การยกน้ำหนักแบบ Time under tension

Time under tension (TUT) คือ ระยะเวลาที่กล้ามเนื้อตกอยู่ภายใต้ภาวะความตึงเครียดระหว่างเซ็ตการตกอยู่ภายใต้ความตึงเครียดนี้ รวมเวลา ทั้ง 3 ช่วง คือ
.
–ช่วงที่กล้ามเนื้อหดสั้น (concentric -shortening)
–ช่วงเวลาที่หดสั้นสูงสุด (peak contraction phase)
–และช่วงเวลาที่กล้ามเนื้อยืดตัว (eccentric -lengthening)
.
ดังนั้น ถ้าเราจะ ยก/ดึง/ดัน 10 ครั้ง (rep) ต่อเซ็ต ก็เท่ากับว่า 1 rep. จะใช้เวลาคร่าวๆ 3 วินาที ถึงจะจบ 1 rep
.
กล้ามเนื้อเราก็จะอยู่ภายใต้ความตึงเครียด 30 วินาที รวมทั้งหมด 10 reps
.
ที่นี้ถ้าเราจะ ทำเซ็ตเดิมเนี่ย แต่ใช้เวลายก/ดึง/ดันเวทในช่วงกล้ามเนื้อหดสั้น (concentric phase) 2 วินาที และ หยุดอีก 1 วินาทีในตอนช่วงที่กล้ามเนื้อหดสั้นที่สุด เครียดสุด (peak contraction) และก็ 3 วินาทีในช่วงที่ลดกล้ามเนื้อยืดออก (eccentric phase)
.
Rep นั้นเราจะใช้เวลาทั้งหมด 60 วินาทีของ time under tension (TUT)
.
การโฟกัสในการยก/ดึง/ดันแบบ TUT นอกจากจะทำให้กล้ามเนื้ออยู่ใต้ความเครียดแล้ว เรายังสามารถพยายามพัฒนาเทคนิคการยกให้ฟอร์มถูกอีกด้วยค่ะ ดีกว่านั่งนับไปวันๆให้ครบเซ็ต แต่ฟอร์มผิด
.
หลักการของการเซ็ตเทมโป้แบบ TUT นี้ คือ โฟกัสในการยก/ดึง/ดันน้ำหนักให้เร็วในช่วงที่กล้ามเนื้อหดสั้น (concentric) แล้ว TUT ช้าๆควรจะมาอยู่ในช่วงที่กล้ามเนื้อยืดออก (eccentric)
.
การที่ทำให้กล้ามเนื้ออยู่ใต้ความเครียดแบบช้าๆแบบนี้ จะช่วยในเรื่องสร้างกล้ามให้ใหญ่ (hypertrophy)
.
นับเอาก็พอนะคะ ไม่ต้องมาคอยจ้องจับเวลา วินาทีกันหรอก อย่าโกงตัวเองก็แล้วกันนะคะ

เราควรจะทำ tempo แบบช้าๆเท่านั้นหรือ
.
พอบอกว่า ทำ tempo ช้าๆแล้วช่วยให้กล้ามใหญ่ เดี๋ยวเลยไม่เวทแบบเร็วๆเลย
.
ข้อดีของการยกแบบเร็วก็มี คือ เราจะยกแบบมีแรงพลังมากกว่า (more force) ซึ่งก็ทำให้กล้ามเนื้อทำงานหนัก ประสาทเราก็จะกำหนดใช้ทักษะในการเคลื่อนไหวที่เหนือชั้น (motor skills) และ ใช้กล้ามมากขึ้นมายก ( motor unit) โดยเฉพาะการเลือกใช้กล้ามเนื้อแดง หรือกล้ามเนื้อกระตุกเร็ว (type 2 fast-twitch fibers) เราก็จะได้ความแข็งแกร่ง (strength) จากการยกทรงพลังแบบนี้

สำคัญพอๆกันค่ะ
.
นึกถึงนักยกน้ำหนักโอลิมปิคที่ยกน้ำหนักเยอะๆ หรือการออกกำลังกายท่า พวก jump squats bench throw อะไรพวกนี้ การออกท่ากระชากโชว์ความเร็วแรงหนักพวกนี้ จะช่วยให้ระบบประสาทส่วนกลาง (central nervous system) ปรับตัวและพัฒนามากขึ้นเร็ว พอๆกันกับการยก/ดึง/ดันแบบช้าแบบTUT ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
.
มีงานวิจัยใน European Journal of Applied Physiology ในเรื่องนี้เลย ระหว่างยก/ดึง/ดันหนักแต่เร็ว กับ เบากว่าแต่ช้าและใช้วิธีการ TUT
.
งานทดลองนี้ใช้กลุ่มอาสาสมัครผู้หญิงที่ไม่เคยออกกำลังกายแบบเวทมาก่อนเลย แล้วให้เทรนกลุ่มละแบบ 3 แบบด้วยกัน
.
กลุ่มที่ 1: ใช้การยก/ดึง/ดันแบบดั้งเดิมที่ใช้สร้างความแข็งแกร่งของกล้าม (strength) คือใช้ดเวทที่หนักประมาณ 80-85% ของ 1RM (1 RM คือ 1 repetition maximum คือน้ำหนักที่มากที่สุดที่เราสามารถยก/ดึง/ดันได้ ได้ 1 ครั้งเท่านั้นโดยที่กล้ามไม่เสีย) ให้อาสาสมัครยกแบบเทมโป้ธรรมดา คือประมาณ 1.5 วินาทีของช่วงยกและช่วงลด (concentric / eccentric)
.
กลุ่มที่ 2: ให้ใช้การยก/ดึง/ดันแบบช้าๆ ใช้น้ำหนักน้อยกว่า คือประมาณ 50-60% ของ 1RM ใช้เทมโป้แบบ 4 วินาทีในช่วงกล้ามเนื้อยืดออก (eccentric) และ ในช่วงที่กล้ามเนื้อหดสั้น (concentric) ใช้เวลา 10 วินาทีในการค่อยๆหดสั้นเข้า จนไม่สามารถยก/ดึง/ดันต่อไปได้ -ได้กี่ rep ก็เท่านั้น
.
กลุ่มที่ 3: ใช้แบบความทนทานเป็นหลัก (muscular endurance) คือใช้น้ำหนักน้อย 50-60% ของ 1RM แต่ให้อาสาสมัครยก/ดึง/ดันแบบเทมโป้ธรรมดา คือประมาณ 1.5 วินาทีของช่วงยกและช่วงลด (concentric / eccentric)
.
ปรากฎว่ากลุ่มแรกที่ยก/ดึง/ดันหนักแต่เร็ว วัดดูได้ความว่ามีความแข็งแรงมากที่สุดมาใน 3 กลุ่ม และกล้ามใหญ่ขึ้นโดยเฉลี่ย 40% มากกว่ากลุ่มอื่น และมีการสร้างใยกล้ามเนื้อแดง กระตุกเร็วแบบ type IIA and IIX มากขึ้นกว่ากลุ่มอื่น
.
กลุ่มที่ 3 พวกยก/ดึง/ดันแบบเบาและใช้เทมโป้แบบธรรมดาไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดๆทั้งความแข็งแรง(strength) และขนาดของกล้าม
.
กลุ่มที่ยก/ดึง/ดันเบาแต่ช้า กลุ่มที่ 2 มีการพักเพิ่มทั้งความแข็งแรงและขนาดของกล้ามเนื้อ และก็มีการเพิ่มขนาดของกล้ามเนื้อแดงแบบกระตุกเร็ว (type IIA) ประมาณ 10%

อ้าว แล้วจะมานั่งพูดถึงการยกช้ากันทำไม ถ้าการยกเร็วและหนัก ตอบโจทย์ของการสร้างกล้ามทั้งทางด้านความแข็งแรงและขนาดของกล้าม
.
ก็เพราะว่าในการทดลองข้างต้นนี้ ได้ค้นพบอีกอย่างนึง คือ การยกแบบช้าๆถึงแม้จะสู้แบบหนักและเร็วไม่ได้ (กล้ามใหญ่ขึ้น 40% ต่อ 10%) แต่การยกแบบช้านี้กระตุ้นทั้งระบบประสาท (neuromuscular) และการขยายตัวของกล้ามเนื้อ(hypertrophic) ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงปรับตัวได้ดีโดยไม่มีความเสี่ยงต่ออันตรายในการใช้น้ำหนักที่หนักเกินไป เหมาะสำหรับคนที่พึ่งเริ่มต้นยกน้ำหนักใหม่ๆ คนที่หยุดยกไปนานเนื่องจากบาดเจ็บ หรือแม้กระทั่งการทำกายภาพ เพราะจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของกระแสเลือดไปในบริเวณที่บาดเจ็บด้วย เช่น การบริหารการเคลื่อนไหว (mobility exercise ) สำหรับคนที่ขาแพลง

แต่การออกกำลังกายและระบบร่างกายมันซับซ้อนกว่านั้น
.
ถ้าเรามัวแต่ใช้วิธีการยกช้าอยู่อย่างเดียว เราอาจจะจบลงที่ ทำท่าเดิมอยู่ชั่วโมงนึง คือพัฒนาเพิ่มเวลาขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่อร่างกายคุ้นแล้ว
.
ดังนั้นเราจึงจำเป็นที่จะต้องยกแบบหนักด้วยเพื่อกระตุ้นการเติบโตและการปรับเปลี่ยนของระบบประสาท (neuromuscular adaptations) ด้วยการ…
—ยก 60-75% ของ 1RM เพื่อสร้างขนาดกล้าม (hypertrophy) และ
—80% ของ 1RM เพื่อสร้างความแข็งแรง (strength) และ
—เพิ่มการยกแบบแรงเร็ว (competition lifts) เข้าไปด้วยในตาราง คือ ยก/ดัน/ดึง ช่วงที่กล้ามเนื้อหดตัว (concentric) ให้เร็วและมีพลังให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่พอถึงช่วงกล้ามเนื้อยืดตัว (eccentric) พยายามใช้เทมโป้แบบช้า TUT เสริมเข้าไปด้วย เราก็จะได้ฝึกแบบครบ
.
แต่เหนื่อยคลานนะ เสร็จเร็วด้วย จริงๆ คือต่อไปไม่ไหวอีกแล้วไงคะ หมดตัว
.
เดี๋ยวจะมาต่อรายละเอียดของวิธี TUT นะคะ วันนี้รู้สึกว่าจะยาวไปแล้ว

—————-
Ref: Alway S, et al. Contrasts in muscle and myofibers of elite male and female bodybuilders. Journal of Applied Physiology 67:24-31, 1989.
.
Booth, F and D Thomason. Molecular and cellular adaptation of muscle in response to exercise: perspectives of various models. Physiology Review 71:541-585, 1991.
.
Fair, J. Muscletown USA: Bob Hoffman and the manly culture of York Barbell. USA: Pennsylvania State University Press, 1999

การใช้เครื่องหนีบวัดไขมัน (skin fold calliper)

หลังๆมานี่ได้ยินการ พูดถึงและเปรียบเทียบ ยึดมั่นถือมั่นกันอย่างเอาเป็นเอาตายกับค่า body fat มากกว่าความรู้สึก หรือความเป็นจริงที่เห็นอยู่
.
บ่นกันว่าออกกำลังกายแล้วน้ำหนักขึ้น bodyfat ไม่ลด แต่ใส่เสื้อแล้วสวยขึ้น รู้สึกว่าหุ่นเฟิร์มขึ้น ง่ายๆคือกังวลกับตัวเลขมากกว่าความรู้สึก
.
ไม่อยากให้กังวลว่าออกกำลังกายแล้วน้ำหนักขึ้น เพราะการออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ดี การที่เรามีกล้าม อาจจะทำให้ดูเหมือนน้ำหนักตัวเราเยอะขึ้น หรือไม่ลงเลย แต่การที่มีกล้ามจะทำให้ระบบการเผาผลาญเราทำงานได้ดีขึ้น ช่วยประคองกระดูกทำงานได้ดีขึ้น เนื้อต้วเราจะดูแข็งแรงขึ้น ใส่เสื้อผ้าได้สวยขึ้น น้ำหนักนี่เรื่องเล็ก
.
เอาเข้าจริงๆ เราทำทุกอย่างนี้ก็เพื่อไขมันที่ลดลง ดังนั้น ถ้าจะวัดพัฒนาการ ก็ควรจะวัดในจุดที่เราจะกำจัด ก็คือไขมันนะคะ

