นักวิ่งมีอยู่ สองประเภทใหญ่ๆ เลย คือนักวิ่งไกล (วิ่งทน) กับ นักวิ่งเร็ว (sprinter) ทั้งสองประเภทมีศักดิศรี เท่ากัน แต่มีความถนัดต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าใครมีเส้นใยแบบไหนมากกว่ากัน เท่านั้นเอง
คนละกีฬานะคะ อย่าทะเลาะกัน อย่าทะเลาะกัน
เส้นใยกล้ามเนื้อของคนเรา จะมีสองรูปแบบคือ เส้นใยกล้ามเนื้อแบบกระตุกช้า (Slow Twitch Fibers) และเส้นใยกล้ามเนื้อแบบกระตุกเร็ว (Fast Twitch Fibers)
มาดูกันค่ะ เส้นใยกล้ามเนื้อ 2 แบบนี้ มีแบบใดบ้าง
Type I, กล้ามเนื้อกระตุกช้า (slow oxidative, slow twitch), หรือ “red” muscle
กล้ามเนื้อชนิดนี้มีลักษณะการทำงานคือการนำเอาออกซิเจนในอากาศมาแปลงเป็นพลังงานให้ร่างกาย ซึ่งเส้นใยกล้ามเนื้อแบบกระตุกช้านี้ สามารถเคลื่อนไหวได้ต่อเนื่องยาวนาน ไม่หมดแรงง่ายๆ มันช่วยทำให้นักวิ่งมาราธอน สามารถวิ่งติดต่อกันได้เป็นชั่วโมงๆ กล้ามเนื้อแบบนี้จะมีหลอดเลือดฝอย (capillary) จำนวนมากจึงทำให้เป็นกล้ามเนื้อที่มีสีแดง ภายในเซลล์จะประกอบด้วย ไมโทคอนเดรีย(mitochondria) และไมโอโกลบิน (myoglobin) ก็เลยทำให้กล้ามเนื้อชนิดนี้สามารถขนส่งออกซิเจนได้มากและมีเมตาบอลิซึมแบบใช้ออกซิเจน (aerobic metabolism) การออกกำลังกายของคนทั่งไปจะเริ่มจากการใช้ slow twitch muscle เป็นส่วนใหญ่ แล้วค่อยๆไต่ขึ้นไปตามระดับความเหนื่อย ดังนั้นจะวิ่งให้อึดก็ต้องใช้กล้ามเนื้อนี้เยอะๆ ฝึกมันเยอะๆ เวลาวิ่งยาวงานแข่งก็จะได้อยู่ในโซนที่ใช้กล้ามเนื้อนี้นานๆ แล้วจะไป sprint เข้าอะไรยังไงก็แล้วแต่ใจ แต่เลี้ยงใว้ใน slow twitch นานๆ จะได้จบ นะคะ นะ
Type II กล้ามเนื้อกระตุกเร็ว หรือ fast twitch muscle
ลักษณะการทำงานของกล้ามเนื้อประเภทนี้คือการใช้สารเคมีในร่างกาย ที่ได้จากการทานอาหารของเรา นำไปแปลงเป็นพลังงานให้ร่างกาย การทำงานของกล้ามเนื้อแบบกระตุกเร็ว จะเหมือนกับการระเบิด มาวูบเดียวแล้วก็ดับไป พลังงานที่ได้ออกมาจะมากมายมหาศาล แต่จะไม่ต่อเนื่องลากยาวเหมือนการทำงานของเส้นใยกล้ามเนื้อแบบกระตุกช้า
กล้ามเนื้อแบบ fast twitch muscle แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ตามความเร็วในการหดตัว:
– Type IIa คือเส้นใยกล้ามเนื้อที่กระตุกเร็วแบบปานกลาง ( Moderate fast twitch ) มีความคล้ายกับกล้ามเนื้อ slow twitch คือมีการหายใจแบบใช้ออกซิเจน มีไมโทคอนเดรียจำนวนมากและหลอดเลือดฝอย ทำให้มีสีแดง คนส่วนใหญ่ที่เดิมมีแต่กล้ามเนื้อกระตุกช้าหรือเป็นคนวิ่งช้า มาฝึกวิ่งคอร์ท (interval) มากๆเข้าก็จะมาอยู่ในโซนนี้ คือวิ่งเร็วขึ้น มีกล้ามเนื้อกระตุกเร็วมากขึ้น แต่จะให้เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ก็อาจจะไม่ fast twitch เต็มตัว 100% เท่าคนที่มีมาแต่เกิด
