ฮอร์โมนเครียด คืออะไร?

คืออะไรก็ไม่รู้ เลยเครียดเลยนี่
.
เมื่อวันก่อนเขียนไปเรื่อง อดอาหารลดความอ้วน กับ overtrained แล้วร่างกายเครียด แล้วฮอร์โมนเครียดหลั่ง เลยอ้วน สร้างกล้ามก็ไม่ขึ้น
.
มาอธิบายกันดีกว่า ว่า Cortisol คือ อะไร
.
Cortisol เป็นฮอร์โมนที่ร่างกายผลิตออกมาในเวลาที่เราเครียด ไม่ว่าจะเป็นความเครียดทางร่างกาย และจิตใจ รวมไปถึง การอดอาหาร การออกกำลังกายหนักโดยที่พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือที่เราเรียกกันว่า overtrained
.
ฮอร์โมนชนิดนี้ผลิตโดยต่อมไร้ท่อขนาดเล็กๆ ชื่อadrenal ฮอร์โมน Cortisol เป็นฮอร์โมนที่ทำให้เรา ลุกขึ้นมาจากเตียง ได้ในตอนเช้า และก็ทำกิจกรรมระหว่างวันได้ จะหลั่งมากตั้งแต่ 8 โมงเช้า แล้วก็ค่อยๆลดมาระหว่างวัน จนมาถึงจุดต่ำสุด คือประมาณ บ่าย 3-4 โมง
.
หน้าที่หลักอย่างหนึ่งของฮอร์โมนนี้ คือ เพิ่มกลูโคสในกระแสเลือด เพื่อที่จะสร้างพลังงานให้พร้อม ที่จะให้ กล้ามเนื้อจะเอาไปใช้งานได้
.
เวลาออกกำลังกาย ฮอร์โมน Cortisol ซึ่งมาจากต่อม adrenal ก็จะหลั่งออกมา และก็มีระดับสูงจนกระทั่งออกกำลังกายจนจบ นั่นคือตอนที่ส่งพลังให้กับกล้ามเนื้อในเวลาที่กล้ามเนื้อต้องการมากที่สุด
.
Cortisol จริงๆแล้ว จะคอยส่งพลังงาน ในเวลาที่กล้ามเนื้อต้องการ เวลาที่ร่างกายออกกำลัง เวลาที่เรามีความเครียดชั่วคราว แล้วพอเสร็จ ระดับ cortisol ก็จะกลับคืนสู่ปกติ
.
แต่ทีนี้เวลาที่เรามีความเครียดแบบถาวร จะด้วยวิถีชีวิตเราก็ดี หรือ การอดอาหาร การออกกำลังกายอย่างหนักเกินไปก็ดี ฮอร์โมนชนิดนี้ก็จะหลั่งและอยู่ในระดับที่สูงตลอดเวลา เป็นระยะเวลานาน (ไม่ใช่แค่ช่วงเวลาหนึ่ง เหตุการณ์หนึ่งแล้ว) ก็จะมีผลเสียตามมา เช่น ไขมันบริเวณกลางตัวจะเกิดขึ้น ภูมิคุ้มกันต่ำ น้ำหนักขึ้น
.
ที่ Cortisol ได้ชื่อว่าเป็นฮอร์โมนเครียด ก็เพราะ
ว่า เมื่อมีภาวะกดดันหรือความเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมน cortisol ออกมา เพื่อว่าร่างกายจะอยู่ในสภาวะ ‘ตั้งรับ’ มีพลังงานพร้อมที่จะปฎิบัติการ
.
แต่ถ้าเราเครียด หรือจงใจสร้างความเครียดให้ร่างกาย อย่างสม่ำเสมอ ความเครียดที่เราสร้างอาจจะไม่ได้มีทางระบายออกทางการปฏิบัติเสมอไป หรือเราได้ผ่านจุดที่จะออกไปออกกำลังกายเพื่อระบายความเครียดไปแล้ว เพราะว่าเราได้ทำการออกกำลังกายหนักจนเกินไปแล้ว
.
สิ่งที่ร่างกายต้องการตอนนี้คือ อาหารและการพักผ่อน ซึ่งไม่สามารถทำได้ข้ามคืน เพราะระบบเรารวนเป็นโดมิโน มาระยะนึงแล้วกว่าจะมาถึงจุดที่ cortisol หลั่งมากได้
.
เมื่อไม่สามารถระบายออกมาได้ ฮอร์โมนเหล่านั้นก็คั่งสะสมอยู่ในร่างกาย cortisol ก็จะส่งสัญญาณไปยังสมอง เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายหิว เพื่อเป็นการเรียกร้องให้ร่างกายหาพลังงานมาชดเชยกับพลังงานที่กำลังใช้ หรือ กำลังจะถูกใช้ไป
.
เมื่อระดับ Cortisol สูงขึ้น ร่างกายมีความเครียด จำเป็นต้องใช้กลูโคส ร่างกายอาจจะต้องหาพลังงานเสริมมาจากหลาย ๆ ทาง ถ้าเรากินไม่พอร่างกายก็จะละลายโปรตีนกล้ามเนื้อเข้ามาเป็นพลังงานเสริมด้วย ส่งผลให้การสูญเสียกล้ามเนื้อเกิดขึ้นได้
.
โดยปกติแล้วพลังงานที่ร่างกายเรียกร้องเป็น อันดับแรก คือ คาร์โบไฮเดรต เพราะเอามาย่อยใช้งานได้เร็วที่สุด เราก็จะเกิดอาการโหยแป้ง หรือ โหยน้ำตาล
.
สิ่งที่เราพลาดคือ เวลาต้องการลดความอ้วน คนส่วนใหญ่จะเริ่มด้วยการลดแป้ง หรือ คาร์โบไฮเดรต จนมากเกินไป
.
บางคนอาจจะบอกว่า ไม่เห็นเป็นไร ไม่มีกล้ามก็ได้ ขอให้ผอม แต่ทีนี้เมื่อกล้ามเนื้อหาย การเผาผลาญก็จะลดต่ำลง ทั้งนี้ก็เพราะว่าร่างกายใช้กล้ามเนื้อในการเผาผลาญพลังงาน และร่างกายที่มีกล้ามเนื้อจะมีระดับการเผาผลาญสูงกว่าร่างกายที่มีแต่ไขมัน .
สุดท้ายระดับการเผาผลาญก็จะลดลง ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เราอ้วนขึ้นได้
.
อยากสุขภาพดี หุ่นดีก็ต้องกินดี และพักผ่อนด้วยค่ะ
.
Be fit and eat well นะคะ….นี่แน่!
.
Ref: Increased Cortisol Bioavaiability, “Abdominal Obestity, and the Metabolic Syndrome in Obese Wowen”, Duclos M., Pereira P.M., Barat P., Gatta B., and Roger P.