เครื่องวัดไขมันที่ตรงที่สุดแล้ว ที่เป็นที่ยอมรับกันคือ การชั่งนํ้าหนักใต้นํ้า (Underwater Weighing หรือ Hydrostatic Weighing) คนที่มีมวลกล้ามมากจะหนักกว่าในน้ำ
.
แต่ถึงแม้ว่าการชั่งน้ำหนักใต้น้ำแบบนี้เป็นวิธีที่ยอมรับกันว่าเป็นวิธีมาตรฐานในการประเมินไขมันในร่างกาย (โดยวัดความหนาแน่นของมวลที่ปราศจากไขมัน เวลาที่ร่างกายอยู่ในน้ำ) ก็ยังไม่แม่นยำเพราะ ความหนาแน่นของ มวลท่ีปราศจากไขมันจะเปลี่ยนแปลงไปตาม เพศ อายุ เชื้อชาติ การเคลื่อนไหว ร่างกาย รวมถึงสภาวะร่างกาย เช่น ภาวะที่ร่างกายป่วย เป็นต้น แถมเครื่องนี้ยังไม่มีขายทั่วไปอีก

ทีนี้มาถึงเครื่องที่พอหาได้ และแม่นยำกว่าการใช้กระแสไฟฟ้า ก็คือ skin fold calliper
หลักการของการใช้วิธีนี้ก็เพื่อที่จะวัดไขมันชนิดที่อยู่ใต้ผิวหนัง (subcutaneous fat) ในแต่ละจุด แล้วเอามาดูค่าว่ามีสัดส่วนเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับไขมันในที่อื่นๆของร่างกาย
.
การวัดแบบนี้ตามแต่ดั้งเดิมเป็นการวัดเพื่อสุขภาพว่าเรามีไขมันอยู่ที่จุดใดมากเป็นพิเศษ มากไปกว่าการวัดเพื่อความสวยงามอย่างจุดประสงค์ที่เรานำมาใช้กันในปัจจุบัน
.
ส่วนสูตรที่ใช้ในการคำนวณนั้นก็มีมากกว่า 100 สูตรขึ้นไป แต่ละสูตรก็ให้ค่าต่างกันไป
.
ทำไมถึงมีมากกว่า 100 สูตร?
.
เพราะว่าแต่ละสูตรนั้นเหมาะกับกลุ่มคน ที่แตกต่างกัน เช่น เด็กจะเก็บครึ่งนึงของไขมันในร่างกายใว้ใต้ผิวหนัง ในขณะที่ผู้ใหญ่จะเก็บไขมันไว้ในอวัยวะภายในมากกว่าตามผิวหนังขึ้นเรื่อยๆ น่ากลัวนะคะ
.
ดังนั้น สมมติว่าเราวัดค่า body fat โดยใช้เครื่อง skin fold calliper นี้ ได้ค่าออกมาเท่ากันเป๊ะ สัดส่วน เปอร์เซ็นต์ของ bodyfat ของเด็กและผู้ใหญ่ ก็ยังต่างกันอยู่ดีในความเป็นจริง
.
ไม่ใช่แค่อายุและการสะสมไขมันที่ทำให้ต่างนะคะ แม้กระทั่ง เพศ ระดับความฟิต เชื้อชาติ จำนวนค่าbody fat ที่แต่ละคนมี ทำให้ความหนาแน่นของมวล แตกต่างกันไปได้เลย
.
ไม่มีสูตรไหนที่เหมาะกับใคร 100% หรอกค่ะ
.
ทางแก้ก็คือ ใช้ skin fold calliper วัดค่าและจดบันทึกเอาไว้ ถ้าอยากคำนวณ ก็คำนวณโดยที่ไม่ต้องเอาค่านี้ไปเปรียบเทียบกับใคร เอาไว้ดูพัฒนาการของตัวเองก็พอค่ะ
.
จำเป็นต้องเอาค่านี้มาคำนวณหรือไม่ – คำตอบคือ ไม่เลย จดไว้เป็นค่าของแต่ละส่วน แล้วเทียบเอาเองกับตัวเองพอว่าไขมันเราลดไปแค่ไหนแล้ว
.
อย่างที่บอก ผลลัพธ์ไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเลข แต่เป็นสิ่งที่คนเห็นอยู่กับตามากกว่า ว่าเราฟิต เฟิร์ม หุ่นดี แค่ไหน
.
เข้าใจว่า มันท้อใจ ถ้าเรารู้สึกดีทุกอย่างแล้วตัวเลขบอกอีกอย่าง

วิธีใช้
.
เวลาที่คีบเนื้อขึ้นมาวัด ก็ขอให้วัดภายใน 4 วินาทีที่คีบขึ้นมา ไม่งั้นค่าอาจจะเคลื่อนได้เพราะเนื้ออาจเริ่มเปลี่ยนรูป วัดในเวลาเดียวกันกับที่เคยวัด และอย่าวัดทันทีหลังออกกำลังกายตอนเลือดกำลังพลุ่งพล่านสูบฉีดนี่ไม่ควรนะคะ
.
ทีนี้มาถึงวิธีการวัด
.
ที่ต้องมีวิธีการวัดก็เพราะว่า เราจะได้รู้จุดพิกัดที่จะวัดได้แน่นอนในจุดเดิม ทุกครั้งที่วัด ไม่ใช่วัดแบบซ้ายขวาที ข้อมูลเคลื่อนหมด หาปากกามาจุดตำแหน่งด้วยนะค
.
Skin fold Calliper หาซื้อได้ทั้งแบบที่ให้คนอื่นวัดให้ (ในรูปแบบด้านบน) และแบบที่วัดด้วยตัวเองได้นะคะ (ข้างล่างในรูป) นี่คือตัวอย่างกว้างๆนะคะ จริงๆแล้ว skin folded calliper มีหลากหลายรูปแบบมากค่ะ
.
ก่อนอื่นเลย การวัดให้วัดในข้างที่ถนัดนะคะ ถนัดซ้ายก็วัดซีกซ้าย ถนัดขวาวัดซีกขวาค่ะ วัดจุดละ 3 ครั้งเพื่อหาค่าที่แม่นยำที่สุด ถ้าค่าที่อ่านได้จากการวัดครั้งที่ 1 และ 2 แตกต่างกันมากกว่า 1- 2 มิลลิเมตร ให้วัดซ้ำครั้งที่ 3 โดยรอเวลาให้ผิวหนังกลับคืนสู่สภาพเดิมก่อนนะคะ ซักนาที สองนาที
.
เวลาวัด ระวังอย่าหนีบกล้ามเนื้อติดขึ้นมาด้วย สะบัดเบาๆก็ได้ค่ะ เวลาใช้มือคีบเนื้อขึ้นมาแล้ว
.
ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ขอให้ใช้สายวัดวัดนะคะ ถ้าบอกกึ่งกลาง แปลว่าวัดจากจุดที่กล่าวถึง ถึงจุดอีกจุด ด้วยสายวัดนะคะ ไม่ให้กะเอาค่ะ

ในอินเตอร์เน็ตมีการวัดหลายจุดมาก แต่วันนี้จะพูดถึงการวัดแบบ 4 จุดซึ่งเป็นหลักการของ Durmin and Womersley
.
1. ต้นแขนด้านหน้า (Biceps)
.
หยิบผิวหนังให้เป็นสันในแนวดิ่ง บริเวณเส้นกลางด้านหน้าต้นแขน ใช้สายวัดวัดจากปุ่มที่หัวไหล่ ลงมาที่ข้อพับข้อศอก งอแขนขึ้น 90 องศาทเพื่อหาจุดพับ แล้วก็ปล่อยแขนเป็นอิสระข้างลำตัว หันฝ่ามือเข้าหาลำตัว เวลาวัด ไม่ต้องเกร็ง หรือเบ่งกล้าม
.
.

2. ต้นแขนด้านหลัง (Triceps)
.
หยิบผิวหนังให้เป็นสันในแนวตั้ง จุดกึ่งกลางระหว่างปุ่มกระดูกหัวไหล่ (Acromion process) และ ปุ่มปลายศอก (Olecranom process)โดยงอข้อศอกขึ้นเพื่อหาจุดปุ่มข้อศอกแต่ไม่ต้องเกร็ง หันฝ่ามือขึ้น วัดด้วยสายวัดจากปุ่มถึงปุ่มนะคะ ดูจุดกึ่งกลาง

3. สะบักหลัง Subscapular
.
ท่านี้ให้ลองไขว้แขนไปข้างหลังดูก่อน เพื่อหาจุดหยิบผิวหนังให้เป็นสันในแนวทำมุมกับกระดูกสะบักหลัง 45 องศา ต่ำกว่า จุดกลางที่เป็นมุมด้านล่าง อย่างในรูป วัดออกมาประมาณ 1-2 ซม.

4. สะโพก/เอว (Supraileac)

หยิบผิวหนังให้เป็นสันตามแนวรอยย่นผิวหนังเหนือ ขอบกระดูกเชิงกราน (iliac crest) จับๆดู นะคะ บริเวณเส้นด้านหน้าของเอว หรือ ถ้าไม่มีเอว ก็คือ ด้านหน้าของ แนวรักแร้ด้านหน้า เวลาเรามองจากข้างหน้า (anterior auxiliary line) ไม่ใช่ตรงข้างตัวด้านข้างนะคะ สงสัยดูรูปเอาดีกว่า โค้ชเอินพูดไม่ยู้เยื่อง!
.
จดบันทึกเอาไว้ดูความเปลี่ยนแปลงทุกๆเดือน หรือ 6 อาทิตย์ กำหนดเอาไว้นะคะ ที่เก่า เวลาเดิม
.
แต่ถ้าอยากจะคำนวนจรืงๆ Durnin and Womersley เค้าก็ทำสูตรคำนวณเอาไว้ให้ มีเวปไซต์ที่คำนวณให้ที่นี่นะคะ

http://www.health-calc.com/body-composition/skinfold-d-and-w
.
โชคดีค่ะ
.
References;Durnin JVGA, Womersley J. Body fat assessed from total body density and its estimation from skinfold thickness: measurements on 481 men and women aged from 16 to 72 years. Br J Nutrition. 1974; 32: 77-9

เวลาวัดตัว วัดหุ่น รู้หรือไม่ว่าวัดตรงไหน

เวลาเขียนแนะนำว่าถ้าจะดูความก้าวหน้าทางร่างกาย หรือหุ่นดีขึ้นรึเปล่า ให้วัดตัวและจดบันทึกไว้ แล้วทุกครั้งก็จะอดนึกเป็นห่วงไม่ได้ว่า จะวัดกันเป็นรึเปล่านะ วันนี้มีเวลา เลยจะมาเขียนให้อ่านนะคะ เวลาวัดจะได้วัดได้ถูกที่ค่ะ
.
เอาสายวัดมาเร็ว

รอบแขน

พับแขนเสื้อขึ้นนะคะ ยกแขนงอ 90° ตามแบบรูปเลยค่ะ

เราจะวัดแบบแนวตั้ง ในช่วงที่ใหญ่ที่สุดเวลาที่มองจากข้างหน้าตรงๆ ถ้าอยากเบ่งกล้าม วัดขนาดของกลเามก็ได้ แต่จดบันทึกไว้ ทุกครั้งที่วัด ก็จงเบ่งกล้ามให้เหมือนกันทุกครั้งค่ะ

หน้าอก
.
เริ่มจากหาตำแหน่งที่ถูกเป๊ะ จะได้วัดที่เดิมทุกครั้งนะคะ. จริงๆแล้วตำแหน่งนี้ไม่ได้วัดแค่อก แต่วัดความใหญ่ของหลังตอนต้นด้วยนะคะ ได้หน้าอย่าลืมหลัง!
.

