำให้กล้ามเนื้อล้าไปทุกวันด้วยการวิ่งเพสเร็วๆ เทรนหนักๆ แรงระเบิดเยอะๆอย่างเดียว
.
นี่คือสาเหตุที่เวลาเทรนนักวิ่งแล้วย้ำนักย้ำหนาว่า เวลาวิ่งยาวให้วิ่งช้าๆ เราต้องฝึกกล้ามเนื้อชิ้นนี้เพื่อแอโรบิคที่ดีขึ้น

วิ่งแบบเทมโป้ (Tempo Runs)
.
การวิ่งแบบนี้จะเน้นฝึกกล้ามเนื้อแบบกระตุกช้า และแบบ IIa intermediate fibers คือเมื่อกล้ามเนื้อกระตุกช้าทำงานจนสุดประสิทธิภาพแล้ว เริ่มใช้ความเร็วที่สูงขึ้นในเพสแบบเทมโป้ ( การวิ่งแบบเพสนิ่งๆ ‘comfortably hard’ ในจุดที่ร่างกายังสามารถกำจัดกรดแลคติกได้อยู่)
.
เน้นที่ความเร็วคงที่ตลอดการวิ่ง การวิ่งแบบเทมโป้จึงสำคัญมากต่อการเทรนความอึด (endurance training) การวิ่งแบบนี้จะช่วยพัฒนาการทำงานร่วมกันของกล้ามเนื้อแบบกระตุกช้า กับกล้ามเนื้อแบบ IIa intermediate fibers ซึ่งก็มีลักษณะคล้ายกับกล้ามเนื้อกระตุกช้า คือมีการหายใจแบบใช้ออกซิเจน เอาออกซิเจนมาเป็นพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เราก็จะวิ่งได้ทนขึ้น
.
ข้อผิดพลาดที่นักวิ่งมักจะทำก็คือ พอบอกว่าวิ่งแบบเทมโป้ก็ออกตัววิ่งปรี๊ดออกไปแล้วก็ไปหมดแรงเอากลางทาง เพสขึ้นๆลงตลอดระยะการวิ่ง หรือนักวิ่งที่ไปงานวิ่งมาราธอนแล้วออกตัวแบบเทมโป้ก็เยอะค่ะ แล้วก็ไปเจ็บที่จุดฮาร์ฟมาราธอน หรือบางทีไม่ถึงด้วยซ้ำไป