น้ำตาล ภัยร้ายที่มองไม่เห็น

แปลกนะคะ ที่เราจะได้ยินคนพูดถึงแต่ภัยร้ายของไขมัน ทั้งๆที่ไขมันเนี่ยมีทั้งคุณและโทษ มีทั้งไขมันตัวดีและตัวร้าย และการใช้น้ำมันที่ดีเช่น น้ำมันโอลีฟ ก็ไม่ได้ทำให้ รสชาติอาหารเปลี่ยนไปมากมายก่ายกอง แต่ในสายตาคนทั่วไป ไขมันคือศัตรูร้ายของความอ้วน
.
คาร์โบไฮเดรตอีก ถูกปลูกฝังกันมาว่า ลดความอ้วนเนี่ยต้องงดเลยทีเดียว แตะไม่ได้ แล้วก็มีอาการหิวโหย นานๆไประบบฮอร์โมนอินซูลินผิกปกติไปอีก คาร์โบไฮเดรตเนี่ยมีทั้งดีและร้ายนะคะ เคยเขียนไปแล้วอีกนั่นแหละ กินตัวดีก็ได้ ไม่ได้ร้ายทั้งหมด
.
ว่าแล้วก็หันไปจิบกาแฟเย็นแก้กระหายกัน..เฮ้อ! จะลดความอ้วน งดไขมัน งดคาร์ปแต่กินน้ำหวาน..
.
งานวิจัยออกมาว่า น้ำตาลกว่าครึ่งที่เรากินกันอยู่เนี่ย มาจากน้ำหวาน น้ำผลไม้ และเครื่องดื่มหลังเล่นกีฬา ที่เหลือแอบแฝงก็จะอยู่ในซอสต่างๆ เช่น ซอสมะเขือเทศ เทอริยากิ ที่ไม่แอบแฝงก็อย่างที่รู้ๆกันนะคะ เค้ก ขนม ต่างๆ หรือพวกอาหารเช้าประเภท cereal
.
ที่แฝงแบบเนียนๆ คือพวกที่ดูเหมือนจะ เป็นอาหารดี แต่แฝงน้ำตาลไว้เยอะ คือพวก โยเกิร์ต บางยี่ห้อ ข้าวโอ๊ต แบบสำเร็จรูป พวกนี้ดูดีๆ อาจมีน้ำตาลปนอยู่ถึง 20-30 กรัม (5-7 ช้อนชา)
.
คือว่า องค์การหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา (American Heart Association -AHA) แนะนำให้เราไม่ควรกินน้ำตาลเกิน 7% ของจำนวนแคลอรี่ต่อวัน หรือประมาณ 6 ช้อนชา (100 แคลอรี่) สำหรับผู้หญิง และประมาณ 9 ช้อนชาสำหรับผู้ชาย
.
ยังไม่ทันปรุงน้ำตาลเลย หมดโควต้าแล้ว พี่เล่นซ่อนอยู่ทุกที่เลย
.
ทำไมต้องแคร์
.
นอกจากจะอ้วนแล้ว ภาวะไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides) ในเลือดสูง ไตรกลีเซอไรด์ ที่มากเกินไปจะถูกส่งไปเก็บไว้ที่เนื้อเยื่อไขมัน(body fat) แล้ว พอกพูนตามส่วน
.
โรคภัยก็จะตามมา ตั้งแต่เบาหวานชนิดที่ 2 ระดับไขมันดี (HDL)ในเลือดตำ่ โรคหัวใจ ไมเกรน โรคข้อ กระดูกพรุนต่างๆ เหนื่อย เพลีย และหงุดหงิดง่ายเมื่อรู้สึกว่าขาดน้ำตาล หน้าแก่ก่อนวัยด้วย นี่แน่!
.
สิ่งที่น่าอันตรายคือ ยิ่งกินมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งเพิ่มระดับความหวานที่เราอยากมากขึ้นเท่านั้น ยิ่งกินหวาน ยิ่งกินหวานเก่ง และหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ (มันใช่ทางที่ควรจะเก่งไม๊เนี่ย)
.
เหมือนๆกับที่ นักวิทยาศาสตร์ทางด้าน cardiovascular ที่ชื่อ James DiNicolantonio, แห่งศูนย์รักษาโรคหัวใจ ที่ เคนซัส พบว่า น้ำตาลมีอันตรายมากกว่า เกลือในเรื่องของความเสี่ยงโรคหัวใจ เพราะอะไร เพราะว่า น้ำตาลขาว มีความใกล้เคียงกับยาเสพติดประเภทโคเคน และอาจจะทำให้เสพย์ติดมากกว่า ด้วยซ้ำ
.
ดูรูปนะคะ
.
สมองที่อยู่ในสภาวะธรรมดา จะมีแถบสีแดงๆมากกว่า แถบนั้นคือ โดปามีน ซึ่งเป็นสารที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์พึงพอใจ ความรักใคร่ชอบพอ
.
จากการศึกษาทดลองในหนู พบว่าเมื่อทำให้หนูเกิดความพึงพอใจ ระดับของโดปามีนจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งในขณะที่โดปามีนถูกหลั่งออกมาจากสมอง จะทำให้เกิดความสุข เรียกว่า reward circuit หากถูกกระตุ้นด้วยพฤติกรรมซ้ำ ๆ ก็จะหลั่งโดปามีนออกมาตามปกติ แต่หากไม่ถูกกระตุ้นหรือทำกิจกรรมอื่นที่ไม่ใช่กิจกรรมเดิม สารโดปามีนก็จะหยุดทำงาน ทำให้รู้สึกหงุดหงิด โมโหหรือเซื่องซึมได้
.
ในกลุ่มที่ติดยา หรือติดน้ำตาล แถบสีแดงจะน้อยและจะปรากฎในเวลาที่เรียกว่า เป็นช่วง anticipation of the reward หรือ ช่วงที่เห็นยา หรือกำลังจะได้เสพย์ยา หรือในที่นี้คือน้ำตาล -ไม่ใช่ช่วงที่เป็นรางวัลทางใจที่แท้จริง เหมือนสมองปกติ ที่ไม่ติดอะไร
.
เรามีทางที่จะเลิกการติดน้ำตาลได้ ด้วยการตัดน้ำตาลภายในเวลาไม่กี่อาทิตย์นะคะ หลังจากนั้นแล้ว อะไรที่เคยหวานพอดี ก็จะเริ่มรู้สีกว่าหวานเกินไป ซึ่งก็จะช่วยให้เราค่อยๆลดต่อลงไปได้ง่ายขึ้น
.
มากดปุ่ม reset กันค่ะ
.
อาทิตย์ที่ 1 : หาว่า อาหารที่เรากินอยู่เป็นประจำ มีน้ำตาลอยู่แค่ไหน
.
อาทิตย์นี้เป็นอาทิตย์แห่งการค้นคว้า คุ้ยตู้กับข้าวออกมาอ่านฉลากอาหารโปรดของเราว่ามีน้ำตาลเท่าไหร่
.
อาทิตย์ที่ 2: ซื้ออาหาร และเครื่องปรุงแบบ Sugar-Free มาเก็บไว้ในครัว เวลาหยิบใช้จะได้คล่องตัว สบายใจ ว่าผ่านการอ่านฉลาก แล้วว่าไม่มีน้ำตาลซ่อนอยู่
.
ระวังนะคะ อาหารบางประเภท ที่โฆษณาว่า ไขมันต่ำ กลายเป็นว่า มี น้ำตาลซ่อนอยู่สูงแทน เพื่อให้รสชาติดี
.
หาอาหารที่มีน้ำตาลต่ำมาแทน เช่น กรีกโยเกิร์ต หรือโยเกิร์ตรสธรรมชาติ แทนโยเกิร์ตแบบผลไม้
.
ใช้ผลไม้สดแทนแยม วางบนขนมปัง ทิ้งพวกซีเรียลบาร์ ที่มีน้ำตาลไปให้หมดนะคะ
.
กินผลไม้แทน น้ำผลไม้ เพราะอะไร เพราะว่าถ้าเรากินทั้งลูกอย่างที่ธรรมชาติออกแบบมา เราจะอิ่มกาก ก่อนที่จะอ้วน แต่ถ้าเราดื่มน้ำผลไม้ เราใช้ผลไม้จำนวนมากกว่าจะได้นำ้ผลไม้หนึ่งแก้ว มีน้ำตาลเกินกว่าที่เราต้องการมากค่ะ
.
ดื่มน้ำเย็นใส่มะนาวฝาน ใส่ใบมิ้นท์ แทนก็ได้ค่ะ ถ้าทนดื่มน้ำเปล่าไม่มีรสไม่ได้
.
เวลาไปจ่ายกับข้าวที่ ซุปเปอร์มาร์เก็ต พยายามอยู่ในแผนกของสด ผัก ผลไม้ ข้างหน้าๆ ไม่ต้องไปข้างในๆที่มีแต่เครื่องกระป๋อง ของแห้งนะคะ ความเสี่ยงสูงค่ะ เดี๋ยวเจอขนม!
.
ถ้าจะเข้าไป ก็ไปช่อง whole-grain pasta ข้าวแดง ธัญพืช นะคะ
.
การวางแผนการกินตอนแรกๆก็จะ ปวดหัวหน่อยนะคะ นั่งคิดวางแผนเลยค่ะ จะซื้ออาหารอะไรสำหรับอาทิตย์หน้า จะทำอะไรกิน ไม่ใช่ไปถึงร้านแล้วเดินเรื่อยเปื่อย และกรุณาอย่าช้อปตอนหิว ขอเลย
.
ของว่าง จากเดิมเคยกินขนม มาเปลี่ยนนะคะ เดี๋ยวหาตัวเลือกไว้ให้นะคะ
.
– Celery sticks กับ เนยถั่ว peanut butter (ได้โปรตีนด้วย)
– Rice cakes กับ เนยถั่ว peanut butter
– โยเกิร์ตธรรมชาติใส่ผลไม้สด
– ถั่ว 1 กำมือ
– กล้วย
– กล้วยปิ้ง ไม่ใส่น้ำเชื่อมนะคะ
– แอ้ปเปิ้ลตุ๋น (หวานธรรมชาติมาก)
– องุ่นแช่เย็นมาก
– smoothie ผลไม้สด (ทำเองได้ยิ่งดีจะได้รู้ว่า ใส่แต่ผลไม้ นมไขมันต่ำ และโยเกิร์ตรสธรรมชาติจริงๆ)
.
เยอะแยะไปหมดเลย เลือกไม่ถูกล่ะสิ ชิมิๆ แต่ถ้าใครมีไอเดียดีๆ มาแชร์เลยนะคะ