เริ่มจากกางแขนออกตรงๆเลย ขึ้นมาระดับเดียวกับไหล่ เอาสายวัด วัดตรงตำแหน่งใต้รักแร้ แล้วลดแขนลงข้างตัวค่ะ ไม่ต้องกางแล้ว หายใจออก เราวัดแนวนอน (horizontal) ตอนหายใจออกนี่แหละ นะคะ

เอว
.
วัดตรงส่วนที่เล็กที่สุด พยายามเลิกเสื้อขึ้นนะคะ ไม่งั้นมองไม่เห็น
.
ถ้าเป็นคนไม่มีเอว (ไม่ได้ว่าอ้วนนะ ผอมก็ไม่ทีเอวได้) ให้วัดตรงกลางระหว่างกระดูกซีกโครงอันสุดท้าย กับตอนบนของกระดูกสะโพก (illiac crest)
.
อย่ารัดแน่นเกินไป อย่าให้หลวมไป และให้สายนาบไปกับเนื้อนะคะ และพยายามอย่าให้สายเอียงเกินไป เอาให้ตรงๆ หายใจปกติ

รอบสะโพก
.
พยายามใส่เสื้อผ้าให้น้อยที่สุดนะคะเวลาวัด วัดสายวัดรอบส่วนที่นูนที่สุดของก้น ยืนตรงๆ ขาแยกกว้างประมาณความกว่างของไหล่นะคะ ไม่ต้องเกร็งก้นนะ อย่าให้สายรัดหลวมหรือคับเกินไป

ต้นขา
.
การวัดต้นขานี่ก็เหมือนกับการวัดต้นแขน วัดในส่วนที่ใหญ่ที่สุด นี่คือเวลามองตรงๆจากข้างหน้านะคะ ไม่วัดทับขากางเกงนะ พับขากางเกงขึ้น อย่าลืม
.
เวลาวัดในส่วนนี้ สายวัดจะไม่ตรงเป็นแนวราบนะคะ แต่ควรจะเป็น 90° องศาของแนวต้น ดูรูปเอาง่ายกว่านะคะ

ไหนๆก็ไหนๆแล้ว เคยเขียนเรื่องสัดส่วนของเอวกับสะโพกไปนานแล้ว ว่าคนที่ผอม ก็อาจจะมี Visceral Fat ซึ่งก็คือไขมันในช่องท้องซึ่งเป็นไขมันที่อยู่ระหว่างกล้ามเนื้อท้อง กับ อวัยวะภายในและหากมีมากเกินไป มันก็จะไปสะสมอยู่ที่อวัยวะภายในของเราด้วยเช่นกัน
.
ไขมันในช่องท้องนี้สามารถทำให้ อวัยวะภายในต่างๆของเรา เกิดการอักเสบในระดับเซลล์ ซึ่งเป็นสาเหตุของ โรคเรื้อรังร้ายแรงต่างๆ ได้อย่างมากมาย เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดในสมองตีบ เส้นเลือดในสมองแตก คลอเรสเตอรอลสูงที่นี่นะคะ

https://www.facebook.com/Befiteatwell/posts/896928740419713:0
.

การที่เราควรจะตรวจสอบค่านี้เพิ่มเติมเพราะว่า หลายคนมีร่างกายที่ค่อนข้างสมส่วนและมีค่า BMI. ที่อยู่ระดับปกติ แต่ลงพุงก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ โรคเบาหวาน ได้เพราะไขมันรอบเอวเนี่ยแหละค่ะ
.
ง่ายๆเลย ถ้าไม่มีเวลาอ่านบทความในลิ้งค์ ก็คิดค่าสัดส่วน แบบนี้ค่ะ
.
ความยาวเส้นรอบเอว / ความยาวเส้นรอบสะโพก
.
ค่าที่ได้สำหรับผู้ชาย
.
ค่าที่ได้ ต่ำกว่า 0.85 : แสดงว่าคุณไม่มีความเสี่ยงทางด้านสุขภาพจากไขมัน
.
ถ้าสูงกว่า 0.95 : นั่นคือความเสี่ยงสูง อยู่ในภาวะลงพุง ควรเริ่มทำการเปลี่ยนแปลงตัวเองได้แล้ว
.
ค่าที่ได้สำหรับผู้หญิง
.
ค่าที่ได้ ต่ำกว่า 0.75 : แสดงว่าคุณไม่มีความเสี่ยงทางด้านสุขภาพจากไขมัน
.
ถ้าสูงกว่า 0.85 : นั่นคือความเสี่ยงสูง เข้าสูงภาวะลงพุง ควรเริ่มทำการเปลี่ยนแปลงตัวเองได้แล้ว
.
วัดกันนะคะ วัดกัน

กล้ามเยอะ-ไขมันเยอะ หรือกล้ามน้อย-ไขมันน้อย อะไรดีกว่ากัน

นี่พูดจากประสพการณ์ที่ได้ยินคนบ่นว่า ออกกำลังกายแล้วน้ำหนักขึ้น เล่นเวทแล้วน้ำหนักขึ้น หรือบางกลุ่มก็ใช้ค่าน้ำหนักเป็นที่ตัววัดเลยว่า ไม่อ้วนเพราะ น้ำหนักน้อย ผอมอยู่แล้ว ไม่ต้องสนใจกับการกินดีหรอก ยังใส่เสื้อผ้าสมัยเด็กได้อยู่เลย
.
เฮ้อ!
.
เข้าใจว่าฝรั่งก็คงได้ยินอะไรแบบนี้มาเยอะเหมือนกัน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้วมหาวิทยาลัย UCLA ได้ตัดสินใจฟันธง ทำการทดลอง ว่าการที่มีค่า BMI ต่ำหรืออยู่ในเกณฑ์ปกตินั้น ไม่ได้เป็นการวัดว่าเรามีความแข็งแรงมากกว่าใคร มีปัจจัยอื่นที่เราควรจะให้ความสนใจที่มีผลต่อสุขภาพโดยตรงนอกเหนือจากค่า BMI ที่อยู่ในเกณฑ์หรือต่ำ เช่นมวลกล้ามและมวลไขมันมากกว่า
.
การทดลองครั้งนี้ใช้ค่าจากที่ American Journal of Cardiology ได้วัดและเก็บข้อมูลจาก ผู้เข้าร่วมการทดลอง 6,451 คนในการทำ National Health and Nutrition Examination Survey มาตามเก็บข้อมูลผลอีกที
.
ข้อมูลที่ American Journal of Cardiology ได้เคยทำเอาไว้นั้น มีการวัดร่างกายของคนที่เป็นโรคหัวใจ และความหนาแน่นของกระดูก (BMD) โดยใช้เครื่อง dual energy x-ray absorptiometry (DXA) และการบันทึกประวัติ น้ําหนัก ส่วนสูง วัด BMD กระดูกส้นเท้าด้วยเครื่อง QUS และตรวจ BMD ของกระดูกสันหลังส่วนเอวด้วยเครื่อง DXA
.
ข้อมูลทั้งหมดนี้ก็ถูกนำมาประเมินในการหาค่าของมวลกล้ามเนื้อ และไขมัน และตามไปเก็บข้อมูลว่าคนกลุ่มใดที่เสียชีวิตจากโรคหัวใจหรือโรคที่เกี่ยวกับไขมันอุดตันในช่วงระยะเวลา 7 ปีจากวันที่เริ่มเก็บข้อมูล
.
มหาวิทยาลัย UCLA ก็นำวิธีการนี้มาใช้ ด้วยการเก็บข้อมูลแบบเดียวกันนี่แหละค่ะ และใช้ DXA ในการหาค่าของมวลไขมันรอบเอว และมวลกล้ามเนื้อที่แขนและขา แต่ครั้งนี้เพื่อดูว่าคนกลุ่มไหนแข็งแรงที่สุด
.
เพราะก็น่าสนเหมือนกันนะคะ ว่าเราจำเป็นต้องมีกล้ามด้วยหรือ
.
เค้าก็แบ่งกลุ่มคนที่สมัครเข้าทำการทดลองออกเป็น 4 กลุ่ม จากการวัดไขมันรอบเอว และวัดมวลกล้ามที่แขนและขา ก็ได้ออกมา 4 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มมวลกล้ามสูง ไขมันต่ำ

2. กลุ่มที่มวลกล้ามน้อย ไขมันต่ำ

3. กลุ่มมวลกล้ามสูง ไขมันสูง

4. กลุ่มกล้ามน้อย ไขมันสูง
.
และก็ติดตามวัดประเมินสุขภาพโดยละเอียด ตั้งแต่การวัดมวลกระดูกว่าใครจะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคกระดูกพรุน (ความเชื่อเดิมคือ ยกน้ำหนักจะเสี่ยงกับกระดูกมากกว่า) โรคหัวใจ (กลุ่มไขมันเยอะ) ใครฟิตที่สุด
.
ผลจากการ scan ได้ความว่า
.
กลุ่มที่มีมวลกล้ามเยอะทั้งสองกลุ่มนั้นมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจน้อยกว่ากลุ่มที่มีกล้ามน้อย ไม่ว่าจะไขมันต่ำหรือสูงแค่ไหนก็ตาม
.
แน่นอนว่า กลุ่มไขมันน้อยกล้ามเยอะมีสุขภาพโดยรวมดีที่สุดใน 4กลุ่ม ได้อัตราความเสี่ยงต่อการตายจากเป็นโรคหัวใจที่ 0.32 และ ตายจากการเป็นโรคอื่น 0.38 คน
.
ประมาณ 2ใน3ของคนในกลุ่มไขมันน้อย กล้ามเยอะ มีค่า BMI ที่สูงกว่าปกติ แต่กลับมี อัตราการรอดตัว (survival rate) สูงจากโรคกระดูก เบาหวาน หัวใจ กว่าคนกลุ่มอื่น เนื่องจากจากการวิจัยนี้พบว่า กล้ามเนื้อเป็นตัวหลักในการเคลียร์ 85% ของน้ำตาลในเลือดให้ออกจากระบบ ดังนั้นการมีมวลกล้ามสูงจึงทำให้เกิดความสมดุลย์ในการกินและระบบเผาผลาญ เนื่องจากระบบเผาผลาญได้ทำงานอย่างสม่ำเสมอ ไม่มีอาการระบบเผาผลาญทำงานผิดปกติเมื่อเทียบกันกับกลุ่มกล้ามน้อย
.
พวกหมูที่แข็งแรงมีเฮ งานนี้……เจ็บใจ!
—————-
แปลมาเลยตรงๆจาก บทความจากวารสารการทดลองของ UCLA

http://newsroom.ucla.edu/…/higher-muscle-mass-associated-wi…

บทความนี้ตีพิมพ์ใน American Journal of Cardiology เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2016

http://www.ajconline.org/…/S0002-9149%2816%2930155…/fulltext

—————-

มันหวาน คาร์บที่กินแทนข้าว

เป็นคนไทย โตมากินข้าวกับกับ เหมือนทุกคนนั่นแหละค่ะ จะให้ลุกขึ้นมากินเนื้อแบบฝรั่งทุกมื้อ เพื่อสร้างกล้าม หรือ low carb diet นี่ก็ไม่ไหวนะ ขอคาร์บบ้าง เห็นใจกันหน่อย
.
ทุกวันนี้ เจอแล้วค่ะ ตัวแทนที่แสนดี คือ มันหวาน (sweet potato) นั่นเอง

ทำไมถึงดี เรียนมา เรียนมา จะบอกให้!
.
เริ่มแรกเลย อุดมไปด้วยวิตามิน เอ และ beta-carotene (ช่วยชะลอความแก่ คือให้ผลในการลดความเสื่อมของเซลล์จากอนุมุลอิสระ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดกระบวนการแก่ และบำรุงสายตาด้วยค่ะ) และยังเป็น คาร์โบไฮเดรตแบบเชิงซ้อน (ย่อยสลายอย่างช้าๆ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในสภาวะควบคุม และให้พลังงานแคลอรี่ต่ำ ช่วยให้ไม่อ้วน)
.
อีกอย่างนึงคือมีค่า GI (glycemic index) ต่ำมากด้วยค่ะ แปลง่ายๆว่าอิ่มนาน

ค่า GI หรือ Glycemic Index คืออะไร
.
คือหน่วยวัดผลของคาร์โบไฮเดรตต่อระดับน้ำตาลในเลือด คาร์โบไฮเดรตที่แตกตัวอย่างรวดเร็วในระหว่างการย่อยอาหาร ให้กลูโคสเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิตอย่างรวดเร็ว เรียกว่ามีค่า GI สูง เอาไว้กินก่อนหรือระหว่างเล่นกีฬา จะเวิร์คมาก)
.
ส่วนอีกแบบนึงคือ คาร์โบไฮเดรตที่แตกตัวอย่างช้าๆ ค่อยๆให้กลูโคสเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิตอย่างสม่ำเสมอ เรียกว่ามีค่า GI ต่ำ อิ่มนานๆ มันหวานนี่คือแบบนี้

ค่า GI ของมันหวานเป็นอย่างไรบ้าง
.
จะบอกว่าดีเฉยๆไม่ได้ ต้องบอกว่าดีอย่างไร
.
จริงๆแล้ว วิธีการทำมันหวานให้สุกนี่ เปลี่ยนค่า GI ของตัวมันได้นะคะ ไม่ใช่สักแต่ว่า เค้าว่าว่า GI ต่ำ กินแล้วดี อิ่มช้าก็กินไป
.
สมมติว่า ถ้าซื้อมันหวานขนาด 150 กรัมมาต้ม 30 นาที ค่า GI จะอยู่ที่ 46 แต่ในขณะเดียวกันถ้าเอามาอบ 45 นาที ค่าGI จะขึ้นมาสูงอยู่ที่ 94
.
ที่เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างแตกต่างขึ้นก็เพราะโครงสร้างเม็ดแป้งที่ถูกทำให้สุกโดยการนึ่ง หรือต้ม ยังไม่ถูกทําาลายท้ังหมด
.
ความร้อนท่ีใช้ทำอาหารให้สุกนี่มีผลต่อโครงสร้างระดับโมเลกุลของเม็ดแป้ง และมีผลต่อองค์ประกอบทางเคมีของตัวแป้งด้วยค่ะ