 การวิ่งสั้นๆแบบ Short Repeats
.
หรืออีกชื่อหนึ่งคือ วิ่งแบบ interval workouts เช่นวิ่งsprint 400 เมตร x 1 นาที เดินหรือวิ่งช้า หลายๆเซ็ต จะช่วยฝึกกล้ามเนื้อแบบ IIa intermediate fibers และกระตุกเร็วแบบ IIb ให้ทำงานร่วมกันได้ระหว่างการใช้พลังระเบิดกับการใช้ออกซิเจนมาเป็นพลังงาน
.
การฝึกแบบนี้เป็นการเลือกฝึกกล้ามเนื้อเร็วทั้งสองชนิดให้ทำงานร่วมกันกับระบบประสาท ได้ฉับไวขึ้น (neuromuscular coordination)
การฝึกวิ่งแบบพัฒนาความเร็ว (Speed Development And Sprint Work)
.
ยกตัวอย่างก่อนเดี๋ยวงง สับสนกับการวิ่งแบบinterval การฝึกแบบนี้ก็มีพวก strides, hill sprints, explosive sprint ในลู่วิ่งสั้นๆ คือใช้แรงสุดพิกัดเพื่อฝึกกล้ามเนื้อกระตุกเร็วแบบ IIb อย่างเดียวเลย จบแล้วอาจจะพักหลายนาทีอยู่ 3-4 นาทีขึ้นไป แล้วเอาใหม่ ซึ่งไม่จำเป็นเท่าไหร่หรอกสำหรับนักวิ่งระยะยาวหรือมาราธอน แต่ฝึกแบบนี้จะทำให้ทุกๆก้าว (stride) เป็นไปอย่างมีพลัง (explosive) พอทำบ่อยๆเข้า ก็ทำให้เรารู้จักใช้พลังโดยไม่ต้องออกแรงมาก คือมันไปเองโดยไม่ต้องเหนื่อยเท่าไหร่ วิ่งได้ลื่นขึ้นคล่องขึ้น อย่างมีพลังค่ะ
การเทรนแบบทำ drills, ฝึกความแข็งแกร่ง (Strength Work) และการยืด
.
3 อย่างนี้ได้เขียนไปในบทความที่แล้ว วันนี้อยากเอามาขยายความอีกหน่อยว่า การฝึกทั้ง 3 แบบนี้จะช่วยในการที่สมองจะสั่งประสาทให้ไปเลือกใช้ (recruit) กล้ามเนื้อได้ถูกจังหวะเวลาและจุดประสงค์ในการใช้ เช่นเวลา stretch ก็ต้อง relax กล้ามเนื้อ หรือจังหวะไหนที่ต้องวิ่งเร็วก็ต้องเร็ว จังหวะไหนที่ต้องเบากระชับเช่น เวลาเท้าแตะพื้น เพื่อลด ground contact time กล้ามเนื้อแต่ละแบบก็จะมีความสามารถแตกต่างกันออกไป
.
นอกเรื่องแป๊บ เหมือนการทำ plank เนี่ยเป็นการฝึก slow twitch muscle เพราะว่าเราฝึกความอดทนของกล้ามเนื้อที่จริงๆแล้วอึดอยู่แล้ว (กล้ามเนื้อช่วงตัวเนี่ยเป็น กล้ามเนื้อกระตุกช้านะคะ) แต่ถ้าจะให้อึดขึ้นไปอีกก็ต้องฝึกการใช้ กล้ามเนื้อปแบบกระตุกช้าของcore ของเราให้อึดขึ้นไปอีก จะได้วิ่งได้นานขึ้นไปอีก
.
บางคนถามว่า ทำ plank ดีกับการวิ่งอย่างไร คำตอบก็คือ core เราจะได้แกร่งตลอดการวิ่งระยะยาวไงคะ ไหล่ไม่ห่อ หลังไม่โกง ปอดก็สูดอากาศได้เต็มที่
.
เพราะฉะนั้นการทำ drills บางแบบจึงเน้น ตัวนิ่ง เพื่อฝึก core stabilisation แต่ขาเร็ว ประสาทเราก็ต้องเรียนรู้ที่จะเลือกใช้กล้ามเนื้อแต่ละแบบให้ถูกงาน คือเลือกใช้ตรงไหนกระตุกช้า ตรงไหนกระตุกเร็วในการวิ่งแต่ละก้าว
นักวิ่งมักจะชอบไปสนใจเรื่อง การเทรนโดยเน้นไปแต่เรื่อง การพัฒนา VO2 Max เพื่อไม่ให้เหนื่อยง่าย หรือเน้นการเทรนแบบวิ่ง interval เพื่อเพิ่ม lactate threshold แต่ลืมเรื่องความสำคัญของกล้ามเนื้อแต่ละชิ้นที่จะช่วยให้เราวิ่งได้เร็วขึ้น นานขึ้น อึดขึ้น ถ้าเราเทรนกล้ามเนื้อและระบบประสาทแล้ว เราจะสามารถเลือกใช้กล้ามเนื้อได้ถูกงาน ถูกจุดประสงค์ และเราก็จะวิ่งจบ (มาราธอน) ได้อย่างไม่ใช่แค่ไม่เจ็บเฉยๆ แต่ไม่เหนื่อย (มากเกินไปนัก) ด้วยค่ะ
.
Ref: Strength Training Anatomy, 3rd Edition, Frederic Delavier