เมื่อระบบเผาผลาญพัง จะทำยังไง


ช่วงนี้ได้ยินบ่อยค่ะ
.
มีนะคะ โรคนี้มีจริง บางคนเป็นที่กรรมพันธ์ บางคนเป็นที่กรรม ซึ่งคือการกระทำของตัวเราเองค่ะ แหะ แหะ
.
เคยอ่านมาว่า เค้าแบ่งอาการออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ร่างกายปรับระบบเผาผลาญให้ต่ำลงเท่ากับที่กินเข้าไป หลังจากนั้นร่างกายก็จะเกิดการต่อต้านการเผาผลาญ (Metabolic Resistance) จนในที่สุดระบบเผาผลาญก็จะพัง (Metabolic Damage) และก็ระบบในร่างกายก็จะรวนไปหมด
.
แต่ในชีวิตจริง บางครั้งอาจจะไม่ใช่กรณีที่อดอาหารอย่างหนักอย่างเดียว บางครั้งเป็นการผสมผสานระหว่างการอดอาหาร กินไม่ดี หรือ ออกกำลังกายมากเกินไป ทำให้เกิดความเครียดในร่างกายได้ (overtrained)
.
อาการเหล่านี้เป็นเหมือนโดมิโน่ พอล้มอันนึงก็มีสิทธิที่อย่างอื่นจะกระทบตามๆกันไปหมด ต้องตั้งสติให้ดี
.
.
ระบบเผาผลาญพัง เริ่มเกิดได้อย่างไร
.
ขั้นตอนแรกๆ เราก็จะเริ่มเหมือนเด็กวัยรุ่นรักสวยรักงามทั่วไปนะคะ อดข้าวเย็น งดของหวาน พอให้สวย แต่เมื่อความต้องการลดความอ้วนให้เหมือนนางแบบมีมากขึ้น หรือเริ่ม ‘อิน’ กับการลดน้ำหนัก อยากผอมให้มากขึ้นไปอีก ก็เริ่มอดอาหารอย่างจริงจังมากๆเข้า ประเภท extreme วันนึงกินน้อย (เคยเจอนี่กินวันละ 500-800 แคลอรี่ เลยนะคะ) นานๆเข้า ระบบเผาผลาญก็จะช้าลง และน้ำหนักลงช้า หรือไม่ลงเลย (hit plateau)
.
ทั้งนี้เพราะเรา ‘อด’ อาหารมากเกินไป อย่างผิดวิธี เช่น ตารางไดเอ็ททั่วไปที่ให้กินจำกัดแบบแปลกๆ โดยที่ไม่ได้ดูรูปร่างและกิจกรรมเราเลย ว่าเราต้องการสารอาหารแบบไหน เมื่อไหร่ เท่าไรในแต่ละวัน
.
เมื่อเราเข้าโปรแกรมไดเอ็ทประเภทนี้เข้าไป ร่างกายเราก็ตกใจ เกิดอาการเครียด นานๆเข้าสมองก็จะสั่งให้เริ่มหิวแบบ ระงับใจไม่อยู่ อยากกินไปหมดแล้ว
.
ณ.จุดๆนี้ แรงไม่มี (คนที่เคยไดเอ็ทแบบเข้มงวดต้องรู้จักอาการเหล่านี้ดี) ที่สำคัญคือ ฮอร์โมนไทรอยด์ซึ่งมีหน้าที่ ควบคุม การเผาผลาญ หรือ metabolism ของร่างกายที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโต การใช้พลังงาน และ การสังเคราะห์สาร ก็จะลดระดับลง
.
เมื่อระบบเผาผลาญทำงานช้าลง หรือที่เป็นหนักๆคือแทบไม่ทำงานเลย ก็จะทำให้พัฒนาการในการลดความอ้วนหยุดลง หรือแม้แต่กลับไปอ้วนเหมือนเดิมได้เลย
.
เพราะอะไร เพราะว่า ร่างกายเราต้องปรับตัวที่จะอยู่ให้ได้ด้วยปริมาณแคลอรี่เท่านี้ ที่เรากินเข้าไปแบบจำกัด
.
หิวเราก็หิวหน้ามืด อยากผอมก็อยาก น้ำหนักก็ไม่ลง ร่างกายเราเก็บหมดแล้วค่ะตอนนี้ อยากให้เรากิน กินแล้วก็เผาผลาญต่ำ
.
บางคนก็หลุดในจุดนี้ กินแหลก ก็กลับไปอ้วนใหม่ พวกที่เข้มแข็งตั้งมั่นก็เดินหน้าจะให้ผอมต่อไป ก็ต้องลดแคลอรี่ไปอีก เพื่อพยายามให้ผอมลง จากเดิมซึ่งก็น้อยมากๆอยู่แล้ว
.
แล้วเราจะอยู่แบบนี้ได้นานแค่ไหนกัน ก็จะต้องลดต่อไปเรื่อยๆ จนถึงจุดอันตราย
.
จุดอันตราย
.
จุดอันตรายคือ จุดที่ร่างกายเกิดการต่อต้านการเผาผลาญ (Metabolic Resistance)
.
ถ้าออกกำลังกายอยู่แล้ว ก็จะรู้สึกว่าหยุดไม่ได้ ออกเพิ่มเข้าไปอีก กินน้อยลงไปอีก เพื่อที่จะพยายามลดน้ำหนักลงให้ได้
.
อาการช่วงนี้จะคล้ายๆกับอาการ overtrained ที่เคยพูดถึงไปนะคะ คือ เหนื่อยลึกๆ เพลีย ไม่สบายง่ายเพราะ ไม่มีภูมิต้านทานโรค นอนไม่หลับ กระวนกระวาย ร่างกายจะอยู่ในภาวะเครียด
.
บางกรณีนะคะ จะเกิดขึ้นกับนักเพาะกายหรือนักกีฬาในช่วงที่เทรนมากๆ จน body fat ลดลงอย่างรวดเร็วเกินปกติ ต่ำกว่า 10% ในผู้ชาย หรือ 18-20% ในผู้หญิง
.
.
ระบบประสาทอัตโนมัติ
.
เป็นระบบประสาทที่ทำงานได้โดยไม่ต้องอาศัยคำสั่งจากสมอง มี 2 ส่วนคือ
.
++ ระบบประสาทซิมพาเธติก (Sympathetic nervous System)
.
ทำงานในกรณีที่บุคคลตกอยู่ในสภาวะฉุกเฉิน ร่างกายจะเกิดปฏิกิริยาตื่นตัวเพื่อเตรียมพร้อมที่จะสู้หรือหนีจากสถานการณ์เหล่านั้น ปฏิกิริยาของร่างกายที่เกิดขึ้นเมื่อระบบประสาทซิมพาเธติกทำงาน ได้แก่ ขนลุกตั้งชัน ชีพจรเต้นเร็วกว่าปกติ เหงื่อออกมาก ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น หัวใจเต้นเร็วและรัว ต่อมอะดรีนัล (adrenal gland) หรือต่อมหมวกไตจะหลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลีน (adrenalin) เพื่อเพิ่มพลังงานพิเศษให้กับร่างกาย
.
++ระบบประสาทพาราซิมพาเธติก (parasympathetic nervous system)
.
มีศูนย์กลางอยู่ที่ก้านสมอง (medulla) และไฮโปทาลามัส (hypothalamus) โดยระบบนี้จะทำงานควบคู่กับระบบซิมพาเธติก กล่าวคือ เมื่อระบบซิมพาเธติกทำงานสิ้นสุดลง ร่างกายพ้นจากสภาวะฉุกเฉินไปแล้ว ระบบพาราซิมพาเธติกจะช่วยทำให้ร่างกายกลับคืนสู่สภาวะปกติ
.
เวลาร่างกายอยู่ในภาวะเครียด ระบบประสาทซิมพาเธติก จะอยู่ในสถาวะ “on” เป็นเครื่องหึ่งๆอยู่ตลอดเวลา
.
heart rate ก็จะสูง กระวนกระวาย นอนไม่หลับเพราะ เมื่อประสาทซิมพาเธติก อยู่ในสภาวะฉุกเฉิน ตื่นตัว แสงนิดเดียวก็ทำให้เราตื่นแล้ว ไม่ได้หลับลึกแม้ว่าจะเหนื่อยแค่ไหนก็ตาม และก็เริ่มเกิดความท้อแท้ใจในการออกกำลังกาย เหนื่อย หดหู่ใจ เพลีย
.
ตอนนี้เนี่ยจะเริ่มเป็นโดมิโนแล้วค่ะ เมื่อร่างกายอ่อนแอเราก็จะติดเชื้อง่าย ท้องไม่ดี มีแก๊ซ อาหารไม่ย่อย น้ำหนักนอกจากไม่ลดแล้ว ยังอาจเพิ่มด้วยค่ะ เพิ่มทั้งๆที่กินน้อย และออกกำลังกายหนักขึ้น
.
เพราะว่า เมื่อเราทำระบบประสาทซิมพาเธติกเสียแล้ว ระบบประสาทพาราซิมพาเธติกก็จะรวนไปด้วย แล้ว และพาลไปชะลอ การหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร และน้ำย่อยจากตับอ่อน (pancreatic enzyme) อาหารจึงไม่ย่อย ระบบลำไส้ก็จะพาลไม่ดีไปด้วย เพราะความเครียดของร่างกาย อาหารที่เคยกินได้ก็อาจจะแพ้ขึ้นมาซะอย่างนั้นแหละ
.
เรียกว่าเป็นลูกโซ่ตามๆกันมาเป็นทอดๆ พอเห็นภาพนะคะ
.
.
ปัญหาเรื่องฮอร์โมน
.
ไฮโปทาลามัสเป็นสมองส่วนที่เชื่อมต่อการทำงานของสมองกับต่อมต่างๆในระบบต่อมไร้ท่อต่างๆโดยการสร้างฮอร์โมนควบ คุมการทำงานของต่อมเหล่านั้น
.
ที่เกี่ยวข้องในที่นี้คือ สมองส่วนนี้จะควบคุมการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic nervous system) ช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ควบคุมการนอนหลับ
.
ดังนั้นเมื่อระบบประสาทอัตโนมัติติดอยู่ในวงจรที่ทำงานแบบโดนกระตุ้นอย่างผิดปกติ ตลอดเวลาสมองส่วนนี้ก็จะส่งสัญญาณไปยังต่อมฮอร์โมนไร้ท่อ และทำให้ระบบการเผาผลาญไปสู่ภาวะที่เสียสมดุลย์ไปหมด ตั้งแต่ ความสมดุลย์ของน้ำตาลในกระแสเลือด ก่อให้เกิดความผิดปกติของฮอร์โมน (ต่อมไร้ท่อ)
.
ต่อมไทรอยด์จะค่อยๆมีอาการเริ่มตั้งแต่ ขาดฮอร์โมนไทรอยด์ (hypothyriod) จนไปถึงสภาวะแพ้ฮอร์โมนไทรอยด์ (autoimmune thyroid)
.
ส่วนต่อมหมวกไตก็จะเริ่มแสดงอาการของความเครียด เกิดการลดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลซึ่งเป็นฮอร์โมนที่รักษาระดับการเผาผลาญกลูโคสให้เหมาะสม ควบคุมความดันโลหิต รักษาระดับ อิซูลินในเลือด ทำให้ภูมิต้านทานต่าง ๆ ในร่างกายทำงานอย่างเป็นปกติ ตอบสนองต่อสภาวะเครียดหรือกดดันต่าง ๆ
.
ความบกพร่องของฮอร์โมนนี้ยังนำไปสู่ภาวะที่อารมณ์ทางเพศต่ำในผู้ชาย และประจำเดือนขาดในผู้หญิง ความผิดปกติเหล่านี้โดยทั่วไป จะแสดงอาการผิดปกติที่ต่อมหมวกไตก่อน ตามด้วยไทรอยด์ ตามด้วยรังไข่ แม้จะไม่ได้เรียงลำดับแบบนี้เสมอไป แต่ก็เกิดบ่อยในวงจรนี้นะคะ
.
อาการของ ระบบการเผาผลาญอาหารพังนี้จะคล้ายกับอาการ overtrained ของนักกีฬามากตรงที่เกิดความเครียดทางร่างกาย และทำให้ระบบประสาท รวมถึงฮอร์โมนผิดปกติไปด้วย
.
เมื่อระบบต่อมไร้ท่อและระบบประสาท เริ่มผิดปกติจากความเครียดนี้แล้ว ทุกอย่างก็จะกระทบเป็นโดมิโนไปหมด โดยเริ่มจาก ระบบย่อยอาหาร ผิดปกติ เช่นไม่ย่อย ไม่มีการดูดซึมสารอาหารไปเลี้ยงร่างกาย ซึ่งก็กลับมามีผลกระทบต่อระบบการเผาผลาญอาหาร และเมื่อไม่มีการดูดซึมสารอาหาร ภูมิต้านทานก็ต่ำลง เกิดโรคต่างๆนอกเหนือไปจากการ hit plateau หรือลดน้ำหนักไม่ลงแล้ว

.