มาดูคำนิยามกันก่อน
.
การย่อยได้ของแป้ง คือความสามารถในการย่อยแป้งที่อยู่ในอาหารโดยเอนไซม์ ที่ลำไส้เล็ก
.
ส่วนค่า GI เป็นค่าท่ีใช้ในการประเมินระดับน้ำตาลลกลูโคสในเลือดหลังจากที่เรากินอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตดข้าไปแล้ว
.
อาหารที่มีค่าดัชนี GI สูง จะทําให้มีการเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดอย่างรวดเร็ว อาหารที่มีค่า GI ต่ำ จะทำให้ระดับน้ําตาลในเลือดเพิ่มขึ้นช้าๆ เราก็จะอิ่มนาน
.
ความร้อนที่สูงเกินไปจากการปิ้ง ย่าง อบในเตาอบ จะทำให้ความหนืดของแป้งน้อยลง ความเป็นเจลน้อยลง
.
อาหารอะไรก็ตามที่มีลักษณะเป็นเหมือนเจล ก็จะทำให้การดูดซึมในระบบการย่อยอาหารนั้นย่อยสลายได้ช้า พอความเป็นเจลน้อยลง ก็ย่อยง่ายลง อิ่มไม่นานเท่าเดิม
.
สรุปต้มดีกว่าปิ้งย่าง ถ้าจะรักษาค่า GI ได้ดีกว่าแต่ถ้าจะให้ความร้อนน้อยกว่านั้น นี่คือสำหรับคนที่เป็นเบาหวานเลยนะคะ ฝานและผัดกับน้ำมันน้อยๆทั้งเปลือกเลยดีที่สุดค่ะ เพราะความร้อนน้อยสุด

เคล็ดลับการเลือกมันหวาน
.
ตกลงว่านี่คือบทความแม่บ้านสมองไวหรืออะไรเนี่ย
.
เลือกเอามันหวานที่มีสีส้ม ยิ่งเข้มยิ่งดี แสดงว่ามี beta-carotene เยอะเท่านั้น และเวลากินก็แย่าแกะเปลือกออกนะคะ วิตามินมันอยู่ตรงนั้น
.
คนที่เป็นเบาหวานก็กินได้นะคะ เพราะมีใยอาหารสูง มีค่า GI ต่ำ อิ่มนาน รักษาระดับค่าน้ำตาลในเลือดให้คงที่ได้นานค่ะ คุมน้ำตาลได้สบายมาก
.
มันหวานญี่ปุ่น พันธุ์ Caiapo
.
พันธุ์นี้นามรายงานวิจัยของ University of Vienna ตีพิมพ์ในวารสาร “Diabetes Care” มีการทดลองให้คนที่เป็นเบาหวาน type 2 กินมันหวานประเภทนี้ดู ก็สามารถคุมน้ำตาลได้มากค่ะ เรียกว่าลดระดับที่ลดค่าน้ำตาลลงมาอย่างน่าตกใจ
.
แต่พันธุ์นี่สีจะขาวๆหน่อยนะคะ ไม่ใช่สีส้มจัดเหมือนพันธุ์อื่น
.
ปัจจัยที่มีผลต่อค่า GI ทั้งกับมันหวาน และอาหารประเภทอื่น
.
มันหวานนี่ไฟเบอร์ หรือใยเยอะ จำไว้เลยว่าอาหารยิ่งมีใยอาหารสูงเท่าไร ค่า GI ยิ่งต่ำลงเท่านั้น และอาหารยิ่งมีไขมันสูงเท่าไร ค่า GI ยิ่งต่ำลงเท่านั้น
.
อาหารยิ่งผ่านกรรมวิธีการผลิตมากเท่าใดก็ยิ่งมีค่า GI สูงเท่านั้น พยายามเลือกอาหารที่ไม่ไก้ผ่านการแปรรูปมากนักจะดีกว่า
.
วิธีการเตรียมอาหาร มีผลต่อ GI อย่างที่บอกไป ความร้อนนี่ตัวดีเลยนะคะ
.
เวลาดูตารางค่า GI ก็อย่ายึดมั่นถือมั่น เถียงคอเป็นเอ็น ว่า ค่า GI เท่ากัน ชั้นกินได้ ใช้วิจารณญาณนิดนึง อย่า อาหารบางชนิด เช่น แครอท มีค่า GI สูง แต่มีวิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญ ในขณะที่ ไอศกรีมมีค่า GI ต่ำกว่า แต่มีน้ำตาลและไขมันอิ่มตัวสูง สารอาหารก็สู้ แครอทไม่ได้ ดังนั้นในการเลือกอาหารก็ต้องพิจารณาอย่างอื่นด้วย ไม่ใช่แค่ดูค่า GI เพียงอย่างเดียว
.
บอกระดับค่า GI ก่อนจะได้เอาไปใช้ได้ เวลาไปดูหาตารางตามอินเตอร์เน็ต
⭕️ค่า น้อยกว่า 55 = GI ต่ำ
⭕️ค่า 56-69 = GI ระดับกลาง
⭕️ค่า 70-100 = GI สูง
.
ไปซื้อมันหวานก่อนนะคะ เดี๋ยวขาดตลาด หุหุ

Ref: Miller, J. B., Pang, D., and Bramall, L. (1992). “Rice: a high or low glycemic index food”. Am J Clin Nutr, 56: 1034-1036.
Moongngarm, A. Daomukda, and Saowarose Khumpika. (2012).

Chemical compositions, Phytochemicals, and antioxidant capacity of rice bran, rice bran layer, and rice germ. APCBEE Procedia. 2: 73-79.

Sánchez-Pardo, M. E., Alicia, O., Rosalva, M., and Hugo, N. (2007). “In vitro starch digestibility and predicted glycemic index of microwaved and conventionally baked pound cake”. Plant Foods for Human Nutrition, 62, 99-105.

Shen, Y., Jin, L., Xiao, P., Lu, Y., and Bao, J. (2009). “Total phenolic avanoids, antioxidant capacity in rice grain and their relations to grain color, size and weight”. Journal of Cereal Science, 49, 106-111

เกิดอะไรขึ้นเมื่อน้ำหนักหยุดลด (weight-loss plateau)

อะไรว้า พอมาเริ่มลดน้ำหนัก เข้าตาราง เอาจริงเอาจัง อยู่ๆดีไม่ว่าดี จากที่เคยลดทุกอาทิตย์ กลายเป็นไม่ลดแล้ว น้ำหนักนิ่งสนิท ทั้งๆที่ทำทุกอย่างเหมือนเดิมหมดเลย กินเหมือนเดิม ออกกำลังกานเหมือนเดิมเด๊ะ
.
ทำไงดี ทำไงดี ทำไงดี
.
ไม่รู้หล่ะว่าที่เคยลดได้นั้นใช้วิธีไหน แต่จะบอกให้ว่าเกิดขึ้นกับทุกคนค่ะ แต่ที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุต่างกันออกไปนะคะ
.
มาดูแต่ละสาเหตุกัน

1. น้ำหนักน้ำในตัวลด


บางทีที่เราลดไป อาทิตย์ละ 4 กิโลอย่างที่เค้าโฆษณากันเนี่ย นั่นคือน้ำหนักของน้ำค่ะ
.
แต่แม้แต่กระบวนการลดน้ำหนักแบบธรรมดาก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน เพราะจากการการลดปริมาณคาร์โบไฮเดรตลงต่อวัน
.
คาร์โบไฮเดรตไม่ว่าจะในรูปของน้ำตาลหรือแป้ง ขนมต่างๆ จะถูกเก็บในร่างกายในรูปของไกลโคเจน เวลาลดความอ้วนทเราก็ต้องปรับลดปริมาณคาร์โบไฮเดรตลง
.
ไกลโคเจนในร่างกายเรา 1 กรัม จะสะสมน้ำได้ถึง 3-4 กรัมของน้ำหนักน้ำ มันจะเก็บเป็นแพ็คเกจค่ะ
.
การลดน้ำหนักในระยะแรก จึงเกิดจากการสูญเสียน้ำมากกว่า พอปริมาณคาร์โบไฮเดรตหรือไกลโคเจนน้อยลง ปริมาณน้ำที่สะสมในร่างกายก็น้อยลงไปด้วย
.
แล้วที่น้ำหนักขึ้นๆลงๆทุกวัน ก็มาจากการกินคาร์โบไฮเดรตเข้าไปมากน้อยต่างกันในแต่ละวัน อาจจะต่างไม่เยอะ แต่ก็ไม่เป๊ะหรอกค่ะ น้ำที่สะสมอยู่ในร่างกายที่รวมอยู่กับไกลโคเจนก็จะมากขึ้นหรือน้อยลงตามไปด้วย

2. ถ้าเราลดหุ่นด้วยการทำคาร์ดิโออย่างเดียว ไม่ยกเวทสร้างกล้าม สิ่งที่ร่างกายเผาผลาญเอาพลังงานมาใช้อาจจะไม่ใช่ไขมันอย่างเดียว แต่สลายกล้ามไปด้วย (เรากินน้อยลง พลังงานน้อยไกลโคเจนน้อย) พอพลังงานจากไกลโคเจนหมดก็จะไปเอาพลังงานโปรตีนจากกล้ามเนื้อมาใช้
.
ก็เลยเป็นสาเหตุที่ว่า ลดน้ำหนักมาอย่างดีเลย อยู่ๆทุกอย่างหยุด เพราะว่ากล้ามเราน้อยลง ใครที่เล่นเวทจะรู้ดีว่า กล้ามจะช่วยเผาผลาญไขมันด้ว
.
พอกล้ามน้อย ระบบการเผาผลาญก็ช้าลง การเผาผลาญก็ต่ำลง น้ำหนักเราก็ไม่ลง หยุดนิ่ง
.
ดังนั้น นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่เวลาเราลดอาหารแบบฮวบฮาบหรืออดอาหารมากินน้อยจัด กลับกลายเป็นผลเสียไป เพราะกินน้อยพลังงานจากอาหารน้อย ก็ต้องไปสลายกล้ามมาใช้ กล้ามก็น้อย ระบบเผาผลาญก็ช้าลงไป น้ำหนักที่เคยลง ก็ไม่ลง
.
วิธีที่ดีคือควรกินโปรตีนเยอะๆ ให้อิ่มมากขึ้นนานขึ้น (เพราะโปรตีนย่อยยากกว่าคาร์โบไฮเดรต) แต่ควรจะกินอาหารที่เป็น macronutrients ทั้ง 3 กลุ่มหลัก คือ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน (ที่ดี) ให้ครบ ตามสัดส่วนที่เหมาะสม เคยเขียนไปแล้วว่าทำไม ลองไปอ่านดูนะคะ

https://www.facebook.com/Befiteatwell/posts/927108364068417:0

https://www.facebook.com/Befiteatwell/posts/925572207555366:0

3. พอน้ำหนักตัวน้อยลง เราก็เผาผลาญไขมันน้อยลง
.
ตัวเล็กลง ก็เบาลงเป็นธรรมดา ไม่เหมือนตอนตัวหนักต้องอาศัยแรงเยอะในการเคลื่อนไหว อย่าว่าแต่ออกกำลังกายเลยค่ะ แค่ขยับก็เหนื่อยหนักแล้ว
.
จะทำอย่างไรให้น้ำหนักลดต่อไป? ก็ต้องออกกำลังมากขึ้น เปลี่ยนรูปแบบการออกกำลังกายไม่ให้ร่างกายชิน พอเราชิน เราก็ปรับตัวได้ การออกกำลังกายนั้นก็จะง่ายขึ้น คล่องขึ้น เราก็เบิร์นน้อยลงเป็นธรรมด
.
หรืออีกวิธีนึง คือการกินให้น้อยลง คำนวณสัดส่วนการกินใหม่ทุกๆ 2-4 กิโลกรัมของน้ำหนักตัวที่ลดไป ทำตารางบันทึกอาหาร ดูว่าเรากินเท่าไหร่ กินอะไร เวลาไหน
.
nutrient timing นี้ก็สำคัญมากนะคะ กินอะไรตอนไหน เช่น คาร์บก่อนหรือหลังออกกำลังกาย หรือกินคาร์บแบบไหน ไม่ใช่ตั้งหน้าตั้งตาลดแคลอรี่อย่างเดียว อย่าลืมเรื่องการคำนวณค่า BMR
.
Basal Metabolic Rate (BMR)คือ อัตราการความต้องการเผาผลาญของร่างกายในชีวิตประจำวัน หรือจำนวนแคลอรี่ขั้นต่ำที่ต้องการใช้ในชีวิตแต่ละวัน เราไม่ควรที่จะกินต่ำกว่าค่านั้นในแต่ละวัน ลองคำนวณดูที่นี่นะคะ

http://kcal.memo8.com/bmr/
.
เวลาเราตัวเบาลง ก็จะต้องการพลังงานการเคลื่อนไหวน้อยลง แต่ไม่ควรที่จะต่ำกว่าค่า BMR (นี่พูดถึงกรณีที่ไม่สร้างกล้ามนะคะ ถ้าจะสร้างกล้ามก็อาจจะต้องเพิ่มโปรตีนอะไรไปเพื่อซ่อมแซมกล้ามหลังการออกกำลังกาย)
.
มี App. ที่แนะนำทุกครั้งที่พูดถึงเรื่องกิน จนเกือบได้รับเชิญไปถือหุ้นแล้วนี่ คือ app. ที่ชื่อ Myfitnesspal จดบันทึกรายการอาหารในนั้น ดีที่สุดเพราะเราตั้งค่าคำนวณตามสัดส่วนอาหารและปริมาณแคลอรี่ที่เราต้องการในแต่ละวันได้ค่ะ และดูได้ว่า เรากินอะไร เท่าไหร่ ต่อวัน