นักวิ่ง เล่นกล้ามแล้วทำไมยังเจ็บ

ก่อนอื่นเลย การออกกำลังกายกล้ามเนื้อด้วยการทำ strength training สำหรับนักวิ่งเป็นการส่งเสริมให้การวิ่งเป็นไปอย่างแข็งแรง และเลี่ยงการบาดเจ็บได้
.
แต่ทำไมทำ strength training แล้วยังวิ่งไม่ดี และยังมีอาการบาดเจ็บอยู่

จะบอกให้ว่า ต่อให้เรามีกล้ามสะโพก ก้น ขา ที่แข็งแรง แต่ถ้ากล้ามเนื้อนั้นไม่ได้ถูกกระตุ้น (activate) เวลาเราวิ่ง ฟอร์มการวิ่งของเราก็จะไม่พัฒนาเท่าที่ควรอยู่ดี
.

เพราะอะไร

เพราะสิ่งที่ขาดไปคือ การเชื่อมความแข็งแรงนั้น เข้ากับกลไกการวิ่ง
.
เซลล์กล้ามเนื้อของเราจะหดตัว (contract) และ คลายตัว(relax) ตามคำสั่งจากระบบประสาทส่วนกลาง (central nervous system) ที่จะบอกให้เราทำนู่นนี่นั่น โดยการส่งสัญญาณผ่านเส้นประสาท
.
เส้นประสาทจะมีหน้าที่จะนำความรู้สึกจากอวัยวะต่างๆ ไปยังระบบประสาทกลาง(central nervous system) และนำสัญญาณกระตุ้นจากระบบประสาทกลางไปยังกล้ามเนื้อ ไปกระตุ้นใยกล้ามเนื้อที่เราต้องการใช้ เช่น กล้ามเนื้อกระตุกช้า (slow twitch muscle) กล้ามเนื้อกระตุกเร็ว ((fast twitch muscle) หรือใช้กล้ามเนื้อกี่มัด แรงเท่าไหร่สำหรับงานข้างหน้านี้
.
หรือนัยหนึ่ง เอาแบบเจาะจงเลยคือ จะใช้กล้ามเนื้อเท่าไหร่ แรงแค่ไหนในการก้าวขาวิ่งแบบที่เราตั้งใจ เช่น easy, tempo หรือ interval

เวลาเราวิ่ง (หรือทำอะไรก็ตาม) เราจะมีกล้ามเนื้อที่ทำงานตรงข้ามกัน เมื่อชิ้นนึงหดตัว (contract) ชิ้นตรงข้ามจะคลาย เช่น เวลาก้าวขา quadriceps (กล้ามเนื้อหน้าขา) จะหดสั้น (contract) ส่วนกล้ามเนื้อตรงข้าม(hamstrings) จะยืดออก เป็นต้น แต่ควรจะต้องเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว (firing) คือ หดให้ทันเวลา คลายตัวให้ทันเวลากัน
.
ฟอร์มการวิ่งที่ดีควรจะเกิดจากความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและจากการที่กล้ามเนื้อถูกกระตุ้นให้ทันเวลา ทั้งสองอย่างนี้ต้องประสานกัน
.
การที่กล้ามเนื้อไม่ activate ทันเวลา ก็เพราะว่าเราไม่ได้ฝึกระบบประสาทให้ส่งสัญญาณให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ นี่คือที่มาของการทำ drills
.
และถ้าเรามัวแต่ฝึกประสาท แต่กล้ามไม่แข็งแรง เราก็จะบาดเจ็บได้ เราจึงต้องฝึก 2 อย่างนี้ไปด้วยกัน ซึ่งต้องอาศัยเวลามากค่ะ บางทีบอกตรงๆว่า ไม่ค่อยเห็นด้วยกับความคิดที่ว่า ‘ไปตายเอาดาบหน้า’ หรือ จะวิ่งมาราธอนให้ได้ภายในสิ้นปี
.
จะยกตัวอย่างให้ฟังว่า ตอนนี้อยู่ในทีมที่เทรนนักวิ่งแนวหน้าอังกฤษอยู่ เพื่อที่จะไปวิ่งลอนดอนมาราธอน ปีหน้า เค้าเริ่มเทรนแบบ off season ตั้งแต่ตอนนี้ นี่คือตัวอย่างว่าเค้าใช้เวลาแค่ไหนในการขัดเกลาศิลปะการวิ่งของเค้า
.
เคยแปลเรื่อง “FITNESS TAKES TIME.” โดย
COACH GREG MCMILLAN เอาไว้ลองไปอ่านดูนะคะ
.
https://www.facebook.com/Befiteatwell/photos/a.848337471945507.1073741828.847319882047266/877415752371012/?type=3