แล้วจะแก้ไขและหลุดอกมาจากวงจรนี้ได้อย่างไร
.
1. สร้างความสมดุลย์ในระบบประสาทแบบ ซิมพาเธติกและพาราซิมพาเธติก ด้วยการกินอาหารที่มีโปรตีน และ ไฟเบอร์ ในปริมาณมากเพื่อระงับอาการหิวโหย (คนที่เคยลดความอ้วนอย่างบ้าระห่ำ จะคุ้นเคยดีกับความหิวแบบนี้) โปรตีนนี่จะอิ่มนานกว่าคาร์โบไฮเดรตเพราะย่อยยากกว่า อิ่มนานกว่า ถ้าเทียบกันระหว่าง ไก่ย่างกับผัก เต็ม 1 จาน จะอิ่มนานกว่าข้าวผัดแหนม 1 จานพูน เป็นต้น เราเลือกอิ่มนาน อาหารดีนะคะ
.
2. หยุดคาร์ดิโออย่างบ้าคลั่ง และหันมายกน้ำหนักแทน พัก 3-5 นาทีระหว่างเซ็ต วิธีนี้เป็นการฝึกให้ร่างกายออกแรง (exert) แล้วก็พัก จะเป็นการออกกำลังยกเวทอย่างหนัก 1 นาที แล้วก็ตามด้วย พัก หรือสลับยกเวทเบาๆ จน heart rate กลับลงมาอยู่โซนพัก โซน1 และเริ่มอีกเซ็ตนึง จนกว่าจะครบ 20 นาที
.
ออกกำลังกายแบบเบาๆ โยคะ เดิน ว่ายน้ำเบาๆ จะช่วยเทรน จัดระบบประสาท พาราซิมพาเธติก เพื่อให้กลับมาดีอีกครั้ง การฝึกสมาธิในการออกกำลังกายแบบนี้ เพื่อเป็นเป็นการช่วยให้ช่วยให้ ระบบซิมพาเธนิกค่อยๆกลับมาพักได้ (จากที่ ติดเครื่องหึ่มๆอยู่ตลอดเวลา)
.
3. การที่ร่างกายขาดสารอาหารที่มีประโยชน์มาเป็นเวลานานเนื่องจากระบบดูดซึมสารอาหารพังไป เราจึงจำเป็นที่ต้องกินอาหารที่ดีที่มีวิตามินสูงโดยเฉพาะ ประเภท zinc, magnesium, วิตามินดี และวิตามิน บี อาจจะต้องมีการกินวิตามินเสริม ด้วยในบางราย (นี่เป็นคำแนะนำกว้างๆ สำหรับคนที่ไม่มีโรคแทรกนะคะ ว่าเราขาดสารอะไรไปบ้างระหว่างที่อดอาหารนั้น เราต้องฟื้นฟูสุขภาพเบื้องต้น กลับมาด้วยการกินอะไร)
.
4. เนื่องจากความแข็งแรงของเยื่อเซลถูกทำลายในช่วงที่อดอยากปากแห้ง ดังนั้นการกินวิตามินเสริมพวกน้ำมัน เช่น Krill oil จะช่วยซ่อมแซมส่วนไขมันดีที่ขาดหายไป (ไม่ชอบแนะนำยาบำรุงหรือวิตามินเสริมเลย เพราะ ร่างกายทุกคนไม่เหมือนกันนะคะ ก่อนจะกินวิตามินเสริม ควรจะมีการพบแพทย์และปรึกษาก่อน ให้แน่ใจว่าร่างกายเราดี ไม่มีโรคแทรกซ้อน และสามารถกินวิตามินเสริมได้โดยไม่กระทบอวัยวะ และระบบใดๆข้างในนะคะ)
.
5. เมื่อระบบการเผาผลาญเริ่มทำงานได้แล้ว และเราได้ปูพื้นฐานการกินอาหารที่มีวิตามินอุดมสมบูรณ์ ที่ร่างกายขาดไปแล้ว ตอนนี้เราก็สามารถเริ่มที่จะรักษาภาวะเครียดได้ ค่ะ เอาพื้นฐานร่างกายให้ปลอดภัยก่อน ตามลำดับนะคะ
.
จริงๆแล้วคนทั่วไปจะไม่ค่อยมาถึงจุดที่เรียกว่า ‘พัง’ หรือ ‘overtrained’ ได้ง่ายๆหรอกค่ะ ส่วนใหญ่จะแตะๆอยู่ที่ระยะแรกๆ ที่ยังไม่เริ่มกระบวนการโดมิโนเท่าไหร่ คือ เริ่มลดไม่ลงแล้ว ก็จะท้อกันไป พักไปก่อน และก็หาวิธีใหม่
.
ระยะเวลาในการรักษามีตั้งแต่ 3-15 เดือน ที่จะหาจุดสมดุลย์กลับคืนมาอีกครั้ง แล้วจึงสามารถเริ่มกระบวนการลดน้ำหนักได้ใหม่ **อย่างถูกวิธีปลอดภัย**
.
เราใช้เวลาทำลายระบบของเรามานาน การรักษาจะให้ดีข้ามคืนไม่ได้หรอกค่ะ ต้องค่อยๆเป็น ค่อยๆไป และไม่โยโย่ค่ะ

Ref: Metabolic Damage: How To Fix Your Broken Metabolism,Jade Teta ND, CSCS

มาทำ Cardio circuit กันดีกว่า

อนุญาตให้ทำเฉพาะเวลาที่ยิมว่างนะคะ เดี๋ยวจะโดนสมาชิกคนอื่นบ่นได้
.
บางทีเรามีเวลาจำกัด เบื่อการฝึกแบบเดิมๆ
อยากลองทำอะไรแปลกใหม่ ที่สำคัญคือ ต้อง มีอุปกรณ์หลักคือ จักรยาน(แบบ upright) เครื่องวิ่ง treadmill และ เครื่อง cross trainer (elliptical) นะคะ
.
บอกก่อนว่าการออกกำลังกาย แบบ cardio circuit คืออะไร
.
คือการออกกำลังกายแบบวงจร ถ้าแบบแรกเริ่มเลย ก็จะเป็นการผสม คาร์ดิโอ กับ เวท (strength training) แต่เดี๋ยวนั้ก็มีการผสมผสานแบบแตกต่างกันออกไปหลายรูปแบบแล้วค่ะ อย่างตัวอย่างที่เอามาฝากวันนี้ ก็จะเป็นแบบ คาร์ดิโอ ล้วนๆ เอาไว้กันเบื่อค่ะ
.
การออกกำลังกายแบบนี้ heart rate เราจะอยู่ระหว่าง 60-80% ของ maximum heart rate นะคะ
.
60% คือ โซนที่ burn fat 80% คือ โซน fitness นะคะ
.
การที่จะทำ circuit ที่ดี น่าจะ ผสมระหว่าง การออกกำลังกายที่ เบา กลาง และหนัก จะได้ทำได้หลายๆรอบ และทำได้เป็นระยะเวลาที่นานหน่อย (อย่าสับสนกับ HIIT นะคะ) เราจะทำให้ถึง 45นาทีได้ค่ะ และไม่ต้องพักระหว่างเซ็ต
.
พร้อมยังคะ เริ่มนะ
.
Warm up
.
วอร์ม ก่อนนะคะ 2-5 นาที บนจักรยานก็ได้ค่ะ หัวใจขึ้นเร็วดีกว่า elliptical แต่ไม่หนักเท่าลู่วิ่งความฟิตแต่ละคนไม่เท่ากัน ปรับใช้กันนะคะ
.
Main workout
.
จักรยาน
Level 1 – ปั่นที่ความเร็ว 115 RPMs 3 นาที
Level 3 – ปั่นที่ความเร็ว 105 RPMs 3 นาที
Level 5 – ปั่นที่ความเร็ว 95 RPMs 3 นาที
Level 7 – ปั่นที่ความเร็ว85 RPMs 2 นาที
Level 9 – ปั่นที่ความเร็ว 75 RPMs 2 นาที
Level 3 – ปั่นที่ความเร็ว 115 RPMs 2 นาที
.
แล้วเปลี่ยนเครื่องมา
Elliptical
Level 5 forward for 5 นาที
Level 5 backward for 5 นาที
Level 5 forward for 5 นาที
.
แล้วมา
Treadmill
Incline 5 – เดิน at 3.5 MPH for 5 นาที
Incline 9 – เดิน at 3 MPH for 5 นาที
Incline 12-15 – เดิน at 3 MPH for 5 นาที

(ถ้าฟิตอยู่พอสมควรก็วิ่งแทนได้นะคะ ลองดู)

.
จะทำอีกเซ็ตก็ไปเริ่มใหม่ที่จักรยาน

Be fit and have fun นะคะ

ไขมันบนตัวแต่ละที่บอกอะไร

ตอนแรกจะเขียนภาคต่อไป เรื่องหุ่นแบบไหนต้องกินอาหารสัดส่วนเท่าไหร่ แต่โดนกดดันให้เขียนเรื่องนี้ก่อน สืบเนื่องมาจากโพสต์เรื่องสัดส่วนของเอวต่อสะโพก
.
ก็ขออนุญาตแทรกกลางมาเขียนเรื่องไขมันก่อนนะคะ เดี๋ยวหลังจากโพสต์นี้จะเขียนเรื่องอาหารแน่นอน สัญญา
.
เรื่องไขมันเนี่ยมันล้ำลึกนัก และไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดีไปซะหมดอย่างที่กลัวนะคะ มาทำความรู้จักกันก่อนค่ะ
.

ประเภทของไขมัน
.
ไขมันสีน้ำตาล (Brown fat)
.
ไขมันสีน้ำตาล ก็คือเซลล์ไขมันที่มีไมโตคอนเดรียจำนวนมากกว่าไขมันแย่ๆแบบสีขาว ซึ่งไมโตคอนเดรียนี้จะมีหน้าที่สร้างพลังงาน ยิ่งมีมากก็ยิ่งใช้พลังงานมาก พอโดนกระตุ้นเข้าก็จะทำการเผาผลาญไขมัน เป็นไขมันที่ดีค่ะ
.
ไขมันสีน้ำตาลขนาดแค่ 50 กรัม นี่สามารถที่จะส่งพลังงานเผาผลาญได้ถึง 300-500 kcal ต่อวันเลยทีเดียว แปลว่า อาทิตย์นึงนี่เราสามารถลดน้ำหนักลงได้ ครึ่งกิโลกรัมนะคะแบบนี้
.
ไขมันสีน้ำตาลมีหน้าที่สร้างความอบอุ่นให้กับร่างกาย เด็กเล็กๆเนี่ย จะมีไขมันสีน้ำตาลมากกว่าผู้ใหญ่ แต่ยิ่งอายุมาก ไขมันสีน้ำตาลก็ยิ่งน้อยลง ไขมันสีขาว (ไขมันเลว) ก็จะเพิ่มมากขึ้นแทนค่ะ
.
มีการค้นพบว่า ความเย็นต่ำกว่า 16 องศาเซลเซียสสามารถกระตุ้นไขมันสีน้ำตาลให้ทำงานได้ (Journal of Clinical Investigation, 1993) จึงมีการเสนอว่าน่าจะใช้ความเย็นในการกระตุ้นการทำงานของไขมันสีน้ำตาล เพื่อช่วยในการลดความอ้วนได้ แต่มากพอที่จะมาใช้เป็นปัจจัยหลักในการลดไขมันหรือไม่นั้น ยังไม่มีผลสรุปที่แน่นอนนะคะ
.
แต่หนึ่งในหลายวิธีที่ช่วยให้ไขมันสีขาวกลายเป็นไขมันสีน้ำตาลก็คือ การออกกำลังกาย ของอิงวารสาร Disease Models and Mechanisms ที่ได้จัดพิมพ์การทดลองโดยให้ชายรูปร่างเกินมาตรฐานหรืออ้วน เข้าโปรแกรมขี่จักรยาน (exercise bike) 12 อาทิตย์ เป็นเวลา 12อาทิตย์ พบว่า การออกกำลังกายไปกระตุ้น เอ็นไซม์ ชื่อ irisin ซึ่งช่วยให้ ไขมันสีขาวเปลี่ยนตัวเป็นสีน้ำตาลได้นะคะ
.

ไขมันสีขาว (White Fat)
.
คือแหล่งสะสมพลังงานส่วนใหญ่ของร่างกาย และมีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนต่างๆด้วย เช่น
.
เซลส์ไขมันตอนเล็กๆอยู่ จะมีหน้าที่ผลิต ฮอร์โมนดีที่ชื่อว่า ฮอร์โมน adiponectin ซึ่งช่วยให้ตับและกล้ามเนื้อมีความรู้สึกไวต่อ ฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งทำให้เราไม่เป็นเบาหวานและโรคทางหัวใจได้ง่ายๆ
.
แต่พอเราเริ่มอ้วนขึ้น ฮอร์โมน adiponectin ก็จะถูกผลิตน้อยลง ก็จะเกิดโรคอ้วน โรคอะไรต่างๆตามมา ไขมันชนิดนี้จึงนับเป็นไขมันที่ไม่ดีค่ะ
.
ไขมันไม่ดีนี้ มีอยู่ที่ไหนบ้าง

.
ไขมันใต้ผิวหนัง (Subcutaneous Fat)
.
ไขมันใต้ผิวหนังก็คือไขมันที่เราวัดโดยใช้ตัวคีบ (skin fold calliper) เวลาเราจะวัด body fat นั่นแหละค่ะ พวกนี้จะเป็น ไขมันสีขาว
.