4. Hit plateau จากการออกกำลังกาย
.
ทุกคนมาถึงจุดนี้หมดถ้าไม่เปลี่ยนปรับเปลี่ยนโปรแกรมการออกกำลังกาย เราเปลี่ยนโปรแกรมได้หลายแบบค่ะ
.
การทำตารางหรือจดบันทึกนั้น ไม่ใช่ทำเฉพาะบันทึกอาหารเท่านั้น แต่ควรทำตารางออกกำลังกายด้วย
.
ตารางออกกำลังกายนั้น ควรจะระบุว่า
.
– ออกกำลังกายประเภทใด เช่น คาร์ดิโอแบบไหน วิ่ง ว่ายน้ำ หรือยกเวท ยกเวทส่วนไหน เป็นต้น
.
– ความหนักเท่าไหร่ เช่น ออกแบบความหนักเท่าไหร่ (กี่เปอร์เซ็นต์ของ 1 rep max) กี่ rep/lap of กี่เซ็ต หรือถ้าคาร์ดิโอ ก็ระบุว่า ความเร็วเท่าไหร่ tempo เท่าไหร่ heart rate โซนไหน พักระหว่าเซ็ต นานแค่ไหน
.
ถ้าออกกำลังกายอยู่แล้ว 1 ชั่วโมง ก็อาจจะปรับความหนักแทน ลดระยะเวลาพักระหว่างเซ็ตลง จนเหลือ 30 วินาที ปรับท่าจากที่นอนทำ เป็นมาใช้ Swiss ball ใช้ BOSU ball เข้ามา (เปลี่ยน stability) จากที่เคยออกกำลังกายอยู่ในยิมก็ลองออกมาออกข้างนอกบ้าง จากที่เคยวิ่งลู่ไฟฟ้า ก็ลองมาวิ่งในสนามวิ่งบ้าง วิ่งในป่าแบบเทรลบ้าง แบบ city run บ้าง
.
ปรับตารางการออกกำลังกาย สลับตารางไปมาบ้างก็จะช่วยให้กล้ามเนื้อ และ ร่างกายได้ท้าทายมากขึ้น ระบบประสาทไม่เคยชินจนทำให้หยุดการพัฒนา
5. สุดท้ายคือพักผ่อนให้พอ นอนให้พอ
.
การที่ร่างกายอยู่ในภาวะเครียดจากการขาดการพักผ่อน จากการงาน จากการเทรนทำให้ร่างกายตั้งตัวให้อยู่ในสภาวะฉุกเฉินเตรียมสู้ศึกตลอดเวลา ดังนั้น เรากินอะไรเข้าไป ร่างก่ยก็จะเก็บเอาไว้เป็นทุนหมด ไขมันก็จะไม่ลด กล้ามก็จะไม่ขึ้น
.
อย่าพึ่งตกใจไปค่ะ ถ้าทำทั้งหมดที่ว่านี้แล้ว ยังปก้ไม่ได้เพราะว่า ข่าวดีคือ เราอาจจะสร้างกล้ามขึ้นมาได้ใหญ่ขึ้น กล้ามหนักกว่าไขมันนะคะ อย่าลืม นี่คือนิมิตรหมายที่ดีค่ะ
.
โทนและลีนนี่รูปร้างในฝันของใครหลายคนเลยนะคะ

อ้วนเพราะ น้ำผลไม้

ตัวดีเลย ได้ยินบ่อย ไม่เป็นไร ผลไม้กินด้ายยยย ไม่อ้วนหรอก

น้ำตาล จะฟรุ้กโต๊สก็คือน้ำตาลค่ะ
.
แต่ถ้าเราต้องการไฟเบอร์ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในกากและผิวของผลไม้ ใน smoothie จะมีมากกว่าน้ำผลไม้ เพราะในน้ำผลไม้ส่วนใหญ่ จะกรองสิ่งเหล่านี้ออกไปหมด ซึ่งจริงๆแล้วพวกกากและผิวเหล่านี้จะช่วยให้การดูดซึมเป็นไปอย่างช้าลง พอช้าลง ความหวานที่มาจากผลไม้ ก็จะทำให้ไม่เกิด sugar spikes พอไม่เกิด sugar spikes หรือการที่ทำให้ระดับอินซูลินขึ้นเร็วและตกวูบ ทำให้เราอิ่มนานขึ้น ไม่อยากของหวานหรือหิวบ่อย ผลก็คือ..ผอมสิคะ
.
James Collins ซึ่งเป็นนักโภชนาการของ Centre for Health and Human Performance, ลอนดอน เคยจัดสัมมนาการวิจัย เรื่องน้ำตาลฟรุ้กโต้ส ได้ความว่า ฟรุ้กโต้สแย่กว่าน้ำตาลกลูโคสนิดเดียวเองในด้ายการทำให้เราน้ำหนักเพิ่ม กินขนมไปเลยมะ อย่างน้อยก็สะใจ (พูดเล่นนะคะ อย่าเอาจริง)
.
จุดประสงค์ของการทำวิจัยนี้ก็เพื่อต้องให้คนกลับไปกิน ‘real food’ คือกินอาหารเป็นชิ้นเป็นอัน แทนที่จะกินอาหารตามตำราลดอาหารตามเทรน น้ำนู่นนี่ แล้วหิวโหยไปวันๆ
.
ไม่ต้องการให้ลืมความรู้ขั้นพื้นฐานว่า การกินอาหารอย่างสมบูรณ์ถูกสุขลักษณะ ครบหมวดหมู่นั้นหน้าตาเป็นอย่างไร อย่าทำทางลัดค่ะ อย่าใจร้อนคนเราต้องการ macronutrients 3 หมู่ใหญ่ คือ โปรตีน ไขมัน และ คาร์โบไฮเดรต ค่ะ อาหาร 3 กลุ่มนี้มีหน้าที่ของมันชัดเจนค่ะ
.
ไม่มีอาหารอะไรที่เรียกว่า ‘superfoods’ นะคะ ยิ่งกินยิ่งดี อะไรอย่างนี้ ไม่จริงค่ะ แม้กระทั่งอาหารที่เรียกว่า ‘อาหารสุขภาพ’ ถ้ากินเกินปริมาณแคลอรี่ที่เราต้องการต่อวัน ก็อ้วนได้เหมือนกันค่ะ
.
ถ้าเรากิน smoothie วันละ 3-4 แก้ว ถึงจะมีใยมีกากก็เหอะ อ้วนได้เสมอค่ะ
.
คือที่พูดๆมาเนี่ย จะพยายามเข้าเรื่องของ การกินอาหารเป็นเวลา หรือ nutrient timing คือการเลือกกินอาหาร 3 กลุ่มหลักของเรา กินในเวลาที่เหมาะกับกิจกรรมของเรา ไม่ใช่สุ่มสี่สุ่มห้า งดมันไปซะหมดเพียงเพื่อที่จะลดไขมัน เราต้องมีชีวิตอยู่กิน smoothie อีกนาน ดังนั้นเลือกกินให้ถูกเวลา ก็จะเป็นประโยชน์ในระยะยาวค่ะ เพราะถ้าเราไม่ขาด เราก็ไม่โหยมากเกินงามนะคะ
.
ทีนี้ กิน smoothie ได้เมื่อไหร่ดี
.
คำตอบคือ แทนอาหารเช้าก็ได้ ถ้าเราใส่ผลไม้ที่อิ่มนาน เช่น กล้วย ผสมกับ เวย์โปรตีนก็ได้ นี่คือยกตัวอย่างนะคะ หรือจะกินหลังออกกำลังกายมา ได้ทั้งโปรตีนและไกลโคเจนที่สลายตัวง่ายไปทนแทนไกลโคเจนที่เสียไป
.
นี่เกิดอาการระแวงขึ้นมานิดๆว่าเดี๋ยวพอบอกให้กินได้ ที่รักทั้งหลายก็จะโหมโรงกันใช้ผลไม้ที่น้ำตาลเยอะสุด อ้วนสุด เอาแบบน้องๆเค้กเลย คดใส่เครื่องปั่นกันจนปริ่มฝา แล้วก็จะมาอ้วนใส่
.
ก็จะบอกสูตรให้คร่าวๆ เอาไปปรับทำเองนะคะ เอาเครื่องที่พอหาได้นะคะ
.
สูตร
.
กรีกโยเกิร์ต หรือ เวย์ (ถ้าคุ้นเคยหรือมีอยู่แล้วนะคะ) + ผลไม้พวก berries 1 กำมือพอ (เอาแบบที่ขายแช่แข็งก็ได้ค่ะ มีคุณค่าอยู่เกือบเท่าของสด และเราใช้น้อยมาก ใช้ได้นานค่ะ) ผสมน้ำ หรือจะใช้ นมอัลมอนด์ ก็ได้ค่ะ
.
ถ้าจะให้อิ่มโลดถึงกลางวัน ก็ใส่กล้วยครึ่งลูกใหญ่ หรือกล้วยเล็กจิ๋วๆ 1 ลูก หรือ ใส่ มะม่วงครึ่งลูก แต่ห้ามใส่ทั้ง 2 นะคะ แค่นี้ก็เป็นอาหารเช้าที่ทำง่าย ปั่นไป แต่งตัวไปยังได้ (ทำแบบนี้ทุกเช้า) เท่านี้พอนะคะ ไม่ใช่กินอาหารเช้าเสริมเข้าไปอีกนะคะ
.
สูตรนี้เราวิ่งได้ 10 กิโลคะ ประสพการณ์จริง
.
ทำไมถึงอิ่มรู้ไม๊คะ
.
เพราะว่า โปรตีนเนี่ยนอกจากจะทำให้ พลังงาน หรือ energy level ของเราไม่ตกแล้ว ยังจะไปช่วยชะลอการสลายตัวของคาร์โบไฮเดรต (ผลไม้) ให้จ่ายพลังงานแบบเรื่อยๆ ช้าๆ
.
บางสูตรใส่ ผักขมลงไปซัก 1 กำมือก็ได้นะคะ ถ้าระหว่างวันหาผักกินยาก คนทำงานอ่ะเนอะ เวลาน้อย เรื่องยุ่งเยอะแล้ว เข้าใจค่ะ
.
กฎคืออะไร
.
⭕️ใส่นมอัลมอนด์ โยเกิร์ต หรือเวย์นะคะ ไม่ใช้ทั้ง 3 อย่างรวมกันนะคะ เลือกเอาอย่างเดียว
.
⭕️ ใส่ ผลไม้ แค่ 1 กำมือ มากกว่านั้นคือน้ำตาลเกินแล้วค่ะ
.
⭕️ อย่ากิน smoothie เป็นของว่างนะคะ ไม่ใช่นึกอยากกินก็กิน แล้วอ้างว่าเป็น ผลไม้นะคะ
.
⭕️ ผสมน้ำ หรือนมอัลมอนด์ อย่างที่บอกนะคะ ห้ามใช้ น้ำผลไม้มาผสมเป็น mixer นะคะ
.
⭕️ กินได้ห้ามเกินวันละ 1 แก้ว
.
หุ หุ โค้ชเอินมาสายโหดค่ะวันนี้ แต่เห็นคนไทยกินน้ำตาลแฝงรูปเยอะจนน่าตกใจ แต่ไปลดแป้งแทน!
.
เป็นห่วงนะคะ