ต่อๆ
.
นักวิ่งส่วนใหญ่จะโฟกัสไปที่ การทำ strength training เพราะทำง่าย เข้าใจง่าย ควบคุมได้ง่าย (จริงๆนะ เพิ่มน้ำหนักยกนี่ง่ายนะ ถ้าเทียบกับการทำ drills ให้เป็นธรรมชาติเนี่ย)
.
แต่จะเปรียบเทียบให้ฟังว่า สมมติว่าเราเวทกล้ามเนื้อก้นมาจนแข็งแรงดี แต่ทีนี้เรามานั่งทำงานตามปกติเหมือนมนุษย์ทั่วไปนี่แหละ แล้วก็เกิดการไหล่ห่อ หรือ มีอาการกล้ามเนื้อติดแบบ office syndrome ทั่วไป เพราะว่านั่งมากหลายชั่วโมง แล้วก็มาวิ่ง กระดูกสะบ้าเราก็จะมีการบิดไปข้างหน้า ตามแบบเวลาเรานั่งเก้าอี้แบบไหลๆ เวลาเราหลังงอ (anterior pelvic tilt)
.
แล้วไง ด้านหน้าของสะโพก (hip flexors and psoas) ก็จะสั้น และก็หดตัว พอข้างหน้าติด กล้ามก้นเราก็จะยืดยาวออกโดยอัตโนมัติ แล้วก็ไม่สามารถวิ่งตามแบบที่เราควรจะวิ่งได้
.
บ่อยๆเข้า ร่างกายเราก็จะลืมการวิ่งโดยใช้กล้ามเนื้อส่วนก้น เพราะว่าเรามัวแต่ไปวิ่งตามแบบที่เรียกว่า ‘การแก้ไขปัญหาระยะสั้นของระบบประสาท’ คือการแทนที่แรงที่ควรจะมาจากกล้ามก้น ด้วยกล้ามเนื้อที่ใกล้เคียง
การวิ่งนั้นก็เลยกลายเป็นใช้ กล้ามเนื้อรอบข้าง เช่นกล้ามเนื้อขาด้านหลัง (hamstrings) หลังตอนล่าง เข่า เท้า มาช่วยกล้ามเนื้อก้น (เกินภาระหน้าที่ของกล้ามเนื้อรอบข้างเหล่านั้น) เพื่อที่จะให้เราวิ่งได้ ก็กลายเป็นทำให้กล้ามเนื้อรอบข้างเหล่านั้น overload
.
แล้วเราก็จะบาดเจ็บ
ดังนั้น การบริหารกล้ามเนื้อนั้นจีงประกอบไปด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ
.
1. ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (strength training)
.
2. การยืด ( stretching)
.
3. การฝึก drills ซึ่งบางทีก็เป็นผสมการยืดแบบเคลื่อนไหวไปด้วย
.
การฝีกทั้งสามสิ่งนี้ก็เพื่อให้เราพัฒนาจากขั้นเริ่มต้น (beginners) แล้วก็ไปเป็นขั้นที่เรียกว่า conscious competence คือฝึกวิ่งโดยพยายามเข้าใจในกลไกของกล้ามเนื้อในร่างกายแต่ละส่วน คือฝึกท่าวิ่งโดยใช้กล้ามเนื้อที่ถูกต้อง (คนส่วนใหญ่จะอยู่ในขั้นนี้กันเยอะ ไม่เกี่ยวเลยว่าผ่านมาราธอนแบบเจ็บๆมากี่ครั้ง) และไปสู่ขั้นสูงสุดคือ การที่วิ่งโดยไม่ต้องคิดถึงท่าพวกนั้นแล้ว คือร่างกายเราวิ่งไปอย่างถูกต้องและเป็นธรรมชาติ ระบบประสาทยะเรากระตุ้นกล้ามเนื้อส่วนนั้นๆระหว่างวิ่งได้อย่างเป็นอัตโนมัติ (unconscious competence)
.
การที่จะก้าวไปสู่ขั้นที่เป็นธรรมชาติได้ เราต้องฝึกทั้งร่างกายและประสาท เพื่อให้การควบคุม ประสานงานของประสาทและกล้ามเนื้อ เป็นไปอย่างราบรื่นค่ะ
การยืดเหยียด (Stretching)
.
ทำไมถึงเป็นสิ่งสุดท้ายที่คนนึกถึงก็ไม่รู้ ทั้งๆที่เราจะพัฒนาท่าวิ่งของเราได้ก็ต่อเมื่อ เราตัดปัญหากล้ามเนื้อติดยึด ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ
.
การที่เรามี range of motion ดี จะช่วยให้กล้ามเนื้อที่ควรจะทำงานในจังหวะนั้นๆ ทำงานในหน้าที่ของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องไปยืมแรงกล้ามอื่นมาใช้
.
ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาเดิมจากข้างบนที่ยกตัวอย่าง ถ้าเรายืดสะโพกด้านหน้า (hip flexors) ที่ติดยึด เราก็จะสามารถวิ่งโดยที่มี range of motion ที่ดี ฟอร์มสวย กล้ามเนื้อก้นที่เราฝึกมาก็จะถูกกระตุ้นให้ส่งแรงมาที่ขา เพื่อให้วิ่งได้เร็วเต็มที่