ไขมันใต้ท้อง (Visceral Fat)
.
พูดถึงไปเมื่อวันก่อน ไขมันชนิดนี้เป็นไขมันที่อยู่ลึกและห่อหุ้มอวัยวะภายในอยู่ เป็นตัวการของโรคร้ายเช่น โรคหัวใจ อัมพฤกษ์ทแม้กระทั่งโรคสมองเสื่อม (dementia)
.
ไขมันใต้ท้อง (Visceral fat) เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดความไวต่อฮอร์โมนอินซูลินลดลงมาก และเป็นสาเหตุของการเกิดโรคเบาหวาน
.
ส่วนสาเหตุที่ไขมันใต้ท้อง อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่เกิดโรคสมองเสื่อม ก็มีงานวิจัยที่ยังคลุมเคลืออยู่บ้าง
.
แต่เท่าที่สามารถวินิจฉัยได้ สำหรับการเกี่ยวโยงของไขมันใต้ท้องกับสมองก็พบว่า ฮอร์โมนเล็ปติน (Leptin) หรือฮอร์โมนความอิ่ม ซึ่งเป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ผลิตขึ้นจากเซลล์ไขมัน ทำหน้าที่ในการส่งสัญญาณจากเซลล์ไขมันไขมันไปยังเซลล์สมองในส่วนไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) เพื่อให้หยุดความอยากอาหาร และช่วยกระตุ้นการเผาผลาญเพิ่มมากขึ้น ถ้าหากมีไขมันสูง ปริมาณของของเลปตินก็จะถูกสร้างมากขึ้น เพื่อช่วยในการเผาผลาญ แต่ถ้าหากมีไขมันน้อย เลปตินก็จะถูกสร้างน้อยลง การกระตุ้นฮอร์โมนชนิดนี้มากเกินไป อาจไปมีผลในทางลบกับสมองในด้านความจำค่ะ
.

ไขมันหน้าท้อง (Belly Fat)
.
เป็นไขมันที่แย่สมคำล่ำลือ เพราะโดยรวมยังไม่มีทางใดแน่นอนทางการแพทย์ที่จะแยก ว่าส่วนไหนคือไขมันใต้ท้อง ส่วนไหนคือไขมันใต้ท้อง (ที่ห่อหุ้มอวัยวะภายใน) อย่างแน่ชัด ยกเว้นแต่ว่า เราจะทำ CT scan แต่นั่นก็เป็นวิธีที่แพงเกินเหตุ
.
ดังนั้นถ้าเรามีหน้าท้องที่ใหญ่ เราก็ควรจะรู้ใว้ว่า แค่ไหนถึงเรียกว่าใหญ่ และมีความเสี่ยงสูงต่อโรคที่ตามมาจากความอ้วน
.
ผู้หญิงไม่ควรมีรอบเอวเกิน 35 นิ้ว ส่วนผู้ชายไม่ควรมีรอบเอวเกิน 40 นิ้ว
.

ไขมันที่ต้นขา และสะโพก (Thigh Fat, Buttocks Fat)
.
ในขณะที่ผู้ชายส่วนใหญ่จะมีไขมันที่หน้าท้อง ผู้หญิงจะมาไขมันที่ต้นขาและสะโพก มีลักษณะเป็นแบบ “pear-shaped”
.
แต่มีงานวิจัยรับรองแล้วว่า การที่มีรูปร่างลักษณะแบบ pear-shaped นั้น ไม่มีความเสี่ยงต่อโรคที่มาจากความอ้วนเมื่อเทียบกับคนอ้วนที่มีหน้าท้องใหญ่ ดังนั้นดีใจได้ค่ะ
.
เวลาลดความอ้วน เราลดไขมันแบบใด ตรงไหนก่อน
.
โดยรวมเลยคือ ถ้าเราออกกำลังกายเราก็จะสูญเสียไขมันขาว และถ้าเราออกกำลังกายควบคู่ไปกับการควบคุมแคลอรีไปด้วย เราก็จะมีแนวโน้มที่จะสูญเสียไขมันใต้ท้องมากกว่าการออกกำลังกายโดยไม่ควบคุมอาหาร
.
วิธีการที่ชัดเจนและเห็นผลในการลดไขมันใต้ท้องก็คือการเพิ่มระดับการเผาผลาญของร่างกาย ซึ่งก็คือการออกกำลังกายนั่นเอง โดยการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ จะช่วยในการเผาผลาญไขมัน ส่วนการออกกำลังกายแบบเวทเทรนนิ่ง เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ก็จะเป็นตัวที่กระตุ้นระดับการเผาผลาญพลังงานระหว่างวันค่ะ

Ref: The Brown Fat Revolution: Trigger Your Body’s Good Fat to Lose Weight and Be Healthier, James R. Lyons

จะรู้ได้ยังไงว่าวันนึงควรกินกี่แคลอรี่

วันนี้จะมาแนวเขียนกระชับ เนื้อหาเบาบาง เขียนหนักอึ้งมาหลายวันแล้ว
.
เขียนเรื่องคำนวณ BMR ดีกว่า
.
จะคำนวนแคลอรี่ต่อวันทั้งทีต้องคิดละเอียดกว่า guideline ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดสำหรับประชากรโลกทั่วไป ที่ว่าโดยเฉลี่ยผู้ชายควรได้รับพลังงานวัน 2,000 kcal ผู้หญิงน้อยกว่าหน่อยนะคะเรามาคำนวนแบบใช้ค่า BMR ดีกว่าค่ะ
.
BMR (Basal Metabolic Rate) หมายถึง อัตราการเผาผลาญพลังงานในแต่ละวัน ในกรณีที่เราไม่ได้ทำอะไรเลย หรือจำนวนแคลอรี่ขั้นต่ำที่ต้องการใช้ในชีวิตแต่ละวันให้มีชีวิตอยู่ไดิไปวันๆ
.
เช่น หากคุณมีค่า BMR = 2000 แคลอรี่ หมายถึง ในชีวิตประจำวันของคุณ จะเผาผลาญแคลอรี่ต่อวันเท่ากับ 2000 แคลอรี่ ในภาวะการดำรงชีวิตปรกติ ที่ไม่ได้ออกกำลังกาย
.
BMR แต่ละคนไม่เท่ากัน สิ่งที่เป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุดของ BMR คือ body composition
.
Body composition คือ สัดส่วน หรือ จำนวนเปอร์เซ็นต์ของ ไขมัน กระดูก น้ำ และกล้ามเนื้อในร่างกาย
.
แม้กระทั่งเวลาที่เราพัก กล้ามเนื้อก็มี metabolic rate สูงกว่า ก้อนเนื้อนะคะ
.
ดังนั้นยิ่งแก่ BMR ก็จะลดลงตามธรรมชาติ (ถ้าไม่เล่นเวท) สาเหตุใหญ่คือ เนื่องจากการสูญเสียกล้ามเนื้อตามกาลเวลาและวัย (สะเทือนใจ)
.
ดังนั้นถ้าเราออกกำลังกายเพิ่มกล้ามเนื้อ (muscle mass) เราก็จะเพิ่ม BMR ได้ด้วย (กินได้มากขึ้นไงคะ)
.
เราสามารถรู้ว่า ค่า BMR เราเท่ากับเท่าไร ด้วยการใช้สูตรของ Schofield (1985) ซึ่งจะคำนวนโดยคำนึงถึง ตัวแปรพวก เพศ อายุ ความสูง และน้ำหนัก มาร่วมคำนวนด้วย เพื่อให้ได้ ค่า BMR ของแต่ละบุคคล
.
เมื่อได้ค่า BMR มาแล้วเราก็เอาค่านี้ไปเทียบคำนวณกับกิจกรรมประจำวัน ที่เรียกว่า PAL แปลว่า Physical Activity Level หรือ PAF – Physical Activity Factor
.
เดี๋ยวสอนให้นะคะ หาค่า BMR ทำอย่างงี้ๆ แยกเป็นชาย-หญิงนะคะ
.
ผู้ชาย
.
อายุ 10-17 ปี BMR = 17.7 X น้ำหนัก(kg.)+ 657
.
อายุ 18-29 ปี BMR = 15.1 X น้ำหนัก(kg.)+ 692
.
อายุ 30 -59 ปี BMR = 11.5 X น้ำหนัก(kg.)+ 873
.
ผู้หญิง
.
อายุ 10-17 ปี BMR = 13.4X น้ำหนัก(kg.)+ 692
.
อายุ 18-29 ปี BMR = 14.8 X น้ำหนัก(kg.)+ 487
.
อายุ 30-59 ปี BMR = 8.3X น้ำหนัก(kg.)+ 846
.
เมื่อได้ค่า BMR แล้วเราก็เอามาเทียบคำนวณกับ activity levels (PAL) ที่เล่าให้ฟังข้างต้นนะคะ
.
ตามนี้ค่ะ
.
สำหรับกลุ่มคนที่ inactive ทำงานนั่งโต๊ะตลอดทั้งวัน ไม่ออกกำลังกาย หรือออกแบบน้อยมาก low intensity
.
BMR X 1.4 = จำนวนแคลอรีที่ควรกินต่อวัน
.
สำหรับคนที่ active ขึ้นมาจากกลุ่มแรกหน่อย งานประจำวันต้องเดินไปมาทั้งวัน หรือออกกำลังกายแบบปานกลาง อาทิตย์ละ 3 วัน
BMR X 1.6 = จำนวนแคลอรีที่ควรกินต่อวัน (ผู้หญิง)
BMR X 1.7 = จำนวนแคลอรีที่ควรกินต่อวัน(ผู้ชาย)
.
สำหรับคนที่ออกกำลังกายอย่างหนักวันละ 1 ชั่วโมงต่อวัน หรือคนที่มีงานที่ต้องใช้กำลัง และ active ทั้งวัน และมีการออกกำลังกายด้วย
.
BMR X 1.8 = จำนวนแคลอรีที่ควรกินต่อวัน (ผู้หญิง)
BMR X 1.9 = จำนวนแคลอรีที่ควรกินต่อวัน (ผู้ชาย)
.
สำหรับนักกีฬา หรือกลุ่มคนที่ต้องใช้แรงงานในการทำงานอย่างหนัก
.
BMR X 2.0-2.4 = จำนวนแคลอรีที่ควรกินต่อวัน
.
วิธีนี้เป็นวิธีที่ใกล้เคียงที่สุด ถ้าอยากจะลดน้ำหนักด้วยวิธีการลดอาหาร ก็ไม่ควรลดมากไปกว่านี้นะคะ เพราะ BMR นี่ก็เป็นอัตราการเผาผลาญที่นั่งๆนอนๆ ไม่ได้ออกกำลังกายอยู่แล้ว
.
ถ้าออกเพิ่มอีก ก็เป็นกำไรแล้วล่ะค่ะ ไม่ต้องลดอีกแล้ว
.
ก่อนไป… เดี๋ยวว่าจะมาเขียนว่ารูปร่างแต่ละแบบควรกินโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมันเท่าไหร่ แบบไหนนะคะ
.
ไม่งั้น เดี๋ยวได้ใจกันใหญ่ เอาค่าแคลอรี่ที่หาได้นี้ไปอ้างกินขนมกัน บอกว่าอยู่ในลิมิต
.
จะ be fit ก็ต้อง eat well และไม่เกเรนะคะ