Fat burner

Fat burner ที่นักกีฬาโดยเฉพาะยกน้ำหนักเค้าพูดถึงกัน มันคืออะไรหนอ
.
เค้าไม่ได้พูดถึงยาลดความอ้วนกันนะคะ แต่จะพูดถึงอาหารเสริมที่ส่วนมากจะช่วยทำให้ข้างในร่างกายเรา (body temperature) ร้อนขึ้น ส่วนใหญ่ก็จะทำมาจากสมุนไพร (herbal stimulants) ที่จะช่วยให้เราเผาผลาญแคลอรี่ได้มากขึ้นระหว่างออกกำลังกายค่ะ
.
ไม่ได้มาสนับสนุนให้ใช้นะ เดี๋ยวจะเข้าใจผิด เรากินดี อยู่ดี เอ๊ย! กินดี ออกกำลังกายดีๆ เราก็ผอมได้แล้วค่ะ เราไม่ได้จะเร่งผอมไปงานประกวดที่ไหน
.
วันนี้แค่จะมาเล่าให้ฟังว่าส่วนผสมในพวก fat burner ส่วนใหญ่มีอะไรบ้าง
.
1. คาเฟอีน (Caffeine)
.
คาเฟอีนจะช่วยกระตุ้นการใช้พลังงานและการเผาผลาญไขมัน (fat oxidation) ระหว่างการพักผ่อนและระหว่างการออกกำลังกาย ช่วยให้ร่างกายเราสามารถเอาไขมันมาเปลี่ยนเป็นพลังงานเพื่อเอามาใช้ได้ดีขึ้น
.
คาเฟอีนยังช่วยในการสร้างความร้อนภายในร่างกาย เพราะมีคุณสมบัติเป็น “เทอร์โมเจนีซีส” (Thermogenesis) ซึ่งคือสารเร่งการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย มีผลทำให้ไขมันที่สะสมตามส่วนต่างๆ ของร่างกายถูกสลายเป็นพลังงานความร้อน
.
แต่กว่าจะได้ผลก็จะต้องกินเป็นปริมาณมากพอสมควรนะคะ จึงต้องกินเป็นแบบเม็ด ประมาณ 8mg ต่อน้ำหนักตัว หรือประมาณ กาแฟอมริกาโน่ 8 ถ้วย…. อูยยย
.
2. L-carnitine
.
บางคนคงคุ้นหู บางคนใช้อยู่ก็มี โดยเฉพาะคนที่เล่นเวท ตัวนี้นี่จะมีกรดอะมิโนที่ขนส่งเอากรดไขมัน (fatty acids) ไปที่ไมโทคอนเดรีย (mitochondria) ซึ่งคือแหล่งสร้างพลังงานของเซลล์ ให้สร้างพลังเพิ่มขึ้น
.
เราจะพบ mitochondria ในอวัยวะที่มีการใช้พลังงานแบบอาศัยออกซิเจนมาก เช่น กล้ามเนื้อโดยเฉพาะพวกกล้ามเนื้อกระตุกช้า (การเทรนแบบendurance เป็นการเทรนกล้ามเนื้อกระตุกช้าค่ะ) กล้ามเนื้อหัวใจ เป็นต้น
.
เมื่อกิน L-carnitine ประมาณ 500-3000mg หรือประมาณแก้วนึง ก่อนออกกำลังกายก็จะช่วยให้ร่างกายเอาพลังงานจากไขมันที่สะสมและใช้ได้ ไปเป็นพลังงานในการออกกำลังกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเราออกกำลังกายโดยไม่กินอาหารก่อน (training fasted) หรือ อยู่ในช่วงของการใช้วิธีลดความอ้วนแบบ low carb diet
.
นี่เป็นเพียงความเชื่อในหมู่นักเพาะกายนะคะ ยังไม่มีการทำวิจัยเป็นเรื่องเป็นราวทางวิทยาศาสตร์นะคะ
.
3. ชาเขียว (Green tea)
.
ตัวนี้ดีสุด มีการทำวิจัยแล้วด้วยว่าช่วยเร่งการเผาผลาญไขมันค่ะมีผลดีอย่างอื่นด้วย คือมี antioxidants (กันแก่- หันขวับล่ะสิ) และก็ช่วยป้องกันโรคอ้วน โรคหัวใจ จนถึงโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer) ด้วยค่ะเคยมีการทำวิจัยในกลุ่มคนไทยด้วย ได้ผลว่าจริงนะคะ ชาเขียวสามารถลดน้ำหนักในคนไทยที่อ้วนได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในสัปดาห์ที่ 8 โดยการเพิ่มการใช้พลังงานและการสลายไขมัน ลองไปอ่านดูนะคะ

http://www.smj.ejnal.com/e-journal/showdetail/…

.
จิบชาเขียวแทนชาธรรมดา หรือน้ำอัดลม ระหว่างวันเพื่อประโยชน์ต่างๆนอกเหนือจากการลดความอ้วนนะคะ อันนี้แนะนำสนับสนุนค่ะ
.
4. อาหารเสริมที่มี phosphatidylserine
.
ช่วงที่เราออกกำลังกายหนักๆ ร่างกายอยู่ใต้สภาวะที่ตึงเครียด. ฮอร์โมนเครียด (cortisol) ซึ่งรับผิดชอบในการเก็บกักไขมันเอาไว้เผื่อเราออกรบยามฉุกเฉิน (ร่างกายเราแยกไม่ออกค่ะว่าเราตั้งใจเทรน ไม่ได้มีอะไรฉุกเฉินแต่เพียงอย่างใด) ก็จะถูกหลั่งออกมา เทีนเท่าไหร่ก็ไม่ลด กล้ามก็ไม่ขึ้น
.
เชื่อกันว่า ถ้าเรากิน ฟอสโฟลิพิด ซึ่งเป็นอาหารเสริมที่สะกัดจากอาหารประเพศถั่ว (soy) ก็จะไปช่วยบล็อกการหลั่งไหลของฮอร์โมนเครียดค่ะ
.
เราก็จะฟื้นตัว (recover) เราขึ้น เผาผลาญไขมันเร็วขึ้น เทรนต่อไปกล้ามก็มาได้ดีขึ้น เวลากินก็จะกินหลังออกกำลังกาย หรือ ตอนเย็น โดยเฉพาะช่วงไหนที่เทรนอย่างหนัก หรือใครที่เครียดง่ายกว่าคนอื่น ร่างกายเราไม่เท่ากันนะคะ อย่าลืม บางร่างเครียดง่ายมาก
.
แต่เชื่อเถอะค่ะว่า ไม่มีอะไรที่เหนือ recovery week หรือ การพักตาราง 1 อาทิตย์ให้ร่างกายได้ reset หรอกค่ะ จริงนะ
.
5. Blackcurrant
.
ต้องเป็นในรูป blackcurrant extract นะคะ กิน 300 mg ต่อวัน นี่คือตามงานทดลองที่ มหาวิทยาลัย Chichester ที่อังกฤษนี่เองค่ะ เค้าให้นักปั่นจักรยานเทรนแบบ 3 แบบลองกินดู ปรากฏว่าเวลาเทรนหนักแบบ high intensity จะเบิร์นไขมัน ได้มากขึ้น 27% และในเวลาออกกำลังกายแบบ low intensity ก็จะเบิร์นได้ 15% กว่าปกติ
.
เพราะว่าเวลาใช้ตัวยานี้ในระหว่างการทดลอง จะเห็นได้ชัดเลยว่า มีการกระตุ้นเอ็นไซม์ที่ขนส่งไขมันไปเปลี่ยนเป็นพลังงานใน mitochondria ได้สูงขึ้นซึ่งถือเป็น การใช้ไขมันเป็นแหล่งพลังงานในกล้ามเนื้อนั่นเองค่ะ
.
จริงๆแล้วไม่ใช่เฉพาะ blackcurrent นะคะ ในผักผลไม้ผิวดำส่วนใหญ่ก็จะมีคุณสมบัตินี้ค่ะ เช่น เชอรี่ โอเบอร์จีน ลูกพลัม พวกนี้เบิร์นไขมันหมดค่ะ
.
6. Grapefruit
.
กินครึ่งซีกก่อนอาหารจะช่วยให้ลดน้ำหนักได้ถึง ครึ่งกิโลกรัมต่ออาทิตย์ คือต้องไม่กิน ‘อาหารขยะ’ ทุกมื้อนะคะ เพราะว่าในผลไม้ชนิดนี้มีส่รที่ช่วยในการปรับระดับของอินซูลิน คืออะไรก็ตามที่สามารถลดระดับอินซูลินได้ก็ช่วยลดน้ำหนักได้แหละค่ะ
.
อาหารที่ช่วยลดน้ำตาลในเลือด ที่ดีทั้งสุขภาพผู้ป่วยโรคเบาหวานและคนที่ต้องการลดน้ำหนัก ที่จะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ก็มีพวกผักใบเขียว อะโวคาโด ข้าวโอ๊ต wholegrain ค่ะ
.
7. ถั่วอัลมอนด์
.
นี่ก็ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดนะคะ กินวันละ 1 กำมือนะคะ หรือประมาณ 6-7เม็ดนะคะ ไม่ใช่ 1 กระสอบ เคยพลาดมาแล้วค่ะ
.
อัลมอนด์มีดีทั้งแมกนีเซียม ไฟเบอร์ โปรตีน แถมยังมีโครเมียมอีกด้วยค่ะ มีการทำทดลองตีพิมพ์ใน US International Journal Of Obesity ว่ากินถั่วอัลมอนด์วันละ 1 กำมือ ทุกวันเป็นเวลา 6 เดือน จะช่วยลดไขมัน ได้ 18% ค่ะ ไม่ใช่เหลือไขมัน 18% นะคะ อ่านดีๆ
.
พวกนี้เนี่ยถือเป็นตัวช่วยนะคะ ไม่ใช่เอาเป็นหลักเลย หลักคืออย่างที่บอกนะคะ ว่าเราออกกำลังกาย กินในสิ่งที่เป็นประโยชน์ดีที่สุดค่
.
บางทีเราต้องถามตัวเองก่อนว่าเราต้องการตัวช่วยด้านไหน ไม่ใช่คิดแต่ว่าเอามาทำให้ผอม อะไรก็ได้ ทางใดก็ไม่สน ไม่ได้นะคะ เพราะว่าถ้าเราจะใช้เป็นตัวช่วย เราต้องดูก่อนว่า ร่างกายเรารับได้หรือไม่ แค่ไหนเรามีโรคอะไรที่ควรระวังและอาจมีผลกระทบถ้าใช้ยาพวกนี้ช่วย
.