การทำ Drills
.
กล้ามก็มีแล้ว ยืดก็แล้ว
.
ต่อมากก็คือการทำ drills
.
เราทำไปเพื่ออะไร–drills เนี่ยคือการฝึกฟอร์ม ฝึกเทคนิคในการวิ่งที่ถูกต้องในรูปแบบที่สั้น แต่แบ่งรายละเอียดของการวิ่งออกมา ซอยออกมาเป็น ส่วนเล็กๆๆ เอามาฝึก และบางท่าก็ยืดกล้ามเนื้อส่วนที่ไม่เคยได้ยืดมากนัก ให้ได้ยืดในท่าที่เลียนแบบการวิ่ง
.
การที่แบ่งแยกออกมาเป็นส่วนย่อยๆ เล็กๆ อย่างนี้ ก็เพื่อที่ว่า เราจะได้โฟกัสในที่ละส่วนได้อย่างเต็มที่ เช่น ฝึก กล้ามเนื้อสะโพก hip extension เราก็ฝีกไปตรงนั้น ย้ำๆเข้าไป โดยที่ไม่ต้องไปฝีกรวมสับสนกับการแกว่งแขน วางขา อะไรอีกให้วุ่นวาย ให้มีปัญหาชีวิตขึ้นไปอีก เราย้ำกันทีละส่วนไปเลย ให้เข้าใจ เป็นนิสัย ประสาทสั่งงานกล้ามเนื้อได้ถูกต้อง เวลาไหนควรหดตัว (contract) เวลาไหนควรยืดตัว (relax)
.
เวลาเราฝึกแรกๆ จะฝืนและยาก ต่อมาเวลาประสาทคุ้นแล้ว ก็จะสั่งงานง่ายขึ้นไปเรื่อยๆ เหมือนเด็กฝึกเขียนหนังสือค่ะ เปรียบเทียบ แรกๆจะฝืน ต่อไปก็คล่องขึ้น ตวัดได้อีกต่างหาก ต้องมีดุกัน!
.
ท่า drills นี่มีเยอะแยะทั่ว อินเตอร์เน็ต YouTube ทั่วไปเลย แต่ที่หามาให้วันนี้ก็นับว่าเป็นขั้นเริ่มต้นที่อยากให้ลองเอาไปใช้ฝึกหัดดู ทำหลังวิ่ง 2-3 ครั้งต่ออาทิตย์นะคะ
Butt kicks (วิ่งเตะก้นตัวเอง)
.
ท่านี้จะช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง (hamstrings) และช่วยให้รอบขาในการวิ่งเร็วมากขึ้น เพราะว่าไปช่วยเสริมช่วง recovery ในการวิ่งได้ดีมากขึ้น พยายามวิ่งให้ตัวนิ่งๆ และเตะก้น (ตัวเอง)ให้ได้ ถ้าไม่ได้แสดงว่าต้องทำ dynamic stretch / stretch ช่วงสะโพกตอนหน้า/ กล้ามเนื้อขาตอนหน้าให้มี range of motion ดีขึ้นค่ะ
High knees (วิ่งเข่าสูง)
.
ท่านี้จะช่วยในการยกเข่าให้สูงและช่วยในการกระตุ้นกล้ามเนื้อก้น และ hamstring ให้มีพลังทำงานมากขึ้นมา จะช้วยให้วิ่งเร็วขึ้น และเหนื่อยน้อยลงด้วยนะคะ เพราะเป็นการใช้กล้ามเนื้อก้นและขาที่ชิ้นใหญ่ ในการส่งพลัง วิ่งสลับขาไปอยู่กับที่ โฟกัสที่การวางเท้าที่ ball of foot ด้านหน้า ใช้กล้ามเนื้อลำตัวในการกดขาลง (ไม่ใช่กระทืบลงหรือปล่อยเท้าลงตึงๆนะคะ ควบคุมการวางเท้าลงในขณะที่ยกเข่าอีกข้างขึ้นจนต้นขาไม่ขนานกับพื้นนะคะ เอาให้สุดของเราค่ะ ทำครั้งละ 15 reps ต่อข้างก็ได้ 2-4 เซ็ต
วิ่งเตะขาเร็วๆ(Straight-Leg Shuffle)
.
ท่านี้มีเรียกอีกชื่อว่า low-rise bounding เป็น drill ที่ช่วยกระตุ้นระบบประสาทให้ทำงานไวขึ้นในการเตะขาสลับ ช่วยในเรื่องการงวิ่งให้รอบขาเร็วขึ้น. และช่วยในการกระตุ้นร่างกายให้ช่วยเน้นประสาทให้คุ้นกับวางเท้าแบบ flat หรือ กลางเท้า (midfoot footstrike) เนื่องจาก drill นี้เป็น drill ที่ต้องทำเร็วๆ ถ้าทำไปนานๆเข้าก็จะช่วยลด ground contact time และลดระยะเวลาการลงส้นให้น้อยลงด้วยค่ะ
.
เวลาทำท่านี้อย่าเอนตัวไปข้างหลังนะคะ พยายามรักษาช่วงตัวให้ตั้งตรงหรือเอนไปข้างหน้านิดๆ ดันเท้าไปข้างหลังทันทีที่เท้าแตะพื้น ต้องลุกขึ้นทำแล้วจะเข้าใจเอง ทำ 50เมตร 2-4เซ็ตตามสะดวกเลยค่ะ