‘Skinny fat

ภัยร้าย!!! ของคนที่หุ่น (เหมือนจะ) ดี
.
เค้าเรียกภัยร้ายตัวนี้ว่า ‘Skinny fat’ ค่ะ

กระจก กับเครื่องชั่งน้ำหนัก บางทีก็ลวงตาเรานะคะ เราอาจจะดูดี ใส่ชุดว่ายน้ำ ดูสวยทุกอย่าง BMI ก็อยู่ในระดับคนหุ่นดี แต่ เราอาจจะมีภัยทางสุขภาพพอๆกับคนอ้วนเลยก็ได้ค่ะ
.
Skinny fat หรือ “normal-weight obesity” จะเป็นการอ้วนแบบซ่อนรูปนะคะ จากการนับสถิติ ในปี 2008 มีคนจำนวน 1 ใน 4 มีปัญหาแบบนี้คือ ไขมันสูง กล้ามเนื้อต่ำ และมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวาน และโรคหัวใจพอๆกับคนอ้วนเลย
.
ปัญหาคือ เรามองไม่ออกจากรูปร่างภายนอก ต้องวัดความดัน เจาะเลือดวัดค่าน้ำตาลในเลือด และค่าคอเรสเตอรอล (cholesterol) ถึงจะพบว่ามีปัญหา ไม่เหมือนคนที่อ้วนแบบเปิดเผย รู้คาดเดากันไปเลยโจ่งแจ้ง
.
คนตัวเล็กที่มีพุง (muffin top) ก็นับได้ว่าเป็นลักษณะหนึ่งของคนที่เป็น skinny fat ที่ถึงแม้ว่าตรวจBMI ก็ดี น้ำหนักก็อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่สัดส่วนระหว่าง สะโพกกับเอว ไม่ต่างกันมากนัก (hip to waist ratio) คืออ้วนตรงกลาง ก็นับว่าเป็นพวกที่มีความเสี่ยง ที่จะมีไขมันที่เรียกว่า Visceral Fat
.
Visceral Fat คือไขมันในช่องท้องซึ่งเป็นไขมันที่อาจจะไม่ทำให้พุงเรายื่นออกมามากมายนัก เป็นไขมันที่อยู่ระหว่างกล้ามเนื้อท้อง กับ อวัยวะภายในและหากมีมากเกินไป มันก็จะไปสะสมอยู่ที่อวัยวะภายในของเราด้วยเช่นกัน
.
ไขมันประเภทนี้เป็นไขมันที่น่ากลัวมากกว่าไขมันใต้ผิวหนัง ที่คนอ้วนมีอยู่ทั่วไปตามตัวนะคะ ความน่ากลัว ของไขมันในช่องท้องนี้สามารถทำให้ อวัยวะภายในต่างๆของเรา เกิดการอักเสบในระดับเซลล์ ซึ่งเป็นสาเหตุของ โรคเรื้อรังร้ายแรงต่างๆ ได้อย่างมากมาย เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดในสมองตีบ เส้นเลือดในสมองแตก คลอเรสเตอรอลสูง
.
เป็นเหมือนโรคร้ายที่ซุ่มอยู่ รอจังหวะจู่โจมแบบเงียบๆค่ะ
.
คนอ้วนบางคนอาจจะไม่มีไขมันชนิดนี้ในช่องท้องเลยก็ได้ แต่ในขณะที่คนผอมบางคน อาจจะมีระดับไขมันชนิดนี้ในช่องท้องมากขนาดที่เป็นอันตรายได้โดยไม่ทันได้รู้ตัว
.
การลดไขมันในช่องท้องนี้ ค่อนข้างยาก เพราะต้องเป็นการออกด้วยการการเพิ่มระดับการเผาผลาญพลังงานในร่างกายให้สูงขึ้น
.
วิธีที่ง่าย (แต่เหนื่อย)ในการเพิ่มระดับการเผาผลาญให้สูงขึ้น ก็คือการเพิ่มกล้ามเนื้อ
.
ที่น่าสนใจคือ มีการทำการวิจัยตีพิมพ์ในนิตยสารของ American Journal of Medicine, เมื่อปี 2014 เกี่ยวกับ รายงานเรื่องการวัดค่า BMI ในกลุ่มผู้ใหญ่ จัดทำโดย UCLA ย้ำว่ากลุ่มคนที่อายุมาก (older adults) ไม่ควรที่จะให้ความสนใจในค่า BMI มากเกินไปนัก
.
ทั้งนี้เนื่องจากว่า เรายิ่งมีอายุมาก เราก็จะสูญเสียมวลกล้ามเนื้อตามธรรมชาติ คนที่มีอายุมากจึงมีไขมันสูงถึงแม้ว่าจะมีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ที่ปกติก็ตาม
.
การวัดดัชนีมวลร่างกาย Body Mass Index (BMI) ซึ่งคำนวนอัตราส่วนระหว่างน้ำหนักต่อส่วนสูง ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าเรามี Visceral Fat แค่ไหน วิธีที่บอกได้ก็คือ วัดรอบเอวและสะโพกเพื่อหาค่าความแตกต่าง (ratio) ส่วนใหญ่ผู้หญิงที่มีรอบเอวเกิน 35นิ้ว ผู้ชายเกิน 37นิ้วจะมีความเสี่ยงเรื่องนี้ค่ะ
.
เดี๋ยวจะหาตารางไว้ให้นะคะ วัดซะๆ
.

นิสัยที่ทำให้เกิด skinny fat มีใหญ่ๆ อยู่3 ข้อนะคะ อย่าทำเชียว
.
1. จำกัด calories อย่างหนักอย่างไม่ลืมหูลืมตา ท่องแต่คำว่า กินน้อยออกหนักก็ลดเอง
.
ส่วนหนึ่ง การสนใจ calories เป็นสิ่งที่ดีนะคะ เน้นคำว่า ‘สนใจ’ นะคะ แต่มีคนบางกลุ่มที่ ทำเกินไปจนเกิดอันตรายได้นะคะ ไม่ได้พูดเล่น เพราะร่างกายเราฉลาดกว่านั้นค่ะ จะเล่าให้ฟัง..
.
แรกๆเลยเนี่ย น้ำหนักก็จะลดนะคะ ต่อมาร่างกายเราจะเริ่มชินกับการอยู่ได้ในจำนวนcalories เท่านี้ เกิดการปรับตัวได้กับการกินแบบนี้ น้ำหนักเราก็จะลดน้อยลงหรือหยุดนิ่ง อย่างที่เรียกว่า hit plateau .
.
พอน้ำหนักลดช้าลง metabolic rate ก็จะช้าลงเพราะสมองสั่ง ถ้าบ้าคลั่งเบิร์นอยู่เท่าเดิม เราคงตายไปแล้ว
.
ถึงจุดนี้ ถ้าเราท้อ หรือหยุดการกระทำนี้ ก็ดีไป แต่ถ้ามุ่งมั่นทำต่อ เราก็จะลดการกินลงไปอีก ร่างกายเราก็จะปรับตัวลงไปอีก เราก็จะเริ่มสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ นี่คือที่มาของคนที่เป็นโรค anorexia
.
เมื่อเราถึงจุดที่ร่างกายเริ่มนำกล้ามเนื้อมาใช้เป็นพลังงานด้วยแล้ว (เนื่องจากกล้ามเนื้อเป็นส่วนที่สิ้นเปลืองพลังงาน ดังนั้นถ้าร่างกายกำจัดมันก็จะชดเชยกับการที่ร่างกายกินน้อยๆ ได้) และเมื่อกล้ามเนื้อลดลง ระบบการเผาผลาญลดต่ำลงไปด้วยค่ะ
.
นี่คือที่เค้าเรียกว่า yo-yo diet เพราะอะไร? เพราะว่าเราจะอดไปได้นานแค่ไหนกัน คนปกติ เราอดอาหารไปพักนึงก็หลุดค่ะ กลับมากินใหม่ กินมากกว่าเดิมด้วย เป็นวงเวียนแบบ yo-yo ไงคะ
.
มี Research ทำมาหลายครั้งมาก ที่บอกว่า การกินโปรตีนวันละ 20-25% เมื่อทำรวมกับการออกกำลังกายแบบสร้างกล้าม จะช่วยให้สูญเสียไขมันได้เร็วที่สุด และรักษากล้ามเนื้อเอาไว้ด้วย
.
จริงๆแล้ว คำว่า diet นี่ไม่ควรใช้เลยนะคะ เพราะการเปลี่ยนนิสัยการกินนั้น ควรทำให้เหมาะสมกับตัวเรา ‘เพื่อสุขภาพ’ค่ะ ไม่ใช่เพื่อความผอม ความผอมเป็นเพียงผลที่ตามมานะคะ
.
การที่เราเปลี่ยนนิสัยการกิน เราต้องเข้าใจว่า กินอะไร ตอนไหน กินเพื่ออะไร เช่นกินก่อนออกกำลังกาย ต้องกินแบบไหนวันพักกินแบบไหน ระหว่างวันทำงานที่นั่งโต๊ะ กินแบบไหน
.
ถ้าใช้คำว่า ‘on diet’ เราก็จะมีคำว่า ‘off diet’ ตามมา
.
2. ออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ อย่างเดียว
.
การออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอเป็นเรื่องที่ดีนะคะ ถ้าเรากินดีไปด้วย คู่กันนะคะ ถ้าออกแล้วยังกินน้อย ก็จะเสี่ยงต่อการที่ร่างกายจะสูญเสียมวลกล้ามเนื้อและตามมาด้วยระดับการเผาผลาญที่ต่ำลง
.
ถ้าเราคิดว่าออกกำลังกายแล้วกินได้ แต่การออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอเนี่ย มันหยุดเผาผลาญไขมัน เมื่อการออกกำลังกายหยุดนะคะ ถ้าออกไป 800 แล้วมากิน 3800 ตลอดวัน จะมีประโยชน์อะไร
.
แม้กระทั่งการออกกำลังกายแบบ HIIT ( high intensity training) ซึ่งดีมากกับการเผาผลาญไขมัน และมีการเผาผลาญต่อเนื่องหลังออกกำลังกายแล้ว ก็ยังไม่ควรทำแต่อย่างเดียวแล้วไม่ยกเวทเลยค่ะ เพราะไม่ว่าจะอะไรก็ตาม metabolic rate ของร่างกายที่มีกล้ามจะสูงกว่าร่างกายที่มีกล้ามน้อยเสมอ
.
หรือการออกกำลังกายแบบ endurance วิ่งยาวอะไรทั้งหลาย พวกนี้ เรารู้กันอยู่ว่า เราต้องกินคาร์โบไฮเดรตเยอะเพื่อให้มีแรงออกได้นาน ถ้าที่เรากินไปไม่พอ ร่างกายเราก็จะไปดึงเอาสารอาหารในกล้ามออกมาใช้อีก ถ้าเรารู้จักจัดตารางกินดี ก็ดีไป แต่ถ้าไม่ (ส่วนใหญ่จะไม่) ก็จะไปรบกวนการเติบโตของกล้ามเนื้อ
.
3. ไม่ยอมออกกำลังกายแบบ resistance training
.
เวทเทรนนิ่ง หรือ resistance training เป็นการกระตุ้นให้ร่างกายเพิ่มมวลกล้ามเนื้อซึ่งจะทำให้ระดับการเผาผลาญเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจาก กล้ามเนื้อสามารถเผาผลาญพลังงานได้ดีกว่าไขมัน 3-5 เท่า
.
ย้ำครั้งที่ 3 แล้วค่ะ
.
Basal Metabolism rate (BMR) หมายถึง อัตราความต้องการเผาผลาญของร่างกายในชีวิตประจำวัน หรือจำนวนแคลอรี่ขั้นต่ำที่ต้องการใช้ในชีวิตแต่ละวัน
.
เช่น หากคุณมีค่า BMR = 2000 แคลอรี่ หมายถึง ในชีวิตประจำวันของคุณ จะเผาผลาญแคลอรี่ต่อวันเท่ากับ 2000 แคลอรี่ ในภาวะการดำรงชีวิตปรกติ ที่ไม่ได้ออกกำลังกาย
.
ค่า BMR แต่ละคนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับ สัดส่วนกล้ามเนื้อ อายุ เพศ ขนาดร่างกาย และ ฮอร์โมน
.
กล้ามเยอะก็เผาผลาญเยอะ การที่เวทเทรนนิ่งน้อยเกินไป หรือเวทเทรนนิ่งเบาเกินไปก็จะทำให้ร่างกายไม่จำเป็นต้องสร้างกล้ามเนื้อเพิ่ม เราก็มีแต่ไขมัน แต่กล้ามน้อย แปลว่า skinny fat ไงคะ
.
นิสัย 3 อย่างนี้มักจะมาด้วยกันค่ะ แต่ได้ยินบ่อยคือ น้ำหนักเราไม่ขึ้นเลย เราน่าจะโอเค ไม่เห็นต้องสร้างกล้ามหรอก
.