ถ้าจะใช้ เราต้องดูว่า ต้องการอะไรจาก fat burner supplement
.
⭕️ถ้าเราต้องการพลังงาน (Energy)
.
ตัวแรกเลยคือ คาเฟอีน เราต้องดูที่ฉลากข้างกล่องว่าอาหารเสริมนั้นมีคาเฟอีนเท่าไหร่ อะไรก็ตามที่มากกว่า 200 มิลลิกรัมถือว่าค่อนข้างจะอันตรายแล้วค่ะ
.
⭕️ถ้าเราต้องการเร่งการเผาผลาญ (Metabolism)
.
ก็จะเป็นพวกชาเขียว (green tea extract) synephrine (Citrus aurantium), capsaicin (สารธรรมชาติที่ให้ความเผ็ดกับพริก), raspberry ketones, และ 7-keto DHEA ที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษจะได้เอาไปเทียบตัวได้ค่ะ
.
⭕️ถ้าจะให้ช่วยบล็อกคาร์โบไฮเดรต
.
สำหรับคนที่ชอบกินแป้ง ก็หาตัวช่วยบล็อก ไม่ให้ร่างกายดูดซึมคาร์โบไฮเดรตเข้าไปมากนัก ก็ดูอาหารเสริมที่มี white kidney bean extract (Phaseolus vulgaris)
.
มีอาหารเสริมที่ช่วยให้คาร์โบไฮเดรตที่เรากินถูกส่งไปที่กล้ามมากกว่าไปสะสมที่เซลส์ไขมัน ก็พวก cinnamon extract (Cinnulin PF), alpha lipoic acid, และก็สารอาหารประเภท chromium
.
⭕️ถ้าต้องการลดน้ำ สำหรับพวกที่บวมน้ำ
.
คือสำหรับเวลาที่ต้องผอมแบบฉุกเฉิน ต้องไปงาน ไปถ่ายแบบ ใส่ชุดว่ายน้ำ ส่วนใหญ่นักเพาะกายจะใช้ก่อนขึ้นประกวด ก็จะกิน fat burner ประเภทที่มีสาร dandelion root (Taraxacum officinale), uva ursi, celery seed, and buchu leaf ก่อนหน้าวันที่ต้องสวย 1 อาทิตย์
.
บอกเลยว่า เรื่องนี้เขียนไปก็หวาดไป เพราะเป็นเรื่องที่ ‘เหมือนจะ’ ต้องห้าม ไม่ค่อยมีใครเขียนถึง แต่ทุกวันนี้เราก็จะเห็นโฆษณาพวกละลายไขมัน ทำให้ผอมอยู่ทั่วไป ก็อยากให้รู้เท่าทัน อ่านฉลากออกว่า อาหารเสริมเหล่านั้นตรงกับความต้องการของเราหรือไม่ เหมาะสมกับสภาพร่างกายเราหรือไม่ เราขาดจริงหรือ
.
ไม่อยากให้ใช้ บอกเลยค่ะ เพราะในระยะยาว เราต้องเรียนรู้ที่จะปรับปรุงนิสัยการกิน การออกกำลังกาย และการดูแลตัวเองโดยไม่ใช้อาหารเสริมให้เป็นการเปลืองอย่างถาวร แต่อยากให้รู้จักเอาไว้ ไม่ปิดหูปิดตาตัวเองค่ะ
.
วันนี้ก็ไปเดินในร้านขายอาหารเสริมชื่อดังของที่อังกฤษ ทุกตัวที่กล่าวถึงมีขายหมดนะคะ แต่การที่มีขายอย่างถูกกฎหมาย ไม่ได้แปลว่ามีการรับรองว่าใช้ได้ผล ไม่ได้แปลว่าควรใช้ ไม่ได้แปลว่าเหมาะสมกับร่างกายของคนทุกคน
.
เราทุกคนมีหน้าที่ดูแลตัวเองให้ดี ใช้วิจารณญาณในการดูแลตัวเองอย่างรอบคอบค่ะ อยากกินจริงๆ ก็ถ่ายรูปฉลากข้างขวดแล้วไปให้คุณหมอดูนะคะ ถ้าคิดจะดื้อกับเทรนเน่อร์แล้วเนี่ย!
.
สุดท้ายนี้ ไม่อยากจะอวด….Be fit and eat well คือทางเลือกที่ดีที่สุดในระยะยาวค่ะ

Ref: Men’s Health Big Book of Exercises by Adam Campbell

Fat-Burner Foods: Eat Yourself Slim by. Dr Caroline Shreeve

ภูมิคุ้มกันโรคกับการออกกำลังกาย และเมื่อไหร่ที่ควรหยุดพัก

การออกกำลังกายจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ ทำให้กระดูกแข็งแรง โดยเฉพาะการออกกำลังกายแบบ แบกรับน้ำหนัก (weight bearing exercise) เช่น วิ่ง ยกเวท ก็จะช่วยสร้างมวลกระดูก ป้องกันโรคกระดูกพรุนได้ส่วนหนึ่ง(ต้องกินดี กินแคลเซียม และโปรตีนด้วยให้เพียงพอควบคู่ไปด้วย)
.
ทีนี้มาถึงเรื่องสุขภาพร่างกายในแง่ของโรคที่เกี่ยวข้องกับภูมิต้านทาน ติดเชื้อ
.
การออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มการผลิต macrophages ซึ่งมีหน้าที่ในการกินสิ่งแปลกปลอม แบคทีเรีย ที่เข้ามาในร่างกาย โดยเฉพาะเชื้อโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ เช่น หวัด ภูมิแพ้

คำถาม: ทำไมเรายังป่วยกันอยู่ ทั้งๆที่ออกกำลังกายกันสม่ำเสมอ
.
ก็เหมือนกับทุกอย่างที่ ถ้ามากเกินไปก็จะเกิดอาการ overdose หรือผู้เชี่ยวชาญเรียกว่า ‘J-curve’ hypothesis’ ออกกำลังกายแบบพอเหมาะในระดับปานกลางจะดีต่อภูมิคุ้มกั
การพักก็เป็นส่วนหนึ่งของการเทรน การนอนเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่ง (part of) ของการออกกำลังกาย การกิน (ที่ดี) เป็นเชื้อเพลิงของการออกกำลังกาย 3 สิ่งนี้จะแยกออกจากกันไม่ได้
อาการเครียดในร่างกายเริ่มตอนไหน
.
ออกกำลังกายติดต่อกันเป็นระยะเวลาเกิน 90 นาที จะทำให้การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรียจะลดลงชั่วคราวเมื่อเสร็จสิ้นการออกกำลังกายแล้ว แต่จะกลับมาเป็นปกติได้ในเวลาหลายชั่วโมงหลังจากนั้น นักวิ่งหลังวิ่งมาธอน หรือนักไตรกีฬา หรือคนที่ออกกำลังกายที่หนักติดต่อกันเป็นเวลานานๆ โดยไม่มีวันพัก ก็จะมีความเสี่ยงสูงมากกว่ากลุ่มอื่นค่ะ
.
การเทรนหนักโดยไม่พักเลยติดต่อกันเป็นเวลานาน จะไปเพิ่มฮอร์โมนเครียด (stress-related hormones) ทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ นอกเหนือไปจากกล้ามไม่ขึ้นแล้ว
ฮอร์โมนเครียดตัวหลักเลย คือ Cortisol ซึ่งปกติจะมีปริมาณมากที่สุดในช่วงเช้า มีพลังต่อสู้ในวันใหม่ของทุกวัน และจะลดลงเหลือเพียง 10% ในช่วงเย็น
.
Cortisol มีหน้าที่ทำให้ความดันโลหิตสูงและหัวใจเต้นเร็วเพื่อเตรียมพร้อมให้ ร่างกายแข็งแรง และมีพลังงานพร้อมที่เผชิญปัญหา ต่อสู้ชีวิต ซึ่งถ้าหาก ฮอร์โมนนั้นจะถูกใช้ไป ความกดดันหรือความเครียดก็จะหายไป เช่น กรณีที่เรามีแรงสามารถแบกตุ่มตอนหนีไฟได้ เป็นต้น นั่นคือเราใช้พลังงานจากฮอร์โมนตัวนี้

บางกรณีเราอาจจะพักให้ ระบบร่างกายเรา reset ตัวเอง เวลาเขียนโปรแกรมเทรน จึงควรที่จะมี recovery week ทุกๆ4-6 อาทิตย์ ที่เราจะปรับการออกกำลังกายให้เบาขึ้น ออกน้อยวันลง หรือจะหยุดการออกกำลังกายไปเลยก็ได้ค่ะ 5-7วัน
ในกรณีเราเกิดความเครียดแบบไม่รู้ตัว หรือแบบรู้ตัวแต่จะทำ(นักติดกีฬาทั้งหลาย) จะทำให้ฮอร์โมนเหล่านั้นสะสมในร่างกายมาก เพราะไม่ได้พักผ่อนเลย ก็จะเกิดผลเสียต่อสุขภาพ นานๆเข้า ก็จะเกิดเป็นภาวะ reverse cortisol คือ สูงตลอด พลุ่งพล่านอยู่ในตัว คนที่เครียดเรื้อรังจะมีภูมิต้านทานต่ำ และมีเม็ดเลือดขาวน้อยกว่าคนทั่วไป ก่อให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย เช่นหวัด เริม เป็นต้น
 เราต้องหาจุดที่เหมาะสมกับตัวเราเท่านั้นเองว่า ตอนนี้เราควรจะออกกำลังกายแบบไหน หนักเท่าไหร่ ไม่ใช่ออกกำลังกายตามคนอื่น ฝืนตัวเองตามตารางไปทั้งๆที่ความฟิตเราไม่พร้อม เพราะนอกจากจะบาดเจ็บแล้ว เราก็จะสร้างความเครียดให้กับตัวเองทั้งทางร่างกายและจิตใจ บางทีพอเจ็บแล้วกลับไปโทษว่า การออกกำลังกายไม่ดีต่อสุขภาพซะอย่างงั้น ทั้งๆที่การออกกำลังกายเนี่ยยังไงก็ดีกว่าไม่ออกกำลังกายเลยแน่นอนค่ะ
.
มีการทำการศึกษาเรื่องภูมิต้านทานอยู่ฉบับนึง (Cortisol Connection by Shawn Talbott, Ph.D.) พบว่า คนที่ออกกำลังกาย ที่ระดับ 70-75% ของระดับการเต้นหัวใจสูงสุด(maximum heart rate) 40 นาทีต่อวัน มีรายงานว่าป่วยจากโรคหวัด หรือเจ็บคอน้อยกว่าคนที่ไม่ออกกำลังกายเลย
ถ้าไม่สบายควรจะออกกำลังกายหรือไม่
.
กฎสากลทั่วไป อันนี้อิงข้อมูลจาก Runners World นะคะ(www.runnersworld.com/health/should-you-run-when-youre-sick) ว่า ถ้าเป็นเพียงหวัดธรรมดา ใช้กฎ “neck rule” นะคะ คือถ้าเป็นอะไรที่เหนือคอขึ้นไป เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหลโดยไม่มีไข้ ปวดหัว หรือปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ก็สามารถออกกำลังกายได้ค่ะ ไม่มีผลต่อประสิทธิภาพการออกกำลังกาย(performance) อย่างไร
.
แต่ถ้ามีอาการไอที่มาจากปอด เจ็บคอ ไซนัส ควรพัก 2-3 วัน หรือจนกว่าจะดีขึ้นค่ะ
.
ระหว่างพักอาจออกกำลังกายเบาๆได้ แต่ถ้ามีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองโตควรพัก 2-4 สัปดาห์ ก่อนจะอนุญาตให้กลับไปออกกำลังกายหนักเหมือนเดิมนะคะ
.
ส่วนคนที่ไปลงแข่งมาราธอน ไตรกีฬามา หลังแข่งควรพักอย่างน้อย 2 อาทิตย์ เรื่องนี้เคยเขียนไปแล้วด้วย ไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่นะคะ
https://www.facebook.com/Befiteatwell/posts/887254094720511:0
ชีวิตหลังการพัก
.
หลังพักนาน ไปเที่ยวมาเป็นเดือนๆ หรือ หลังป่วยแบบเป็นอาทิตย์ๆ โปรแกรมหลุด ฟิตเนสตกทำไงดี
.
ก็จะกลับมาเทรนใหม่ก็ให้เวลาฟื้นตัว 2 วัน ต่อวันพักที่พักไป 1 วัน ให้ร่างกายปรับตัว ด้วยการออกกำลังกายให้หนักน้อยกว่าที่เคยเทรน โดยประมาณนะคะ อันนี้จริงๆแล้วขึ้นอยู่กับความฟิตที่เป็นต้นทุนเดิมอยู่ด้วย แต่ที่แน่นอน ก็คือ อย่าหวังและผิดหวังถ้าวันที่กลับมาเทรน รู้สึกว่าความฟิตเราตกลงไปค่ะ
.
ควรจะถามตัวเองว่า เราออกกำลังกายไปเพื่ออะไร
Ref: Barrett B. Viral upper respiratory infection. In: Rakel DP, ed. Integrative Medicine. 3rd ed. Philadelphia, PA: Elsevier Saunders; 2012:chap 16.

Hewitt MJ. Writing an exercise prescription. In: Rakel DP, ed. Integrative Medicine. 3rd ed. Philadelphia, PA: Elsevier Saunders; 2012:chap 88.

Ivker RS. Chronic sinusitis. In: Rakel DP, ed. Integrative Medicine. 3rd ed. Philadelphia, PA: Elsevier Saunders; 2012:chap 15.

Johnson R, Knopp W. Nonorthopaedic conditions. In: DeLee JC, Drez D Jr, Miller MD, eds. DeLee and Drez’s Orthopaedic Sports Medicine. 3rd ed. Philadelphia,

Cortisol Connection by Shawn Talbott, Ph.D.

The Metabolic Plan by Stephen Cherniske, M.S.