วิ่งก้าวเท้าสลับซ้าย-ขวา (Grapevines)
.
ท่านี้จะช่วยให้สะโพกด้านหน้า (hip flexors) และก้น (glutes) เคลื่อนไหวได้คล่องแคล่วขึ้น เป็นการใช้พลังจากด้านข้างของกล้ามเนื้อเข้ามา ทำให้เวลาวิ่งจริงขาไม่ปัดออกไปมา และก็เป็นการฝึกความคล่องตัว (agility) สำหรับนักวิ่งเทรล ได้ด้วยนะคะ
.
วิธีการทำก็คือเดินก้าวไปด้านข้าง แขนไกวสลับกับขา เดินไปข้างละ 50 เมตรก็พอ แล้วเดินกลับ พอคล่องแล้วค่อยทำเร็วขึ้นเรื่อยๆนะคะ อย่าหยุดอยู่กับที่

วิ่งเตะขาสูง (Hamstring Extensions)
.
ท่านี้ไม่ต้องบอกก็คงรู้ว่าเป็นการเพิ่มความคล่องแคล่วว่องไวของ กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง (hamstring) และก้น (gluteal muscle groups) และก็ช่วยในเรื่อง การใช้ hip extension ซึ่งจะช่วยในการวิ่งเร็วด้วยค่ะ
.
ท่านี้เราต้องโฟกัสที่ฟอร์มการวิ่งนะคะ ไม่ใช่ความเร็วเร้าใจของการเตะขาขึ้น
.
เตะขาขึ้นพร้อมๆกับแกว่งแขนด้านตรงข้ามขึ้นแตะปลายเท้าหรือขา ไกลที่สุดเท่าที่ทำได้ค่ะ ข้างละ 10 ที 2-4 เซ็ต