– Type IIb เป็นกล้ามเนื้อที่หดตัวเร็วที่สุด (the fastest muscle) ในร่างกายมนุษย์ สามารถหดตัวได้รวดเร็วกว่าและแรงมากกว่ากล้ามเนื้อที่หายใจแบบใช้ออกซิเจน (oxidative muscle) แต่หดตัวได้ไม่นาน มีการหายใจโดยไม่ใช้ออกซิเจนอย่างรวดเร็ว (anaerobic burst) ก่อนที่กล้ามเนื้อจะหดตัว ซึ่งทำให้เกิดความเมื่อยล้าจากการเกิดกรดแลกติก (lactic acid) เป็นกล้ามเนื้อที่หายใจแบบไม่ใช้ออกซิเจน (anaerobic) กล้ามเนื้อชนิดนี้จะใช้พลังงานจากกระบวนการไกลโคไลซิส (glycolysis) เรียกอีกอย่างว่า “white” muscle มีไมโทคอนเดรียและไมโอโกลบินเบาบางกว่า กล้ามเนื้อประเภทนี้พบมากในหมู่นักวิ่งเร็ว (sprint) นักวิ่งsprint ถ้าอยากจะมาวิ่งมาราธอนก็ต้องฝึกวิ่งยาว เพื่อเพิ่ม endurance และกระตุ้นการใช้กล้ามเนื้อแบบกระตุกช้า (slow twitch muscle) ให้มากขึ้น เพื่อที่จะได้วิ่งยาวๆทนๆ
กล้ามเนื้อแบบ slow twitch เป็นกล้ามเนื้อแบบที่เหนียวทนทาน เรียว นักวิ่งทนจึงมีลักษณะกล้ามเรียวเล็ก ต่างกับ นักวิ่งเร็วที่มีกล้ามมัดใหญ่ น่องใหญ่
การออกกำลังแบบชาญฉลาดก็คือการพยายามใช้เส้นใยกล้ามเนื้อทั้งสองแบบให้ได้ตามเวลาที่เหมาะสม ซึ่งการที่จะทำให้เราได้รับประโยชน์มากที่สุดคือ เวลาที่เราใช้เส้นใยกล้ามเนื้อแบบกระตุกช้าในโซนแอโรบิค ในช่วยแรกของการวิ่ง ไปให้ได้ยาวนานที่สุด มันจะช่วยเพิ่มการดึงออกซิเจนมาทำปฏิกิริยาเคมีในร่างกาย อันจะส่งผลให้มีการทำลายไขมันในร่างกาย และเมื่อถึงเวลาที่เราใช้เส้นใยกล้ามเนื้อแบบกระตุกเร็ว เมื่อเราอยู่ในตอนท้ายของการแข่งขัน ในโซนแอนาแอโรบิค (Anaerobic) มันจะช่วยเผาผลาญพลังงานได้ในระยะเวลาอันสั้น และส่งผลให้มัดกล้ามเนื้อเติบโต และยังช่วย “ลดน้ำหนัก” ลดความดันเลือด และเพิ่มความแกร่งให้กับร่างกายด้วย
เราทุกคนเกิดมาจะมีกล้ามเนื้อทั้งสองแบบผสมผสานกัน แต่อัตราส่วนของกล้ามเนื้อทั้งสองชนิดในแต่ละคนไม่เท่ากัน หลักๆเลยเป็นเพราะความแตกต่างทางพันธุกรรม ซึ่งความแตกต่างนี้ทำให้เรามีความสามารถที่ต่างกัน เช่น บางคนวิ่งระยะสั้นได้ดี บางคนถนัดวิ่งระยะไกลๆ ลองสังเกตดูจะพบว่า ลักษณะกล้ามเนื้อของนักวิ่งระยะสั้น และนักวิ่งมาราธอนนั้นแตกต่างกัน
มีบ่อยมากเลยค่ะที่นักวิ่งเร็วพยายามที่จะมาวิ่งมาราธอน วิ่งได้นะคะ ไม่ใช่ไม่ได้ แต่ถ้าจะจบแบบไม่เจ็บ หรือจบอย่างไม่หมดเกลี้ยง ก็ต้องฝึกวิ่งยาว ปรับเพส(pace)ให้เราวิ่งได้ครบทั้ง 42.195 กิโล ไม่ใช่วิ่งเร็วไปได้ 30กิโล แล้วหมดเกลี้ยง วิ่งต่อไม่ได้ แล้ว heart rate ขึ้นไปในระดับอันตราย การปรับความเร็วที่เหมาะสมนี่เป็นศิลปะอย่างนึงเลยนะคะ เอาเพสอะไรดีที่เหมาะสมกับร่างกายและหัวใจเราในขณะนั้นที่สุด
เราสามารถ “เลือก” ฝึกได้ว่าต้องการให้เส้นใยกล้ามเนื้อแบบไหน (กระตุกเร็ว หรือกระตุกช้า) ได้รับการพัฒนามากกว่ากัน และเหมาะสมกับความต้องการใช้การ อยากได้กล้ามเนื้อที่อึดทน ก็ต้องฝึกการออกกำลังกายแบบสม่ำเสมอเป็นเวลานาน (long and continuous) แต่ถ้าจะต้องการ กล้ามเนื้อแบบ fast twitch ก็ต้องเน้นไปที่การฝึกแบบลงคอร์ท หรือ interval เป็นต้น
ที่เขียนเรื่องนี้เพราะอยากจะบอกว่า เราอาจจะไม่ได้เกิดมามีกล้ามเนื้อแบบที่เราต้องการ แต่ด้วยการเทรนที่ถูกต้อง เราก็เป็นอย่างที่เราอยากเป็นได้ ขอแค่อย่าท้อเท่านั้นเอง นะคะ