การลดความอ้วนแบบ low carb diet

ต่อเนื่องจากเมื่อวันก่อน ถามมากันว่า วันๆนึงกินคาร์บเยอะอย่างนี้จะดีหรือ
.
คาร์โบไฮเดรตสำคัญมากนะคะ ให้ไกลโคเจนต่อร่างกาย ถ้ามีไม่พอกล้ามเนื้อเราก็จะไปดึงกลูโคสจากกระแสเลือดมาเป็นพลังงาน ก็จะไปทำให้น้ำตาลในกระแสเลือดลดลง สมองก็ได้กลูโคสน้อยลงไปตามลำดับ นี่แบบฉบับย่อนะคะ
.
Low carb diet เหมาะกับคนที่เล่นกีฬาหรือไม่ – แล้วแต่คนค่ะ ขึ้นอยู่ว่า low แค่ไหนด้วย เพราะระหว่างการออกกำลังกายที่ปานกลาง ถึงค่อนข้างหนัก ไกลโคเจนที่สะสมไว้ (ร่างกายเราสามารถสะสมไกลโคเจนในตับได้ 60-100 กรัม ในกล้ามเนื้อ 200-400 กรัม มากน้อยแล้วแต่คนนะคะ แต่จะอยู่ในราวๆนี้) ก็จะเพียงพออยู่แค่ประมาณ 60-90 นาทีค่ะ หลังจากนั้นถึงต้องเติมเจล กินคาร์โบไฮเดรตแบบเชิงเดี่ยว (simple carbohydrate) ที่ย่อยง่ายให้พลังงานเร็วไงคะ
.
ไม่งั้นสร้างกล้ามยากค่ะ อันนี้เจ็บกลางใจ หนักฟรี
.
สำหรับคนที่ไม่ได้ออกกำลังกาย ทำกิจกรรมประจำวันปกติธรรมดา เราก็จะใช้ไกลโคเจนสะสมไว้หมดภายใน 4-5 ชั่วโมง (ถ้าไม่ได้กินเพิ่มระหว่างวันนะคะ)
.
เราจึงต้องมีการกำหนดจำนวนคาร์โบไฮเดรตขั้นต่ำที่เราต้องการในแต่ละวัน เพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาวไงคะ
.

การคำนวนการกินคาร์โบไฮเดรตมีหลายทางตั้งแต่การกินแบบสัดส่วนอย่างที่เขียนถึงไปเมื่อวันก่อนหรือจะกำหนดแต่ค่า คาร์โบไฮเดรตต่อวันไปเลยก็ได้ แต่เราต้องมั่นใจว่าเรากินอาหารหมู่อื่นครบถ้วนด้วย เพื่อให้ไ้ด้สารอาหารที่ครบถ้วน เพียงพอนะคะ
.
ปริมาณคาร์โบไฮเดรตต่างๆ มีผลต่อร่างกายอย่างไร
.
0-50 กรัม/วัน = Ketosis (ภาวะฉุกเฉินที่ร่างกายขาดน้ำตาลที่จะนำไปใช้พลังงาน)

.
สภาวะนี้เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการเผาผลาญไขมันส่วนเกินที่เร็ววิธีหนึ่ง ใช้กันเยอะค่ะ นานแค่ไหนนี่อีกเรื่องนึง
.
อธิบายก่อน ในสภาวะปกติ การเผาผลาญไขมัน ต้องอาศัยเชื้อเพลิงที่เป็นคาร์โบไฮเดรต หากร่างกายได้รับคาร์โบไฮเดรตไม่เพียงพอ ก็จะไม่มีคาร์บอนไดออกไซด์ และน้ำเกิดขึ้นไนระหว่างการเผาผลาญไขมันในร่างกาย ร่างกายจะหันไปเผาผลาญไขมันที่สะสมอยู่แทน เรียกภาวะการนี้ว่า คีโตซิส (ketosis) เพราะมีการผลิตคีโตน (ketone) เพิ่มขึ้นในเลือดในขณะที่ระดับน้ำตาลคงที่ และระดับอินซูลินลดลง
.
และเมื่อร่างกายเกิดการดึงไขมันส่วนเกินไปใช้เผาผลาญแทนน้ำตาล ตับก็จะไม่หลั่งอินซูลินออกมาควบคุมระดับน้ำตาล ทำให้ร่างกายอยู่ในสภาพคีโตน (Ketone) หรือสภาวะเผาผลาญไขมันแทน
.

ร่างกายจะเข้าสู่ภาวะนี้ได้ ก็ต่อเมื่อเรากินคาร์โบไฮเดรตน้อยกว่า50 กรัมต่อวัน ภาวะนี้ร่างกายจะเปลี่ยนจากการที่อาศัยไกลโคเจนเป็นแหล่งพลังงานหลักมาเป็นการใช้พลังงานจากแหล่งไขมันแทนค่ะ

.

เดี๋ยวบอกก่อน..คาร์โบไฮเดรต น้อยกว่า 50 กรัมนี่ประมาณขนมปังวันละ 3 แผ่น (มื้อละแผ่น) หรือ โยเกิร์ตไขมันน้อยใส่ผลไม้ 1 ถ้วย หรือ กล้วยใบเล็กๆ 2 ใบค่ะ ต่อวันนะคะ

.

สำหรับคนที่ร่างกายแข็งแรง ไม่เป็นโรคเบาหวาน และไม่ได้ตั้งครรภ์ จะเข้าสู่ภาวะ ketosis หลังจากที่งดหรือลดคาร์โบไฮเดรตไปแล้ว 3-4วันค่ะ

.

ควรทำระยะยาวรึเปล่า -ไม่ควร

.

เพราะการกินคาร์โบไฮเดรตน้อยในระดับนี้ ช่วงแรกเวลาที่ร่างกายเข้าสู่สภาวะปรับตัว ทำให้รู้สึกอ่อนแรง เพลีย ปวดหัวเนื่องจากสารอาหารไม่เพียงพอ พอปรับตัวได้ก็จะเกิดอาการหิวน้ำ นอนไม่หลับ ลมหายใจเหม็น เนื่องจากร่างกายเผาผลาญกรดไขมันเป็นพลังงาน ทำให้มีสารเคมีที่เรียกว่า คีโตน (Ketone) ในร่างกายมาก กลิ่นพวกนี้ก็จะระเหยออกมาทางผิวหนังค่ะ

.

ในตอนแรกเริ่มเราจะดูเหมือนว่าเราลดน้ำหนักเร็วมาก เพราะว่าการที่เราลดการสะสมของไกลโคเจน (ที่มาจากคาร์โบไฮเดรต) ก็เท่ากับเราลดน้ำหนักของน้ำไปด้วย เพราะปกติไกลโคเจนจะถูกเก็บสะสมประกบกับน้ำประมาณ 3-4 เท่าของน้ำหนักตัวมันเอง น้ำหนักที่ลดลงไปนั้นคือน้ำหนักของกล้ามเนื้อและน้ำในร่างกายที่หายไปกับกระบวนการทางเคมีที่เกิดขึ้นนั่นเองค่ะ

.

ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นทันที หลังจากวันแรกที่เริ่มทำ คือจะปวดปัสสาวะบ่อย เกิดจากการเผาผลาญไกลโคเจนหรือกลูโคสที่ถูกสะสมไว้บริเวณตับและกล้ามเนื้อบ่อยขึ้น จากนั้นไตก็จะทำการขับออกมาให้อยู่ในรูปของปัสสาวะ เราจึงมีอาการปวดปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ

.

การขับปัสสาวะมากเกินไปซึ่งทำให้เกิดขาดความสมดุลของแร่ธาตุเป็นผลที่ตามมา และ อาจจะเป็นอันตรายโดยเฉพาะกับผู้ที่มีหัวใจไม่แข็งแรง ขาดน้ำ (dehydrated) ท้องผูก เนื่องจากกินไฟเบอร์ไม่พอ

.

ไม่ใช่แค่นั้นนะคะ การที่สมองและอวัยวะอื่นๆ เช่น หัวใจนำคีโตนมาใช้ก็เป็นการปรับตัวเพื่อการอยู่รอดในระหว่างการอดอาหาร ซึ่งจะลดปริมาณการย่อยสลายโปรตีน
.
ร่างกายก็จะถูกบังคับให้สร้างกลูโคสให้เพียงพอจากโปรตีนเพื่อสนองความต้องการน้ำตาลกลูโคสของสมอง โดยการย่อยสลายโปรตีนจากกล้ามเนื้อหัวใจ และอวัยวะอื่นๆ
.

การอดอาหารด้วยการกินคาร์โบไฮเดรตต่ำกว่า 50 กรัมอาจจะได้ผล ผอมได้ในระยะสั้น แต่มีผลเสียต่อสุขภาพค่ะ ต้องกินเพิ่มๆๆ

.

50-100 กรัม/วัน
เพิ่มมาหน่อย การกินคาร์โบไฮเดรตในปริมาณนี้ จะช่วยจำกัดการผลิตอินซูลิน และ เพิ่มการเผาผลาญไขมันได้ดีขึ้นนะคะ

.

ถ้าการกินคาร์โบไฮเดรต ในปริมาณที่ได้สัดส่วนกับปริมาณโปรตีนต่อวันคือ 0.7 – 1 กรัม ต่อน้ำหนักครึ่งกิโลกรัม โดยการกินผักและผลไม้เป็นคาร์โบไฮเดรตระหว่างวัน กินแป้งก่อนและหลังออกกำลังกาย และ กินไขมันดีเพื่อให้อิ่มนาน เช่น ถั่ว ไข่ ปลา เราก็น่าจะสามารถ ลดน้ำหนักได้ อาทิตย์ละ 0.5 -1 กิโลกรัมโดยไม่รู้สึกทรมานและหิวโหยมากนัก

.

แต่สมรรถภาพการออกกำลังกายก็ไม่ท้อปฟอร์ม เอางี้ดีกว่า

.

100-150 กรัม/วัน = ช่วง maintenance

.
ช่วงนี้คือช่วงปกติ ถูกสุขลักษณะ หรือเวลาที่เราอยู่ในน้ำหนักที่เราต้องการแล้ว และเราต้องการที่จะรักษาน้ำหนักนี้ให้คงที่ตลอดไปชั่วกาลนาน
.
ควรจะกินพวก complex คาร์โบไฮเดรต อาหารที่มีค่า GI ต่ำ ๆ เช่น ถั่ว ผลไม้ ข้าวซ้อมมือ wholewheat เพราะว่าเราต้องการสารอาหารที่ดี เพื่อสุขภาพที่ดี
.
Be fit and eat well ไงคะ ‪#‎ฝากร้าน‬
.
150-300 กรัม/วัน = สำหรับคนผอมแห้ง

.

รูปร่างแบบ endomorph ที่ต้องการเพิ่มน้ำหนัก การกินคาร์โบไฮเดรตในระดับนี้ แต่อย่าลืมว่าคาร์บ 1 กรัม = 4 แคลอรี่ เวลากะจำนวนก็ควรให้อยู่ในขอบเขตของ BMR และวัตถุประสงค์ของเรานะคะ

.
ในหนึ่งวันควรกินคาร์บ low GI ที่จ่ายพลังงานต่ำๆอิ่มนานๆประมาณ 25% (เป็นอย่างน้อย) ของจำนวนคาร์โบไฮเดรตที่ตั้งใจว่าจะกินนะคะ

.

มื้อคาร์บแบบหลักๆที่จำเป็นได้แก่ ก่อนและหลังการออกกำลังกายค่ะ

.
300 หรือ มากกว่า กรัม/วัน = ระยะอันตราย!

.
การกินคาร์โบไฮเดรตในระดับนี้ จะเสี่ยงต่อโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคระบบการเผาผลาญเสีย กระเพาะคราก วางมือลงเลยค่ะ
.
บางทีคาร์โบไฮเดรตเนี่ยซ่อนตัวอยู่เงียบๆนะคะ นึกไม่ถึงหรอกในบางที่ อย่างผลไม้เยอะไปก็อ้วนค่ะเพราะมีน้ำตาลฟรุกโต๊สอยู่ จะน้ำตาลธรรมชาติอะไรก็คือน้ำตาลค่ะ
.
พวกsmoothie วันๆกินกันเป็นแก้วๆ (บางทีรวมปริมาณแล้วกินเป็นอ่าง เอาสายยางดูดเลยดีกว่าไม๊ ไหนๆก็ไหนๆแล้ว)
.
หลากหลายที่มากค่ะ low fat โยเกิร์ต นี่ดูดีๆนะคะ ไขมันน้อยจริงแต่เติมน้ำตาลให้ รสชาติดีขึ้น พลาดมาหลายรายแล้วค่ะ
.
เอาไปปรับให้เข้ากับตัวเองนะคะ ต่างคนก็ต่างมีระบบเผาผลาญ การดูดซึมที่ต่างกัน สังเกตดีๆอาทิตย์นึงก็รู้แล้วค่ะว่าต้องปรับอย่างไร