วิ่งก้าวกระโดด (Bounding)
.
ท่านี้จะดูเริงร่ามากนะคะ แต่จะช่วยในเพิ่มพลังและกระตุ้นกล้ามเนื้อเท้า น่อง hamstrings ให้มาทำงานเวลาที่เราวิ่ง เป็นคล้ายๆการวิ่งแบบ slow motion กระโดดขาข้างเดียวไปเรื่อยๆช่วยในเรื่อง balance ด้วยค่ะ
.
โฟกัสของท่านี้จะอยู่ที่ช่วงก้าวกระโดดบนอากาศ การแกว่งแขนควรจะแกว่งในข้างที่ตรงกันข้ามกับขา เพื่อบาลานซ์ที่ดี ในการวิ่งก็เช่นกัน ลองฝึกดู ข้างละ 10 ก้าว 2-3 เซ็ต

วิ่งถอยหลัง (Running Backwards)
.
ท่านี้เทรนบ่อยมาก ช่วยให้ก้น ช่วงตัว (core) หลังช่วงล่างและ hamstrings แข็งแรงและทำง่นร่วมกันให้ได้ เพราะถ้าไม่ทำงานร่วมกันในท่านี้ เราก็จะล้ม
.
พยายามเลียนแบบการวิ่งไปข้างหน้า เพียงแต่ว่าเราวิ่งถอยหลัง (ขอเยอะไปไม๊) ดันตัวออกด้วยปลายเท้า ใช้ช่วงตัว (core) พยุงตัวไว้ไม่ให้ล้ม ท่านี้โฟกัสที่ฟอร์มนะคะ ไม่ใช้ความเร็ว แต่เล่นเสร็จจะหลังและหน้าท้องแข็งแรง ทำไป 50-100เมตร4เซ็ต
.
ท่านี้ดีกว่า plank หลายเท่า เพราะเป็นการฝึกความแข็งแกร่งของช่วงตัวและขาในขณะที่ร่างกายเคลื่อนไหว เป็น functional training อย่างนึงเชียวนะคะ
.
ลงทำให้ครบวงจรทั้งสามนะคะ แล้วเวลาวิ่งจะเหนื่อยน้อยลงค่ะ จริงๆนะ
.
Ref: Running Form Drills guide by Brian Martin.