แน่ใจนะคะ ว่าโอเค

Fat burning zone

วันนี้ขอเขียนสั้นๆนะคะ ช่วงนี้ workshop แน่นมากค่ะ อัดตึง

จะมาอธิบายให้กระจ่างขึ้นไปอีกว่า ทำไมทำ high intensity training แล้วลดไขมันได้ดีกว่า ออกกำลังกายแบบ fat burning zone
.
Fat burning zone ก็คือ fat burning zone อยู่นะคะ ใช้ไขมันเผาผลาญ แต่เป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิค โซน2 หัวใจอยู่ประมาณ 50- 60% ของอัตราการเต้นหัวใจสูงสุด
.
ถูกต้องเลยค่ะ ไม่เถียง เล่นเสร็จ หัวใจก็กลับมาอยู่ใน heart rate ปกติได้ง่ายมาก เร็วมากเพราะไม่ได้ขึ้นไปสูงอยู่แล้ว
.
High intensity exercise เนี่ยสั้น หนัก เหนื่อย หัวใจอยู่ที่ 85-90% ของ อัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด (บางทีขึ้นไปได้สูงกว่านั่นอีก) EPOC ก็สูงมาก เรียกว่า เป็นหนี้อ็อกซิเจนเยอะ หายใจไม่ทัน (oxygen debt)
.
‘EPOC เป็นภาวะที่ร่างกายพยายามปรับสมดุลเพื่อให้กลับสู่สภาพปกติหลังจากการออกกำลังโดยใช้ออกซิเจนจำนวนมากกว่าปกติ ก่อให้เกิดการเผาผลาญต่อเนื่อง’
.
แปลว่า ตอนที่เราใช้แรงระเบิดเอาเป็นเซ็ตๆ ในการออกกำลังกายแบบ high intensity นั้นอ็อกซิเจนเราไม่พอ ก็จะมีเหนื่อยต่อเนื่องมาหลังจากการออกกำลังกายนั้นจบไปเป็นอย่างน้อย 2 ชั่วโมง บางตำราบอกว่า มีเหนื่อยได้ถึง 48 ชั่วโมง อันนี้แล้วแต่คนนะคะ
.
ดียังไง
.
พอจบ session ของ high intensity แล้วเนี่ย heart rate ของเราจะค่อยๆลดลง จะลดลงทันทีไม่ได้เพราะขึ้นไปสูงมาก เหนื่อยมากก็ลดลงช้าหน่อย ใช้เวลานานมาก กว่าจะกลับไปอยู่ใน resting heart rate zone อีกครั้ง
.
ช่วง 2 ชั่วโมงจนถึง 24 หรือ 48 ชั่วโมงที่เราเหนื่อยลึกๆ (อันนี้จะรู้สึกเอง) นี่คือช่วงที่หัวใจจะอยู่ใน fat burning zone
.
เลือกเอาจะอยู่ในโซนนี้ ชั่วโมงเดียวแล้วจบ หรือจะยอมเหนื่อยจัด ซักครึ่งชั่วโมง แล้วอยู่ใน fat burning zone นานกว่าหลายชั่วโมง หลังจากออกกำลังกาย อะไรคุ้มกว่ากันคะ
.
ก่อนอื่น เตือนก่อนว่า ต้องมีความฟิตระยะนึงนะคะ อย่ามาเริ่มออกกำลังกายด้วยการทำ high intensity เลยนะคะ
.
วันนี้ไปทำ workshop มา ก็เลยมาเขียนให้อ่านเล่นนะคะ สั้นๆน่ารักๆค่ะ
.
ไปนอนแล้วนะ เหนื่อยย เดี๋ยววันจันทร์ จะกลับมาเขียนยาวๆใหม่นะคะ

งดกินไขมันแล้ว ทำไมสุขภาพไม่ดี

นี่แน่! วันนี้มาเรียกร้องความสนใจค่ะ พูดเรื่องข้อดีของไขมัน หุหุ
.
หลายคนอาจไม่เคยนึกถึงประโยชน์ของไขมันมาก่อนเลยในชีวิต ทั้งที่จริงแล้วหากเรากินไขมันดีในปริมาณที่เหมาะสม เราเองก็จะมีสุขภาพดีได้ ไม่ต่างอะไรกับอาหารเพื่อสุขภ­­าพอื่น ๆ เลย
.
บอกก่อนๆ ว่าไขมันที่ดีมีอยู่ 2 ตัวใหญ่ๆนะคะ คือ Mono-Unsaturatedและ Poly-Unsaturated หรือไขมันไม่อิ่มตัว พวกนี้ก็จะช่วยป้องกันร่างกาย จากการเจ็บป่วย จากโรคภัยบางอย่างได้ ทั้งยังช่วยเพิ่มพลังงาน ให้กับนักกีฬาได้อีกด้วยนะคะ
.
Mono-Unsaturated ก็จะมีอยู่ในน้ำมันจากผลมะกอก, น้ำมันจากผล Canola และน้ำมันจากถั่ว ถั่ว และ อโวคาโด (Avocados)
.
ส่วน Poly-Unsaturated ก็จะมีอยู่ใน น้ำมันข้าวโพด น้ำมันงา น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน ปลาที่อาศัยในแหล่งน้ำเย็น เช่น ปลาเฮริง (Herring) ปลาแมคเคอเรล (Mackerel) ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน และปลาทูน่า
.
ไขมันที่ไม่ดี ก็มีประเภทไขมันอิ่มตัว (Saturated) ที่มีอยู่ในไขมันสัตว์ เป็นส่วนใหญ่ และ Trans fatty acid (เค้ก คุ้กกี้) พวกนี้เป็นไขมันที่จะคอยเกาะตัวอยู่หลอดเลือด แล้วก็สะสมอยู่ตามหน้าท้อง และจุดต่างๆ
.
แต่! ไขมันพวกนี้ก็ยังจำเป็นต่อร่างกายนะคะ ในเรื่องของการเจริญเติบโตของเซลล์ต่างๆ เช่น เนื้อเยื่อสมอง ซึ่งประกอบไปด้วยไขมันถึง 60%
.
ก็หมายความว่า การทำงานของสมองจำเป็นต้องใช้ไขมันเป็นส่วนปร­­ะกอบ หากเราเลือกกินอาหารไขมันต่ำเป็นประจำ สมองก็ต้องแบ่งไขมันจากเนื้อเยื่อเข้าไปช่วย ในกระบวนการดูดซึมส­­ารอาหารเหล่านั้น เข้าร่างกาย ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้ไขมันในเนื้อเยื่อสมองลดลง จนเสี่ยงเกิดอาก­­ารผิดปกติต่างๆ ได้
.
ไขมันที่จำเป็นต่อสมองไม่ได้ถูกจำกัดให้เป็นไขมันดีอย่างพวกโอเมก้­­า 3 หรือเหล่ากรดไขมันจำเป็นเท่านั้น แต่รวมไปถึงไขมันอิ่มตัวและไขมันธรรมชาติจากพืชและสัตว์ด้วย (ยิ้มเลย) คือไขมันทุกชนิดเลยค่ะ ได้หมด เย้
.
ในทางการแพทย์ จึงไม่ได้ห้ามการกินไขมันชนิดใดอย่างเด็ดขาด แต่จะแนะนำการจำกัดไขมันทั้ง 2 ชนิดรวมกัน ในวันนึงไม่ให้กินเกิน 30% ของอาหารทั้งหมด โดยให้จำกัดไขมันชนิดอิ่มตัวให้มากที่สุด
.
ไขมันอิ่มตัว ที่ไม่ดีๆเนี่ย ส่วนนึงเป็นไขมันที่มาจากสัตว์ เราก็ต้องจำกัดปริมาณการกิน ด้วยเหตุผลที่ว่า เดี๋ยวจะไปเพิ่มปริมาณ LDL
.
LDL (Low Density Lipoprotein)มีความสัมพันธ์ชัดเจนกับการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นไขมันที่สามารถทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัวได้ ไขมัน LDL ทำหน้าที่ลำเลียงคอเลสเตอรอลทั้งหลายออกจากตับเข้าสู่กระแสเลือดในร่างกาย หากคอเลสเตอรอลเหลืออยู่ในกระแสเลือด ก็จะสะสมเป็นตุ่มเกาะอยู่ตามผนังของหลอดเลือดทำให้หลอดเลือดแข็ง เกิดภาวะหลอดเลือดตีบ
.
ส่วนไขมันไม่ดีอีกตัวนึงคือ Trans fat (พบมากใน เค้ก คุ้กกี้ เนยเทียม) จะไปลดระดับ HDL
.
HDL (High Density Lipoprotein) เป็นไขมันที่ดีมีความหนาแน่นสูง HDL ดีกับหลอดเลือดแดงเนื่องจาก ช่วยป้องกันไม่ให้ คอเลสเตอรอล, ไตรกลีเซอไรด์, และ LDL ที่สะสมในหลอดเลือดแดง
.
หากขาด HDL ในเลือด ก็จะทำให้เป็นการเพิ่มโอกาสการเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดได้ ทำให้มวลกล้ามเนื้อเสื่อมสภาพ
.
เวลาไปเจาะเลือด ตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาล คอยดูๆนะคะ 2 ตัวนี้ ว่าสัดส่วนเป็นไง ดีต้องมากกว่าเลวนะคะ
.
แต่ในทางวิทยาศาสตร์การกีฬา กรดไขมันมีความจำเป็น ช่วยในการเพิ่มกล้ามเนื้อ และกำจัดไขมันส่วนเกินในร่างกายได้อีกด้วย การที่เรากินไขมันถูกชนิด จะช่วยสร้างฮอร์โมน Testosterone และนอกจากนั้น ยังมีส่วนช่วยในเรื่องของการย่อย และดูดซึม สารอาหารที่ละลายในไขมัน อย่างเช่น วิตามิน A, D, E และ K แล้วก็พวกแคโรทีนอีกหลายตัว อย่างเช่น lycopene , lutein และ zeaxanthin ซึ่งพบได้ในผักและผลไม้
.
ส่วนในเรื่องของการควบคุมอาหาร เนื่องจากร่างกายของเราย่อยไขมันได้ช้ากว่าสารอาหารชนิดอื่น เช่น คาร์โบไฮเดรต ไขมันเป็นเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกอิ่ม หลังจากที่ได้รับอาหารเข้าในประมาณที่เพียงพอแล้ว
.
โดยหลักการแล้ว (เจาะประเด็นนิดนึง) ไขมันประกอบขึ้นด้วย ธาตุสามชนิดเช่นเดียวกับคาร์โบไฮเดรต ได้แก่ คาร์บอน, ไฮโดรเจน, และออกซิเจน
.
แต่ไขมันจะมีสัดส่วนของคาร์บอนและไฮโดรเจนมาก และมีออกซิเจนน้อย ซึ่งทำให้ไขมันมีพลังงานต่อมวลมากถึง 9 แคลอรีต่อกรัม ในขณะที่คาร์โบไฮเดรตให้พลังงานเพียง 4 แคลอรีต่อกรัม
.

แล้วทำไมกินไขมันแล้วจะไม่อ้วน
.
อ้วนสิคะ แต่อ่านดีๆนะ คือถึงแม้ว่าไขมันจะให้พลังงานถึง 9 Cal ต่อกรัม ซึ่งมากกว่าสารอาหารอย่าง คาร์โบไฮเดรต หรือโปรตีน ที่ให้พลังงานเพียง 4 Cal ต่อกรัม ถึงเท่าตัวกว่า แต่การลดไขมัน แล้วไปกินอาหารอย่างอื่น จนในที่สุดแล้ว ก็ได้รับปริมาณสารอาหาร เกินกว่าที่ร่างกายต้องการ ก็ส่งผลให้อ้วนในที่สุด
.
ตรงนี้สติสำคัญมากค่ะ
.
นอกจากนั้นแล้ว มีผลการศึกษาใหม่ๆ (เดี๋ยวจะเขียนชื่อหนังสืออ้างอิงข้างล่าง ถ้าสนใจ) พบว่า ไขมันไม่อิ่มตัวนั้น สามารถที่จะเผาผลาญเป็นพลังงาน ให้กล้ามเนื้อได้ดีกว่า ไขมันอิ่มตัวและ trans fat
.
ซึ่งจากผลการค้นคว้านี้ ได้แนะนำให้เราทานอาหาร ที่มีไขมันที่ถูกต้อง ซึ่งจะช่วยสำรอง glycogen ให้กับกล้ามเนื้อได้ และช่วยยืดระยะเวลา กว่าที่กล้ามเนื้อจะเกิดการเหนื่อยล้าได้
.
คือเราออกกำลังกายได้นานขึ้น เราก็ผอมลง ง่ายๆเลย เลี่ยงไม่ได้นะคะ ออกกำลังกายเนี่ย (ฝันสลายเลยมั๊ยคะ อ่านมาตั้งนาน)
.
แต่เน้นไปที่สัดส่วนไขมันดี กับไขมันไม่ดีนะคะ
.
มีเคล็ดลับมาบอกอีกอย่างว่า
.
ส่วนใหญ่ผู้ผลิตจะไม่ค่อยบอกข้างฉลากหรอก ว่ามี trans fat เท่าไหร่ เพราะมันดูไม่ดี เสียลุคอาหาร
.
แต่เราสามารถคำนวน Trans fat ได้โดยวิธี นำเอาค่าของ ไขมันอิ่มตัว และไขมันไม่อิ่มตัว ที่ระบุใว้ ข้างกล่อง มารวมกัน แล้วลบออกจากค่าไขมันทั้งหมด หากมีเหลือผลเท่าไหร่ ก็คือปริมาณ Trans Fat นั่นเอง
.
หนังสืออ้างอิง: Cholesterol Clarity : What The HDL Is Wrong With My Numbers?, Jimmy Moore

อยากลดพุง เร็วๆ ต้องเทรนให้ถูกโซน

เฉลยก่อนเลย ไม่ต้องเดา จะได้เอาเวลาไปอธิบายรายละเอียด
.
เทรนแบบ interval สิคะ
.
เพราะอะไร
.
ก็เพราะว่าเคยมีนักวิจัยเปรียบเทียบทดลองมานักต่อนัก จนเกินกว่าอ้างใครคนใดคนหนึ่งแล้วว่า ถ้าเราเอาคนมาคนนึง แล้วให้คนคนนั้นออกกำลังกายแบบ tempo เป็นเวลา 20นาที กับ กับอีกคนหนึ่ง ให้ออกแบบ interval 20 นาที คนที่ออกกำลังกายแบบ interval จะเผาผลาญไขมันก่อนอีกกลุ่มหนึ่งเสมอ
.
ทำไมนะหรือ
.
ก็เพราะว่า การทำ interval นอกจากจะเผาผลาญไขมันขณะเล่นแล้ว ยังเกิด afterburn effect
.
“Afterburn Effect” มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์การกีฬาว่า “Excess Post-exercise Oxygen Consumption” (EPOC) เป็นภาวะที่ร่างกายพยายามปรับสมดุลเพื่อให้กลับสู่สภาพปกติหลังจากการออกกำลังโดยใช้ออกซิเจนจำนวนมากกว่าปกติ ก่อให้เกิดการเผาผลาญต่อเนื่อง
.
อย่างเช่น ถ้าเราวิ่งอัดเต็มกำลังรอบสนาม พอหยุดเราจะหายใจหอบถี่ นั่นคือช่วงที่ร่างกายดึงเอาออกซิเจนจำนวนมากเข้าไปชดเชยกับที่ถูกใช้ไปตอนวิ่ง ถึงแม้เราจะหยุดวิ่งแล้วแต่เราจะยังรู้สึกร้อนไปทั้งตัว ภาวะนี้อาจเกิดในระยะเวลาสั้นๆ ตั้งแต่ 15 นาที ไปได้จนถึง 48 ชั่วโมงเลยค่ะ
.
นึ่คือสาเหตุที่ร่างกายจะต้องทำการสะสมอ็อกซิเจนใหม่ต่อไปหลังจากการออกกำลังกายสิ้นสุดไปแล้ว
.
แต่เราจะต้องออกให้เหนื่อยมากๆนะคะ หัวใจต้องอยู่ในระดับ 80-90% ของอัตราการเต้นสูงสุดของหัวใจ (Anaerobic level)
.
การออกกำลังในระดับ Anarobic นั้นเหนื่อยมากไม่สามารถออกได้นาน ภายหลังจึงมีการประยุกต์เทคนิคให้เป็นการออกกำลังเต็มที่ในระยะเวลาสั้นๆ แล้วพัก ทำอย่างนี้หลายๆ ชุด เรียก High Intensity Interval Training หรือ HIIT หรือ interval training อย่างเช่น วิ่งเร็ว 400เมตร พัก 1 นาที ทำอย่างนี้ 10 รอบ หรือพวกยกน้ำหนักก็จะเป็นการยกแบบ supersets, ปิรามิท, trisets, giant sets ที่จะยกติดๆกันหลายท่า โดยไม่พักรวมเป็นหนึ่งเซ็ต และพักระหว่างเซ็ต 60-90 วินาทีแล้วเริ่มใหม่
.
คือจะใช้แรงระเบิดเป็นช่วงๆ เป็นพลังงานระเบิดที่ไม่ใช้ อ็อกซิเจนเป็นตัวเผาผลาญ
.
ดังนั้นเมื่อเทียบกับเผาผลาญไขมันระหว่างการออกกำลังกายในการออกแบบแอโรบิคทั่วไป กับการออกกำลังกายแบบ interval การออกกำลังกายแบบต่อเนื่องในแบบแอโรบิคทั่วไป ก็จำกัดอยู่ภายในชั่วโมงที่ออก หยุดออกก็หยุดเผา
.
แต่สิ่งที่การออกกำลังกายแบบ interval มีเหนือกว่าแอโรบิค ก็คือการเผาผลาญที่ต่อเนื่องหลังจากชั่วโมงออกกำลังกายได้สิ้นสุดลงไปแล้วด้วย ซึ่งเป็นเวลาหลายชั่วโมงและยาวนานกว่า
.
เพราะฉะนั้นถ้าเราจะต้องการลดไขมันจริงๆ การเผาผลาญต่อเนื่องหลังออกกำลังต่างหากที่จะช่วยท่านได้ นะคะ
.
ไม่ต้องแขม่วอีกต่อไป..
—————-